อนาคตแห่งการลงทุน ที่อาจเข้ามาแทนที่ index fund

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เจอบทความนึงใน BloombergBusinessweek น่าสนใจทีเดียว

ระยะหลัง ตั้งแต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปลุกกระแส passive fund ขึ้นมา ทำให้กองทุนรวมประเภท active fund เสียลูกค้าไปให้พวก ETF ค่าธรรมเนียมต่ำๆ โดยเฉพาะ index fund เยอะมาก

ล่าสุด เจ้าใหญ่อย่าง Morgan Stanley, Blackrock และ Vanguard Group (สองรายหลังเป็นเจ้าพ่อ index fund เช่นกัน) จึงดัน “ของใหม่” ออกมาขายเพื่อ “โต้กลับ”

ของใหม่ที่ว่านี้ คือ “ซอฟท์แวร์” ซึ่งจะให้นักลงทุนแต่ละคนสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ของตัวเองขึ้นมาได้

ชื่อของมันคือ “custom indexing” หรือ “direct indexing” ซึ่งบางคนบอกว่า เป็น “การจัดการสินทรัพย์แห่งอนาคต” อันจะมาแทนที่การซื้อกองทุนแบบเดิมๆ เลยทีเดียว

รูปแบบของ custom indexing กับ direct indexing มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย

สำหรับ direct indexing ผู้ลงทุนจะเลือกดัชนีที่มีอยู่แล้วเป็นตัวตั้ง เช่น S&P500 แล้วปรับแต่งตามความต้องการ

เช่น เอาหุ้นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมออกไป เอาหุ้นที่เจ้าของชอบทวีตปั่นหุ้นตัวเองออกไป แทนที่จะต้องซื้อหุ้นทั้ง 500 ตัวในดัชนีนั้นๆ ซึ่งย่อมมีหุ้นที่ตัวเองไม่ชอบปะปนอยู่ด้วย

นัยยะของคำว่า direct ก็คือ สามารถ “ซื้อหุ้นตรง” ตามที่อยากได้ โดยเลือกจากดัชนีเดิมที่มีอยู่แบบไม่ต้อง “กวาด” เปรียบได้กับการสร้าง “ดัชนีส่วนตัว” ขึ้นมา

ขณะที่ custom indexing ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้อง “base” หรือสร้างกองทุนโดยปรับเปลี่ยนจากดัชนีที่มีอยู่แล้วด้วยซ้ำไป แต่สามารถ “วาดภาพ” ดัชนีที่ตัวเองต้องการขึ้นมาได้ทั้งหมด

เช่น ผมต้องการหุ้น new economy แต่ไม่เอาหุ้นการเงิน ไม่เอาหุ้นยา เน้นพวก SaaS หรือ software-as-a-service สุดท้ายจึงได้หุ้นมา 70-80 ตัว เปรียบเสมือน “ดัชนีส่วนตัว” ของผมเอง เป็นต้น

เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่สุด มันคือ “Spofity แห่งโลกของการลงทุน” เป็นการซื้อกองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถสร้าง “Playlist หุ้น” ของตัวเองขึ้นมาได้ตามใจ

เล่ามาถึงตรงนี้ บางคนอาจแย้งว่า ของพวกนี้ private fund เขาก็ทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? แค่ให้คนเลือกหุ้นเอง มัน “ใหม่” ตรงไหนเล่า?

คำตอบก็คือ “ใช่” มันอาจจะไม่ใหม่ แต่ในกรณี private fund คุณต้องมีเงินในระดับหนึ่ง เช่น สัก 1 ล้านเหรียญ หรือถ้าเป็นของไทยก็ต้องหลักสิบล้านบาท

ทว่าต่อไปนี้ มันจะเป็น product สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ด้วยต้นทุนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

นอกจากนี้ ไอเดียนี้ยังเรียกเสียงปรามาสได้ไม่น้อย

บ้างก็ว่า มันคือไอเดียที่พวก บลจ.จะหลอกเอาค่าธรรมเนียมจากผู้ลงทุนสูงขึ้นกว่า index fund

เช่น แทนที่จะให้คนซื้อ S&P 500 ETF แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.1% ก็หันมาขาย direct indexing ตัดหุ้นออกไป 50 ตัว เหลือ 450 ตัว แล้วเก็บค่าธรรมเนียม 0.3% แทน

บ้างก็ว่า การให้ผู้ลงทุนเลือกหุ้นเอง มันก็เหมือนกับการ “ลงทุนเอง” ซึ่งสถิติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชี้ชัดแล้วว่า มนุษย์เราไม่ควรลงทุนเอง เพราะมักจะ “เจ๊ง” เสมอ

