บทสัมภาษณ์ในตำนานของ ปีเตอร์ ลินช์ ถึง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” และอื่นๆ

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ปีเตอร์ ลินช์ คือหนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่ดีที่สุดของโลกตลอดกาล กองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน ที่เขาบริหาร ทำผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นได้ 29% ตลอดระยะเวลา 13 ปี ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่มีใครเคยทำได้

เขาเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก จากผลงานหนังสือที่เขียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะ One Up on Wall Street ซึ่งเป็นเบสต์เซลเลอร์ระดับตำนาน

ลินช์บอกว่า นักลงทุนทั่วไปสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ ด้วยการลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่ตนเองรู้จักและคุ้นเคย เป็นหุ้นที่อยู่ใกล้ๆ ตัว และถือมันไว้ในระยะยาว

บทสัมภาษณ์นี้ ปีเตอร์ ลินช์ ให้สัมภาษณ์ชาร์ลี โรส พิธีกรชื่อดังทางช่อง Bloomberg เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 1997 เป็นการพูดคุยสั้นๆ ไม่ถึง 15 นาที แต่เนื้อหาอัดแน่น

ที่สำคัญ การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ขณะประเทศไทยและเอเชียกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” และบังเอิญว่าก่อนหน้าวันที่ลินช์มาให้สัมภาษณ์นั้น ตลาดสหรัฐฯ เองก็ร่วงลงเกือบ 7% จึงมีเนื้อหาหลายๆ อย่างที่น่าสนใจอย่างมาก

ผมสรุปเป็นประเด็นๆ ไว้ด้านล่าง ลองอ่านดูนะครับ แล้วจะรู้ว่าการลงทุนหุ้นนั้น ขอเพียงเลือกใช้วิธีที่ถูกต้อง คุณก็สามารถประสบความสำเร็จเหนือพวกผู้จัดการกองทุนมืออาชีพได้ ทั้งยังทำให้รู้ว่า ผู้ชายคนนี้พูดอะไรไว้ไม่เคยผิดจริงๆ

คนที่กำลังจะเริ่มต้นลงทุน หรือคนที่ลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะ หุ้นต่างประเทศ ควรอ่านอย่างยิ่งครับ !!


ปีเตอร์ ลินช์ ให้สัมภาษณ์หลังเกษียณตัวเองมาได้หลายปี ขณะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย

สรุปเนื้อหาจากการให้สัมภาษณ์ของปีเตอร์ ลินช์ ในรายการ ชาร์ลี โรส (พิธีกรชื่อเดียวกับรายการ) ทางช่อง Bloomberg ออกอากาศวันที่ 28 ต.ค. 1997 

เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

(รายการนี้ ออกอากาศในช่วงเช้าวันอังคารที่ 28 ต.ค. 1997 โดยก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันจันทร์ที่ 27 ต.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างหนักถึง 6.8% จากวันศุกร์ที่ 24 ต.ค. เป็นการปรับลดลงมโหฬารภายในวันทำการเดียว) 

1. ตลาดลงหนักคือเรื่องธรรมดา

ลินช์บอกโรสว่า ตลาดขึ้นมาเยอะแล้ว จาก 4,000 จุดเมื่อสองปีครึ่งที่แล้ว (ต้นปี 1995) กลายเป็น 8,300 จุดเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา (สิงหาคม 1997) จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องลง ลินช์บอกว่าตัวเขาไม่ได้ห่วงอะไร ใช้คำว่า “มันดีงาม” (It’s Healthy)

ลินช์บอกว่า P/E ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 30 ปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ระหว่าง 10 ถึง 20 เท่า เวลานี้ (ต.ค. 1997) อยู่แถวๆ 20 เท่า ซึ่งเป็นขอบบนแล้ว จึงถึงเวลาที่จะลง ครั้งก่อนหน้าที่ P/E อยู่ที่ 20 แบบเดียวกันนี้คือยุค ’60 ซึ่งดอกเบี้ยเป็นศูนย์

2. ธุรกิจดี ราคาจะดีเอง

ลินช์บอกว่า ธุรกิจที่ดี จะเห็นความสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างกำไรกับราคาหุ้น อย่างแม็คโดนัลด์ 30 ปีที่ผ่านมา กำไรดีขึ้นมาตลอด ราคาหุ้นก็ดีขึ้นมาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในระยะยาว ราคาจะเป็นไปตามกำไรเสมอ

