อนาคตแห่งการลงทุน ที่อาจเข้ามาแทนที่ index fund

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เจอบทความนึงใน BloombergBusinessweek น่าสนใจทีเดียว

ระยะหลัง ตั้งแต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปลุกกระแส passive fund ขึ้นมา ทำให้กองทุนรวมประเภท active fund เสียลูกค้าไปให้พวก ETF ค่าธรรมเนียมต่ำๆ โดยเฉพาะ index fund เยอะมาก

ล่าสุด เจ้าใหญ่อย่าง Morgan Stanley, Blackrock และ Vanguard Group (สองรายหลังเป็นเจ้าพ่อ index fund เช่นกัน) จึงดัน “ของใหม่” ออกมาขายเพื่อ “โต้กลับ”

ของใหม่ที่ว่านี้ คือ “ซอฟท์แวร์” ซึ่งจะให้นักลงทุนแต่ละคนสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ของตัวเองขึ้นมาได้

ชื่อของมันคือ “custom indexing” หรือ “direct indexing” ซึ่งบางคนบอกว่า เป็น “การจัดการสินทรัพย์แห่งอนาคต” อันจะมาแทนที่การซื้อกองทุนแบบเดิมๆ เลยทีเดียว

รูปแบบของ custom indexing กับ direct indexing มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย

สำหรับ direct indexing ผู้ลงทุนจะเลือกดัชนีที่มีอยู่แล้วเป็นตัวตั้ง เช่น S&P500 แล้วปรับแต่งตามความต้องการ

เช่น เอาหุ้นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมออกไป เอาหุ้นที่เจ้าของชอบทวีตปั่นหุ้นตัวเองออกไป แทนที่จะต้องซื้อหุ้นทั้ง 500 ตัวในดัชนีนั้นๆ ซึ่งย่อมมีหุ้นที่ตัวเองไม่ชอบปะปนอยู่ด้วย

นัยยะของคำว่า direct ก็คือ สามารถ “ซื้อหุ้นตรง” ตามที่อยากได้ โดยเลือกจากดัชนีเดิมที่มีอยู่แบบไม่ต้อง “กวาด” เปรียบได้กับการสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ขึ้นมา

ขณะที่ custom indexing ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้อง “base” หรือสร้างกองทุนโดยปรับเปลี่ยนจากดัชนีที่มีอยู่แล้วด้วยซ้ำไป แต่สามารถ “วาดภาพ” ดัชนีที่ตัวเองต้องการขึ้นมาได้ทั้งหมด

เช่น ผมต้องการหุ้น new economy แต่ไม่เอาหุ้นการเงิน ไม่เอาหุ้นยา เน้นพวก SaaS หรือ software-as-a-service สุดท้ายจึงได้หุ้นมา 70-80 ตัว เปรียบเสมือน “ดัชนีส่วนตัว” ของผมเอง เป็นต้น

เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่สุด มันคือ “Spofity แห่งโลกของการลงทุน” เป็นการซื้อกองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถสร้าง “Playlist หุ้น” ของตัวเองขึ้นมาได้ตามใจ

เล่ามาถึงตรงนี้ บางคนอาจแย้งว่า ของพวกนี้ private fund เขาก็ทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? แค่ให้คนเลือกหุ้นเอง มัน “ใหม่” ตรงไหนเล่า?

คำตอบก็คือ “ใช่” มันอาจจะไม่ใหม่ แต่ในกรณี private fund คุณต้องมีเงินในระดับหนึ่ง เช่น สัก 1 ล้านเหรียญ หรือถ้าเป็นของไทยก็ต้องหลักสิบล้านบาท

ทว่าต่อไปนี้ มันจะเป็น product สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ด้วยต้นทุนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

นอกจากนี้ ไอเดียนี้ยังเรียกเสียงปรามาสได้ไม่น้อย

บ้างก็ว่า มันคือไอเดียที่พวก บลจ.จะหลอกเอาค่าธรรมเนียมจากผู้ลงทุนสูงขึ้นกว่า index fund

เช่น แทนที่จะให้คนซื้อ S&P 500 ETF แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.1% ก็หันมาขาย direct indexing ตัดหุ้นออกไป 50 ตัว เหลือ 450 ตัว แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.3% แทน

บ้างก็ว่า การให้ผู้ลงทุนเลือกหุ้นเอง มันก็เหมือนกับการ “ลงทุนเอง” ซึ่งสถิติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชี้ชัดแล้วว่า มนุษย์เราไม่ควรลงทุนเอง เพราะมักจะ “เจ๊ง” เสมอ