แต่สุดท้ายแล้ว บางคนก็มองว่า custom indexing หรือ direct indexing อาจจะเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว …

จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้ง ETF และกองทุนรวม (active fund) เหมือนกับที่ ETF เคยเป็นภัยคุกคามต่อกองทุนรวมมาก่อนหน้านี้ และปรากฏชัดแล้วในวันนี้นั่นเอง


ที่มา : BloombergBusinessWeek, December 13, 2021

เปิดชื่อ “ETF แชมป์โลก” รายล่าสุด (ไม่ใช่ ARKK)

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ถ้าถามว่า ETF ที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในโลกในรอบ 12 เดือนหลังสุดคือกองไหน หลายคนอาจจะนึกถึง ARKK หรือ ARK Innovation ETF ในสังกัดของ เคธี่ วูด แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ ETF ในเครือ ARK Invest ไม่ติด 1 ใน 3 ด้วยซ้ำไป

ถ้าอย่างนั้น ETF กองไหนล่ะที่ชนะเลิศ มาดูกันเถอะครับ รับรองว่าเหนือความคาดหมายของใครหลายๆ คนแน่ๆ

(ข้อมูลนับถึง 8 มี.ค. 2021)

อันดับ 1 :  Amplify Seymour Cannabis ETF (CNBS)

ผลตอบแทน 1 ปีหลังสุด : 178.3% อัตราเงินปันผล : 0.37%

มูลค่าสินทรัพย์ที่บริหาร : 125.2 ล้านเหรียญ

วันที่ก่อตั้ง : 23 ก.ค. 2019

ETF ที่ทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดในโลก ไม่ใช่กองทุนเทคโนโลยีด้วยซ้ำไป แต่กลับเป็นกองทุน “กัญชา” ได้แก่ “CNBS” หรือชื่อเต็มคือ Amplify Seymour Cannabis ETF กองทุนสายเขียวสุดฮ็อต

CNBS เป็นกองทุนแบบ actively-managed คือมีผู้จัดการกองทุนคอยเลือกหุ้น โดยลงทุนในอุตสาหกรรมกัญชาทั่วโลก ทั้งนี้ 80% ของบริษัทที่  CNBS เข้าลงทุน ต้องมีรายได้อย่างน้อย 50% จากกัญชา และ/หรือ กัญชง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 

หุ้นตัวใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกในพอร์ตของ CNBS คือ GW Pharmaceutifcals (GWPH) บริษัทกัญชาของอังกฤษ, Canopy Growth Corp (CGC) ผู้ผลิตกัญชาของแคนาดา และ VIllage Farms International (VFF) อีกหนึ่งบริษัทกัญชาจากแคนาดา

อันดับ 2 : Amplify Transformational Data Sharing ETF (BLOK)

ผลตอบแทน 1 ปีหลังสุด : 175.5%

อัตราเงินปันผล : 1.31%

มูลค่าสินทรัพย์ที่บริหาร : 1,200 ล้านเหรียญ

วันที่ก่อตั้ง :17 ม.ค. 2018

เป็น ETF แบบ actively-managed เช่นกัน โดย BLOK หรือชื่อเต็มคือ Amplify Transformational Data Sharing ETF เน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี blockchain ทั้งหุ้น growth และ value ทั้งหุ้นที่ market cap ขนาดใหญ่และเล็ก และอยู่ในหลายๆ ประเทศ พูดง่ายๆ คือ ขอให้เกี่ยวข้องกับ blockchain เราเอาหมด

โดยหุ้นที่ BLOK ถือไว้มากที่สุดสามอันดับแรก คือ CAN หรือ Canaan Inc. บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ของจีนที่ใช้ในการขุดคริปโต อันดับสองคือ GLXY:TSE หรือ Galaxy Digital Holdings เป็นบริษัทในเครือสถาบันการเงินที่เน้นเทคโนโลยี blockchain และสินทรัพย์ดิจิทัล และอันดับสามคือ MSTR บริษัทที่ทำแพลตฟอร์มซอฟท์แวร์สำหรับองค์กร

อันดับ 3  : Amplify Online Retail (IBUY) 