3. สัญญาณเตือนภัยของสหรัฐฯ

โรสถามว่า เมื่อวานนี้กับวันนี้ พื้นฐานของบริษัทต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่ทำไมราคาหุ้นทั้งตลาดกลับลดลงอย่างมาก วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลหรือไม่ ลินช์บอกว่า “มีผล แต่ไม่มาก” (in a small way) แต่ก็เป็น “wake up call” หรือสัญญาณเตือนของสหรัฐฯ

(หมายเหตุจากผู้แปล – หลังจากนั้น 4 ปี สหรัฐฯ เกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่ด็อทคอมแตกในปี 2001 และตามด้วยวิกฤตหนี้อสังหาฯ – วิกฤตการเงินในปี 2007-2009 เป็นวิกฤตสองครั้งใหญ่ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี)

4. เศรษฐกิจไทยเจ๊ง อเมริกากระทบหรือไม่ ?

ลินช์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่ได้มีผลต่อสหรัฐฯ เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในเม็กซิโก ถ้าเม็กซิโกเจอวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในเมืองไทยตอนนี้ ก็จะกระทบสหรัฐฯ มากกว่าเยอะ เพราะเม็กซิโกเป็นเพื่อนบ้าน เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ

5. องค์ประกอบของบริษัทที่ลินช์ชอบ

ลินช์บอกว่า บริษัทที่เขาชอบ คือบริษัทที่พื้นฐานดี กำไรดี คู่แข่งกำลังแย่ ธุรกิจที่เป็นแบบนี้ ถ้าราคาหุ้นลงมาเยอะๆ เช่น จาก 40 ลงมาเหลือ 30 เหรียญ เพราะตลาดปรับลดลงมาทั้งตลาด มันคือโอกาสซื้อ

6. ต้อง “ตัดสินใจไว้ก่อน”

แต่นั่นไม่เหมือนกับหุ้นที่ราคา overpriced อยู่ก่อน แล้วพอตลาดร่วง ราคาหุ้นก็ลงมาอยู่ในระดับ fairly priced เช่น จาก 50 ลงมาเหลือ 30 เหรียญ อย่างนี้ไม่ควรซื้อ เพราะมันไม่ได้ถูก แค่ไม่แพงเหมือนแต่ก่อน นักลงทุนต้องแยกตรงนี้ให้ออก

ลินช์บอกว่า คุณควรจะ “ตัดสินใจไว้ก่อน” ว่าต้องการหุ้นตัวไหน รอจนมันปรับตัวลงมา จึงค่อยเข้าไปซื้อ

7. หุ้นตก คือ “โอกาส” จงทำการบ้านให้หนัก

ที่ผมชอบมากๆ ก็คือ โรสถามลินช์ซึ่งเกษียณตัวเองไปหลายปีแล้วว่า ถ้าวันนี้คุณเป็นบริหารกองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน อยู่ คุณคงซื้อแหลกเลยล่ะสิ ลินช์บอกว่า “ผมจะทำการบ้านแหลกเลยต่างหาก” (I will research like crazy) 

8. เลือกบริษัทที่หุ้นตก แต่พื้นฐานไม่เปลี่ยน

ลินช์บอกว่า เขาจะดูว่าบริษัทไหนยังมี story เหมือนเดิม โดยยังทำธุรกิจได้ดีและไม่ถูกกระทบจากการปรับลดลงของตลาด (เขาใช้คำว่า this is a non-event for them แปลว่าการที่ตลาดปรับตัวลดลง ไม่เกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ) หรือแม้จะเกิด recession ขึ้นจริง แต่บริษัทไม่กระทบ นั่นแหละคือบริษัทที่เขาจะเข้าไปซื้อ

9. โอกาสได้-โอกาสเสีย และ “จุดตัดสินใจ” ในการเข้าลงทุน

อันนี้สำคัญมากๆ ลินช์บอกว่า ก่อนซื้อ เขาจะคิดก่อนว่า “ถ้าคิดถูก ผมจะได้เท่าไร ถ้าคิดผิด ผมจะเสียเท่าไร” อัตราส่วนที่เขาชอบ คือถ้าเขาถูก หุ้นนั้นจะขึ้นไป “2-3 เท่า” แต่ถ้าคิดผิด หุ้นนั้นจะลงไป “30-40%” นี่คือสถานการณ์ที่ควรเข้าลงทุน 

สถานการณ์ที่ลินช์ไม่ชอบ คือถึงเขาคิดถูก หุ้นก็ไม่ขึ้นอีกแล้ว เพราะรับเอาข่าวดีมาหมดแล้ว แต่ถ้าคิดผิด มันจะลงไปเยอะมาก อย่างนี้เขาไม่ซื้อเด็ดขาด

10. ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรู้และอยู่ใกล้ตัว

ลินช์บอกว่า ให้ลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้ เขาไม่ได้ใช้คำว่า circle of competence (ขอบข่ายแห่งความชำนาญ) เหมือนวอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า คุณต้องมี edge หรือ “ความได้เปรียบ” เหนือคนอื่น เช่น คุณเคยทำงานในธุรกิจร้านอาหารมา 30 ปี คุณควรจะซื้อ Taco Bell หรือ Pizza Hut แทนที่จะไปซื้อบริษัทไบโอเทค ที่คุณไม่รู้เรื่องอะไรเลย

ลงทุนหุ้นต่างประเทศด้วยความมั่นใจ กับ My VALUE by Club VI subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ ให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งกว่าเดิม ด้วยบทวิเคราะห์หุ้นเชิงลึก และเนื้อหาที่คัดสรรจากสำนักข่าวสายการเงินระดับโลก พร้อม “พอร์ตหุ้นจำลอง” เพื่อวัดผลการลงทุน

คลิก ที่นี่

11. อย่าลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ แม้ธุรกิจจะดี เพราะเราสู้คนอื่นไม่ได้

เขายกตัวอย่างว่า เขาไม่รู้เรื่อง networking ในท้องถิ่น ดังนั้น เขาจะไม่ซื้อหุ้น Cisco ถึงแม้มันจะเป็นหุ้นที่ดี เพราะเขาไม่รู้จักมัน และมีคนอีกมากทำได้ดีกว่าเขา

12. ถือหุ้นดีไม่กี่ตัว แล้วอยู่กับมันยาวๆ

ลินช์บอกว่า คุณตื่นขึ้นมาตอนเช้า มีหุ้นให้เลือก 5,000 ตัว แต่ขอให้เลือกแค่ 4-5 ตัวที่คุณรู้จักและทำการบ้านได้ “ทั้งหมดที่คุณต้องมีในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษ คือหุ้นดีๆ ไม่กี่ตัวเท่านั้น”

13. “ตัวช่วย” ในวันที่เพิ่งจะมี “อินเทอร์เน็ต”

อีกหนึ่งช็อตเด็ดที่ผมชอบในการสัมภาษณ์วันนั้น ซึ่งโลกเพิ่งรู้จักอินเทอร์เน็ต คือตอนที่โรสหยิบเอากล่อง “ซีดีรอม” ขึ้นมา เป็นซีดีรอมที่ลินช์ร่วมผลิตกับฟิเดลิตี้

ลินช์บอกโรสว่า นี่คืออุปกรณ์ที่ยอดเยี่ยม เพียงต่อเข้ากับพีซี จะได้ข้อมูลบริษัท 5-6000 บริษัท อัพเดตตลอด และเป็นข้อมูลย้อนหลังไป 10 ปี ทั้งงบการเงิน ตัวเลขกำไร ตัวเลขสินค้าคงเหลือ 

โรสถามว่า มันก็ดูได้จาก Bloomberg Terminal อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ลินช์บอกว่า ของ Bloomberg Terminal จะไม่อัพเดต และย้อนหลังไปได้แค่ 5 ปี แต่ซีดีรอมตัวนี้ สมัครสมาชิกกับฟิเดลิตี้เพียง 6.95 เหรียญต่อเดือนเท่านั้น แถมมีช่วง free trial ให้ทดลองก่อนด้วย

ทั้งนี้ กำไรในส่วนของลินช์ทั้งหมด เขาบริจาคให้การกุศล

(หมายเหตุจากผู้แปล – ลองคิดดูก็แล้วกันว่านักลงทุนวันนี้ได้เปรียบคนสมัยก่อนขนาดไหน ถ้ายังไม่ศึกษาหาข้อมูลต้องถือว่าน่าเสียดายมากๆ)

14. เหตุที่เราต้องเข้าใจงบการเงิน

ลินช์บอกว่า เหตุที่เราต้องเข้าใจงบการเงิน เพราะถ้าไม่รู้จักงบการเงิน ไม่รู้จักเงินสด ไม่รู้จักหนี้สิน ก็อาจจะเลือกลงทุนผิดบริษัทได้

เช่น คุณอาจจะไปลงทุนในบริษัทที่กำลังจะล้มละลาย แทนที่จะเลือกบริษัทที่ทำเงินสดได้เป็นล้านล้านเหรียญ 

