
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
(30 เม.ย. 2021)
Tesla เพิ่งประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมา ปรากฏว่ากำไรสุทธิอยู่ที่ “438 ล้านเหรียญ” ส่วนรายได้อยู่ที่ “10,390 ล้านเหรียญ”
ตัวเลขกำไรดังกล่าว มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อยู่พอสมควร แต่หุ้นกลับร่วงลง 3% หลังจากทราบข่าว
มาดูกันนะครับว่าตลาดเห็นอะไร …
จากผลประกอบการของ Tesla ไตรมาสล่าสุดที่ประกาศออกมา
กำไรต่อหุ้น “93 เซนต์” เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ “79 เซนต์”
รายได้ “10,390 ล้านเหรียญ” เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ “10,290 ล้านเหรียญ” เพิ่มขึ้น 74% จากปีที่แล้ว
ดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไร ก็ทำได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดด้วยซ้ำไป ราคาหุ้นน่าจะวิ่งกระฉูดไม่ใช่หรือ? ทำไมถึงลงล่ะ?
สาเหตุอยู่ตรงนี้ครับ …
กำไรสุทธิไตรมาสนี้ ที่ออกมา 438 ล้านเหรียญนั้น เป็นกำไรแบบ GAAP คือรวม “รายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว” ด้วย
รายการที่ว่านั้น ได้แก่ ยอดขายที่เป็นเครดิต (sales of regulatory credits) จำนวน “518 ล้านเหรียญ” และ bitcoin ที่ขายทิ้งไปเป็นเงิน “101 ล้านเหรียญ”
หากตัดสองรายการนี้ออก กำไรของบริษัทในไตรมาสล่าสุดของ Tesla จะติดลบ “181 ล้านเหรียญ” (438 ล้าน – 518 ล้าน – 101 ล้าน)
กอร์ดอน จอห์นสัน ผู้ก่อตั้ง GLJ Research ให้สัมภาษณ์ เบ็คกี้ ควิก พิธีกรสาวในรายการ Squawk Box ช่อง CNBC ถึง Tesla บอกว่า
“They are losing money the more cars they deliver”
แปลเป็นไทยว่า “ยิ่งนำส่งรถได้มากเท่าไร ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น”
ดังนั้น คนที่บอกว่า Tesla กำไรตั้งเยอะ มาบอกว่าขาดทุนได้ยังไง? ต้องดูให้ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง จึงจะเห็นภาพที่แม่นยำขึ้น
ทีนี้ มาดูส่วนธุรกิจอื่นๆ ที่ยังมีปัญหากันบ้าง …
ธุรกิจของ Tesla แบ่งเป็นสามส่วน คือ ยานยนต์ (Automotives) พลังงาน (Energy) และบริการและอื่นๆ (Services and Other)
ในส่วนหลังสุด คือธุรกิจ “บริการและอื่นๆ” หรือที่หลายคนในแวดวงการเงินรวมทั้งพวก geek ในเว็บบอร์ด เรียกว่า “เอสโอ” (SO) และบ้างก็เรียกว่าธุรกิจ “บริการ” และบ้างก็เรียกว่าธุรกิจ “รถใช้แล้ว” (used cars) และบ้างก็เรียกว่าธุรกิจ “รถและอื่นๆ” (cars and others) นั้น
เป็นการขาย “รถใช้แล้ว” หรือ “รถมือสอง” ของ Tesla ร่วมด้วยการให้บริการซ่อมบำรุง (maintenance) และบริการอื่นๆ แม้แต่การขายรถที่ไม่ใช่รถของ Tesla ก็รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย
นี่คือส่วนธุรกิจที่เรียกได้ว่า เป็นตัว “เผาเงิน” ของ Tesla มาหลายปี และยังเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

กล่าวคือ gross margin ของธุรกิจนี้ ติดลบ 20% ในไตรมาสล่าสุด เทียบกับไตรมาสที่แล้วที่ติดลบอยู่ 8% แต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนัก หากมองย้อนหลังไปถึงปี 2018 ซึ่งเคยติดลบถึง 45%
นั่นแปลว่า การขายรถยนต์ใช้แล้วของ Tesla และธุรกิจบริการอื่นๆ นั้น “ยิ่งขาย ยิ่งขาดทุน”
เว็บไซต์ stockdividendscreener. com สรุปว่า “Tesla เสียเงินไปกับทุกๆจุดทั้ง ‘ชิ้นส่วน‘ และ ‘ยานยนต์ใช้แล้ว’ ซึ่งขายอยู่ในส่วนธุรกิจบริการ”
ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนธุรกิจที่สอง คือ “ธุรกิจพลังงาน” Tesla ก็มี gross margin เป็นลบถึง 13 ไตรมาสติดกัน
ยังไม่นับกระแสเงินสดอิสระของบริษัท ที่ลดลงถึง 1,650 พันล้านเหรียญ
กอร์ดอน จอห์นสัน นักวิเคราะห์ชื่อดังของสหรัฐฯ คนหนึ่งบอกว่า ธุรกิจที่ “ราคาต่อยอดขาย” สูงขนาดนี้ “ราคาต่อกำไรสุทธิ” สูงขนาดนี้ คุณควรจะเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่สิ่งที่ออกมากลับเป็นตรงกันข้าม
“การจะบอกว่าภาพรวมในระยะยาวมันดี แต่ตัวเลขมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ เราไม่เข้าใจเลย … พอถึงจุดหนึ่ง คุณต้องหันมามองความเป็นจริงได้แล้ว”
โดยส่วนตัว เวลาเขียนถึง Tesla หรือกองทุนในเครือ ARK ที่นักลงทุนรุ่นใหม่ รวมทั้งนักลงทุนไทยกำลังชื่นชอบกัน ผมมักจะเตือนให้ “ระวัง”
ผมไม่อยากใช้คำว่า “แพงเกินไป” แต่ขอใช้คำที่เป็นกลางที่สุดว่า
ราคา ณ ปัจจุบันนี้ เป็นระดับที่ “หาเหตุผลมารองรับไม่ทัน”
แม้รู้ดีว่าเตือนไปแล้วจะ “โดนด่า” ก็ตาม
ผมขอเลือกเขียนในสิ่งที่ผมเชื่อ จากตำราที่ร่ำเรียนมา จากกูรูที่เคยฟัง จากหนังสือที่เคยอ่าน เป็นการเขียนเพื่อเตือนอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีเจตนาแอบแฝงอื่นใด
เพราะแม้จะมีมุมมองที่แตกต่าง หรือเหตุผลมาคัดง้างอย่างไร
แต่ผมมั่นใจว่า คำว่า “ระวัง” ที่บอกไป คงไม่ทำร้ายใครอย่างแน่นอน