สาวอินเดียที่มาเดินจตุจักรครั้งเดียว กลับไปปั้นสตาร์ทอัพหมื่นล้าน

800px-Ankiti_Bose

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ข้อมูลประกอบจาก CNBC

Ankiti Bose วัย 27 ปี คือผู้ก่อตั้ง Zilingo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายเสื้อผ้าชื่อดัง ที่มีแอ็คทีฟยูเซอร์กว่า 7 ล้านคน และกำลังขยายตลาดไปทั่วโลก เธอเป็นหญิงอินเดียคนแรกที่ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพในสเกลใหญ่ขนาดนี้ขึ้นมาได้

ปัจจุบัน Zilingo มีมูลค่าราว 970 ล้านเหรียญ หรือเกือบๆ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจก็คือ ไอเดียของเธอเกิดขึ้นง่ายๆ มาก ด้วยการมาเดินช้อปปิ้งที่ “เจเจ”

“ตอนนั้นเป็นปี 2014 ฉันไปเที่ยววันหยุดกับเพื่อน ที่จริงคือเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานของฉันที่กรุงเทพฯ”

“เราไปที่ตลาดชื่อ จตุจักร” เธอกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้ไปเดินตลาดนัดวันหยุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีร้านค้ากว่า 15,000 ร้านและผู้ค้ากว่า 11,500 คน

“ฉันนี่แบบ ‘ว้าว ของพวกนี้น่าเอาไปขายออนไลน์นะ!’ แต่พ่อค้าแม่ค้าพวกนั้นไม่ได้ขายออนไลน์ เขาทำไม่เป็น นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของฉัน” Bose เล่า

ที่น่าสนใจก็คือ ตอนนั้นอายุเธอเพิ่งจะ 23 และทำงานอยู่กับ Sequoia Capital บริษัท VC ชื่อดังในอินเดีย บ้านเกิดของเธอ

เมื่อกลับไปยังบังกาลอร์ Bose จึงตัดสินใจสร้างตลาดการค้าออนไลน์ขึ้นมา โดยเอาผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาขายของบนแพลตฟอร์ม

“มันเป็นไอเดียแบบเดวิดแอนด์โกไลแอธเลยนะ”

Bose เปรียบเปรยตัวเองเป็นเสมือนแจ็คผู้กล้าลุกขึ้นมาฆ่ายักษ์ เพราะตอนนั้นตลาดอินเดียมีทั้ง Amazon ของอเมริกา, Alibaba ของจีน และ Flipkart ของอินเดียอยู่แล้ว

แต่ที่ Bose กล้าโดดเข้าไป เพราะเธอมองว่า ผู้ค้าตัวเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ยังไม่มีที่ยืน และนี่คือช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครเติมเต็ม ทั้งๆ ที่ SEA เป็นภูมิภาคที่เป็นฮับสำคัญของผู้ผลิตเสื้อผ้าของโลก

“บริษัทเทคโนโลยีมีโอกาสที่ดีกว่า ในการขยายสเกลสิ่งต่างๆ แบบไม่เป็นเส้นตรง” Bose ชี้ชัด

“มีพ่อค้าคนกลางหลายร้อยคนทั่วเอเชียที่ดึงเอาส่วนต่างกำไรไปจากคนที่สมควรได้รับมัน และฉันคิดว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยแก้ตรงนี้ได้”

ด้วยเหตุนี้ เธอจึงปั้น Zilingo ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ามา sign up แล้วเอาสินค้ามา list บนแพลตฟอร์ม ทั้งยังสนับสนุนบริการทุกด้าน ทั้งทางเทคนิค การเงิน และประกัน แลกกับส่วนแบ่ง 10-30% จากยอดขาย

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเธอมีโชคด้วยเหมือนกัน เพราะไม่กี่สัปดาห์หลังจากปิ๊งไอเดียนี้ เธอก็บังเอิญได้พบ Dhruv Kapoor เพื่อนของเพื่อน ซึ่งมาดื่มเบียร์ที่ห้องของเธอ พอรู้ว่าเขาเป็น tech guy ที่เก่งมากๆ เธอจึงเล่าไอเดียนี้ให้ฟัง และเขาก็เอาด้วย และภายในเวลาหกเดือน ทั้งคู่ก็ลาออกจากงานที่ทำอยู่ แล้วเอาเงินเก็บมาปั้นธุรกิจนี้ขึ้นมา

โดยส่วนตัว ผมมองว่าจุดที่น่าชื่นชม Bose ที่สุด ไม่ใช่แค่สายตาที่รู้จัก “มองหาโอกาส” และเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจที่ยังว่างอยู่เท่านั้น แต่คือการที่เธอเป็น “คนอินเดีย” แต่กลับ “อ่านขาด” ตลาดเสื้อผ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่นอกเหนือความคุ้นเคยของเธอ

บทเรียนที่ผมกลั่นออกมาจาก success story นี้ก็คือ ส่วนผสมของความสำเร็จในการทำสตาร์ทอัพใหม่ๆ ต้องมีสามอย่างคือ ไอเดีย + ความรู้ทางเทคโนโลยี + ความกล้า

และถ้าจะให้เพิ่ม “อย่างที่สี่” เข้าไป ก็น่าจะเป็น “ความรู้ทางธุรกิจและการเงิน” เพราะต้องไม่ลืมว่า Bose เคยทำงานอยู่กับบริษัท VC ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้เธอมองออกว่าธุรกิจเช่นใดที่สามารถดึงดูดเงินทุนและscaleup ขึ้นไปได้

ใครที่อยากประสบความสำเร็จอย่าง Bose ขั้นแรกคือต้องหาไอเดียให้ได้ก่อน โดยรู้จักมองหาช่องว่างทางธุรกิจ จากนั้นก็ลองดูว่าตัวคุณมีอะไร อะไรที่ยังขาดไปก็ไปหาพาร์ทเนอร์เก่งๆ มาเติมเต็ม

พวกเราบางคนเดินจตุจักรกันมาเป็นร้อยๆครั้งยังไม่รวย เขามาเดินครั้งเดียวกลับไปปั้นธุรกิจหมื่นล้าน

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้หรอกครับ อยู่ที่ว่าคุณกล้าที่จะฝันหรือเปล่าเท่านั้นเอง


แหล่งที่มา : CNBC คลิกอ่านที่ ลิงก์นี้