หรือบางบริษัทราคาหุ้นแค่ 2-3 เหรียญ ดูเหมือนเป็นหุ้นที่ถูก แต่จริงๆ แล้วบริษัทกำลังขาดทุนเป็นสิบๆ ล้านเหรียญ ถ้าดูงบไม่เป็นแล้วเข้าไปซื้อก็แย่

โรส หยิบกล่องซีดีรอมของลินช์ขึ้นมา

15. ซื้อหุ้นเองหรือซื้อกองทุนรวมดี

โรสถามว่า ถ้าอย่างนั้น ลินช์กำลังบอกให้เลือกหุ้นเอง แทนที่จะซื้อกองทุนรวมใช่หรือไม่

ลินช์บอกว่า คุณทำได้ทั้งสองอย่าง คุณอาจจะซื้อกองทุนรวมไว้ แล้วหาจังหวะซื้อหุ้นเมื่อมีโอกาส เป็นหุ้นที่คุณรู้จัก อยู่ใกล้ตัวคุณ และคุณมีข้อมูล

16. อยากทำนายตลาด ต้อง “โยนเหรียญ”

โรสถามว่า รู้ไหมว่าตลาดจะเป็นอย่างไรต่อไป (อย่าลืมว่าในขณะนั้นหุ้นเพิ่งลงวันเดียว 6.8% ถือเป็นเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานมากๆ)

ลินช์บอกว่า คงต้อง “โยนเหรียญเอา” ก่อนจะขยายความว่า เขาไม่รู้หรอกว่าหุ้นจะขึ้นอีก 1000 จุดเมื่อไร จะขึ้นไปอีก 6000 จุดเมื่อไร จะขึ้นไปอีก 14,000 หรือ 20,000 จุดเมื่อไร ไม่มีใครรู้

17. สิ่งที่เรารู้ได้

ส่ิงที่เรารู้คือ กำไรของบริษัทจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้มากในอีก 10 และ 20 ปีข้างหน้า นี่ต่างหากคือสิ่งที่เรารู้ได้ เมื่อ 20 ปีก่อนไม่มีไมโครซอฟท์ ไม่มี FedEx มีบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ นี่ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้ประเทศนี้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่คอยดูว่าดัชนีจะขึ้นหรือลง

18. ไม่เอา “อนุพันธ์”

โรสถามลินช์ว่า มองอนุพันธ์อย่างไร ?

ลินช์บอกว่า  มันสับสนมาก มากเกินไปสำหรับเขา (โรสถามย้ำว่า ยากเกินไปสำหรับคุณเนี่ยนะ?) ลินช์บอกว่า ชีวิตนี้เขาไม่เคยซื้อออปชั่น เพราะการซื้อหุ้นเท่ากับเวลาอยู่ข้างเราอยู่แล้ว เขาไม่รู้เรื่อง พุต ดาวน์ ฟิวเจอร์ส ไม่แตะต้องเลย

“ผมทำไม่ได้” เขาบอก

19. อย่ากลัว recession อย่ากลัววิกฤต

ลินช์บอกว่า เรามี recession มาแล้วเก้าครั้งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และเดี๋ยวก็จะมีอีก แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไร อย่าไปกังวล แต่เขามั่นใจในเศรษฐกิจอเมริกา และบริษัทที่ดีก็จะอยู่รอดปลอดภัย

20. เอเชียและเมืองไทยจะไม่ตาย

โรสถามลินช์ว่า เอเชียจบเห่หรือยัง (ขณะนั้นเมืองไทยเพิ่งลอยตัวค่าเงินบาทได้สองเดือนว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ที่ก้นเหว และลากเอาเกือบทั้งเอเชียตามลงไปด้วย) ??

ลินช์บอกว่า “ไม่หรอก ให้ตายสิ ไม่จบหรอก” แต่พวกเขาต้องถอยออกมาก้าวหนึ่ง หาทางออก แล้วก้าวต่อไป เขาย้ำว่า “เอเชียยังไม่จบเห่แน่นอน ไม่มีทางเลย”

และทั้งหมดนี้ คือบทสัมภาษณ์หายากของสุดยอดนักลงทุนที่ชื่อ ปีเตอร์ ลินช์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย อย่าลืมแบ่งปันให้คนที่คุณรักที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นอ่านด้วยนะครับ


ลงทุน “หุ้นต่างประเทศ” ด้วยความ “มั่นใจ” กับ My VALUE , subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ เพื่อให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาที่คัดสรรและบทความที่เรียบเรียงมาจากสำนักข่าวสายการเงินการลงทุนระดับโลก คลิก ที่นี่ เลย


ข้อมูลอ้างอิง : Youtube – Investor Archive

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s