ผลตอบแทน 1 ปีหลังสุด : 156.2%

อัตราเงินปันผล : 0.65%

สินทรัพย์ที่บริหาร : 1,800 ล้านเหรียญ

วันที่ก่อตั้ง : 20 เม.ย. 2016

IBUY หรือชื่อเต็มคือ Amplify Online Retail  เป็น ETF ที่ลงทุนโดยอิงกับดัชนี EQM หรือ “ดัชนีค้าปลีกออนไลน์” โดยถือหุ้นในบริษัทผู้ค้าปลีกสินค้าที่อยู่นอกเหนือความจำเป็น (consumer discretionary products หมายถึงของที่ไม่ต้องซื้อก็มีชีวิตอยู่ได้ เช่น สินค้าแฟชั่นทั้งหลาย) รวมทั้งเว็บไซต์ที่รายได้อย่างน้อย 70% เกิดขึ้นบนช่องทางออนไลน์ 

หุ้นตัวใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกของ IBUY ได้แก่ GPRN บริษัทที่ทำธุรกิจมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ ตามมาด้วย TRIP เจ้าของเว็บไซต์ท่องเที่ยว TripAdvisor ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี และอันดับสามคือ RVLV ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นออนไลน์

และทั้งหมดนี้คือรายชื่อกองทุนแชมป์โลกในรอบ 12 เดือนล่าสุด นับถึง 8 มี.ค. 2021 จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีแต่อุตสาหกรรมที่เป็น innovation เท่านั้นที่ทำผลตอบแทนได้ดี เพราะอันดับหนึ่งของโลกกลายเป็น “ETF กัญชา” ที่อาจจะอยู่นอกเหนือความคาดหมายของใครหลายๆ คนด้วยซ้ำ 

ให้ไว้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ


ข้อมูลประกอบจาก Investopedia https://www.investopedia.com/best-etfs-5092493

ป๋าคลั่ง! ตะลุยซื้อทองหมื่นกว่าล้าน

IMG_1654
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เรย์ ดาลิโอ ยังแน่วแน่ไม่เปลี่ยน ล่าสุด กองทุนบริดจ์วอเทอร์ของเขา ไล่เก็บทองคำมูลค่า
ถึง 400 ล้านเหรียญ (12,800 ล้านบาท) ในไตรมาสที่สอง
จากแบบ 13F ที่รายงานต่อ กลต.เปิดเผยว่า บริษัทของป๋าได้สอยทองคำเข้าพอร์ต ไว้ใน ETF ทองคำสองกอง ได้แก่ iShares Gold Trust และ SPDR Gold Trust ซึ่งทั้งสองกองเป็น ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ มูลค่าทองคำใน SPDR กองเดียว ก็ปาเข้าไปถึง 914.3 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก Q1 ซึ่งอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มราว 52% เช่นเดียวกับกองทุน iShares ที่มีทองเพิ่มขึ้นจาก 176 ล้าน เป็น 268.4 ล้านเหรียญ เพิ่มราว 52% เช่นกัน โดยทั้งสองกองถือทองคำไว้ 40 และ 16 ล้านออนซ์ ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า “ป๋าเรย์” กำลังไล่เก็บทองคำอุตลุตเลยทีเดียว
โดย ณ สิ้นสุด Q2 พอร์ตของบริดจ์วอเทอร์ มีมูลค่าอยู่ที่ 5,960 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจาก Q1 ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าไม่ขี้เหร่ แม้ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ดาลิโอจะบ่นว่าตัวเองทำพลาดไปมากมาย
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นถึง 26% และยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้นักลงทุนแห่กันเข้ามาซื้อ ETF ทองคำเป็นจำนวนมาก จนล่าสุด ETF ทั่วโลกถือทองคำไว้รวมกันมากกว่าธนาคารกลางเยอรมนีเสียอีก จะเป็นรองก็แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่ราคาทองคำขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ได้แก่ การอ่อนลงของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อันเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ปั๊มเงินเข้าระบบเพื่อกู้เศรษฐกิจจากวิกฤตโคโรน่าไวรัส ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนและดอกเบี้ยต่ำ คนจึงหันมาสะสมทองคำ ซึ่งถูกทองว่าเป็นแหล่งเก็บเงินที่ปลอดภัย

และแม้เมื่อไม่กี่วันก่อนทองจะตกลงมาเยอะ เพราะมีการเตือนกันว่าราคาเฟ้อเกินไปแล้ว แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า ด้วยสถานการณ์โลกที่ยังไม่มีความแน่นอน บวกกับเงินดอลลาร์ที่สาละวันเตี้ยลง น่าจะทำให้ราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อไป
———
ข้อมูลประกอบจาก Business Insider และ Bloomberg