แต่สุดท้ายแล้ว บางคนก็มองว่า custom indexing หรือ direct indexing อาจจะเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว …

จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้ง ETF และกองทุนรวม (active fund) เหมือนกับที่ ETF เคยเป็นภัยคุกคามต่อกองทุนรวมมาก่อนหน้านี้ และปรากฏชัดแล้วในวันนี้นั่นเอง


ที่มา : BloombergBusinessWeek, December 13, 2021

จากแดเนียล ถึงไกด์แอน ถ้าวิธีมันใช่ อะไรๆ ก็ถูก

money-2696229_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แดเนียล ทาวน์ เป็นทนายความสาวประจำสำนักงานกฏหมายชาวอเมริกันวัย 36 ปี เธอทำงานมาระยะหนึ่งจนเริ่มรู้สึกเบื่องาน และอยากหาทางสร้างรายได้เพื่อที่จะได้เกษียณตัวเองเร็วๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินเดือน

ด้วยความที่พ่อของเธอเป็นนักเขียนหนังสือลงทุน เธอจึงได้ยินเรื่องราวของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกฏสองข้อของปู่ที่ก้องอยู่ในหู คือ ข้อ 1 อย่าเสียเงิน และข้อ 2 อย่าลืมกฏข้อ 1

ทีแรก แดเนียลเน้นที่การออมเงิน ก่อนจะพบว่ายิ่งเก็บเงินสดไว้มูลค่าของมันยิ่งลดลง เธอจึงคิดได้ว่า เธอควรเริ่มลงทุนอย่างจริงจังเสียที แดเนียลจึงโทรหาพ่อเพื่อขอคำปรึกษา ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า “การลงทุนเน้นมูลค่า” เท่านั้น คือคำตอบของชีวิตเธอ

“พ่อบอกฉันว่า ให้ซื้อบริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาลด ซึ่งแม้ราคาหุ้นจะต่ำลง ฉันก็ไม่ต้องกังวล แค่ถือไปเรื่อยๆ จนมันกลับมา และอย่าขายทิ้งเป็นพอ”

แดเนียลรู้ดีว่า การเลือกหุ้นส่งๆ นั้นไม่เพียงพอ เธอจึงใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในการศึกษา “หลักการวีไอ” จากพ่อ และสุดท้ายก็ได้ชื่อบริษัทที่ต้องการซื้อหุ้น

หุ้นที่แดเนียลตัดสินใจซื้อ คือ โฮลฟู้ดส์  (Whole Foods) เครือซุเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังของสหรัฐฯ ก่อนจะตัดสินใจขายทิ้งเมื่อบริษัทถูกเอมะซอนเข้าซื้อ โดยทำกำไรได้ 41 เปอร์เซ็นต์ แม้แดเนียลจะเรียนรู้มาว่าหุ้นดีไม่ควรขาย แต่เธอก็บอกว่า บางครั้งการขายก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แดเนียลบอกเล่าประสบการณ์ของเธอเอาไว้ว่า การลงทุนเน้นมูลค่าต้องอาศัยการฝึกฝน ไม่ต่างจากการเล่นเทนนิสหรือโยคะ และควรจะทำด้วยใจรัก ยิ่งทำก็จะยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ และไม่ต้องคิดว่าจะหยุดเมื่อไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำไปได้ตลอดชีวิตไม่มีกำหนด

นอกจากนี้ เธอยังย้ำกับทุกคนในสิ่งที่บัฟเฟตต์พูดบ่อยมากในช่วงหลังๆ ก็คือ ถ้าไม่มีเวลาทำการบ้านก็ให้ซื้อกองทุนอิงดัชนี หรือ index fund ที่มีต้นทุนต่ำๆ ซะ

เรื่องนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องเล่าธรรมด๊าธรรมดาที่ได้ยินกันอยู่เสมอ และอาจจะเป็นชีวิตจริงของคนอีกนับพัน ผมเองก็เคยเล่าเรื่อง “ไกด์แอน” มัคคุเทศก์วีไอ ที่เคยมาขอคำปรึกษาจากผม ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนในแนววีไอและทำผลตอบแทนได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ในปีแรก มากกว่าตัวผมเองในช่วงเริ่มต้นเมื่อสิบห้าปีก่อนเสียด้วยซ้ำ (อ่านเรื่องราวของไกด์แอนได้ ที่นี่)

แต่ที่อยากเอามาถ่ายทอดไว้ในที่นี้ก็เพื่อเป็นกำลังใจในเวลาที่ตลาดหุ้นกำลังลูกผีลูกคน จนหลายท่านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดีกับชีวิต

ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะบอกท่านว่า คนเราถ้าเลือก “วิถีทางที่ถูกต้อง” ไว้ก่อน สภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร เราจะหาทางไปของเราได้เสมอ แต่ถ้าวิธีผิด แม้วันนี้จะได้เงิน เดี๋ยววันข้างหน้าก็เจ๊ง ตัวอย่างมีให้เห็นกันอยู่มากมาย

เราก็เลือกเอาตัวอย่างที่ดี อย่าไปทำตามสิ่งที่แย่ก็แล้วกัน

—————————-

ข้อมูลประกอบจากบทความของ CNBC โดย Emmie Martin อ่านได้ ที่นี่

 

 

ตำนานนักลงทุนเปิดใจ “ไม่เคยเห็นตลาดผันผวนขนาดนี้”

housebogle

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เมื่อวันที่ 6  เม.ย. ขณะที่คนไทยจำนวนมากกำลังเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนหรือสนุกสนานในวันหยุดยาว ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐฯ หาได้หยุดด้วยไม่ ยังคงทำการต่อไปตามปกติ ทว่าตัวเลขดัชนีที่ออกมามิใช่เรื่องดี กลับกลายเป็นเรื่องร้ายอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวคือ หุ้นอเมริกา “ลงหนักมาก” สามดัชนีหลักร่วงพร้อมกันกว่าสองเปอร์เซ็นต์ โดย S&P 500 ลบ 2.19% ดาวโจนส์ ลบถึง 2.34% และแนสแด็ค ลบ 2.28% เรียกได้ว่าลงวินาศสันตะโรเลยทีเดียว

นี่อาจถือเป็นโชคดีเล็กๆ ของตลาดหุ้นไทยหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ที่ตลาดปิดทำการ มิเช่นนั้น หากเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปได้เหมือนกันว่าหุ้นอาจลงไปอีก 40-50 จุด จนหลุด 1,700

ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ได้มีหนึ่ง “ความคิดเห็นสำคัญ” จาก แจ็ค โบเกิล ผู้ริเริ่ม index fund หรือ “กองทุนอิงดัชนี” ซึ่งเป็นผู้ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า อาจจะสร้างคุณูปการแก่นักลงทุนอเมริกันมากกว่าใครทั้งหมดในประวัติศาสตร์

โดยปู่แจ็คในวัย “ขึ้นเลข 9” ผู้อยู่ในแวดวงการลงทุนมาเกือบ 70 ปีบอกว่า “ผมไม่เคยเห็นตลาดผันผวนขนาดนี้ ตลอดอาชีพของผม”

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในหอเกียรติยศผู้นี้เน้นย้ำว่า ไม่ว่าความผันผวนจะมากมายขนาดไหน มันก็เป็นเพียง “เสียงรบกวน” (noise) เท่านั้น

“เมื่อทุกคนมองการพยากรณ์อนาคตต่างๆ เช่น เรื่องอัตราดอกเบี้ยหรือเงินเฟ้อแล้วก็ขาย ก็แปลว่าต้องมีคนซื้ออยู่เช่นกัน”

โบเกิลยังแนะด้วยว่า “หุ้นมันเปลี่ยนมือจากนาย A ไปสู่นาย B จากคนซื้อไปยังคนขาย จากคนขายไปยังคนซื้อ และผมคิดว่าบางครั้งมันอาจจะทำให้นักลงทุนระยะยาวหวั่นไหว”

แต่ปู่แจ็คก็กล่าวเช่นกันว่า “มันทำให้นักลงทุนเสียสมาธิ เพราะพวกเขาเห็นมัน แล้วพวกเขาก็คิดว่านี่เรื่องใหญ่นะ แล้วพอตลาดลงหนักๆ ก็เริ่มตื่นตระหนกแล้วก็ขายซะ สุดท้ายจึงเจ๊ง”

พูดง่ายๆ ก็คือ ให้มองยาวเข้าไว้ อย่าบ้าไปตามตลาด แล้วจะอยู่รอดปลอดภัยนั่นเอง

ช่วงหลังๆ ที่ตลาดร่วงเอาๆ คนหลายรุ่นหลายวัยอาจตกอยู่ในอาการใจฝ่อ ผมจึงเอาคำแนะนำจากนักลงทุนชั้นเซียน-ชั้นครู มาให้ได้อ่านกันบ่อยๆ เผื่อจะช่วยให้นิ่งและมีกำลังใจมากขึ้น จนกว่าจะผ่านมันไปได้นะครับ

———————–

ข้อมูลประกอบ : CNBC

ภาพประกอบ : ปกหนังสือ The House That Bogle Built