มาร์ก คิวบาน ชี้ “หุ้นขึ้น มีแต่คนเก่งเต็มตลาด”

109838954_3429763967075606_1762946659080459955_o

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

มาร์ก คิวบาน มหาเศรษฐีอันดับ 175  ของสหรัฐฯ และเจ้าของทีมดัลลัส มาเวอริคส์ ให้สัมภาษณ์ CNBC ว่า ตลาดหุ้นที่วิ่งห้อตะบึงมานับจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือน มี.ค. ทำให้เขานึกถึงฟองสบู่ด็อทคอมสมัยยุค 90 มากๆ

“ในมุมหนึ่งมันอาจจะต่างกันเพราะมี เฟด และ สภาพคล่องที่อัดฉีดกันเข้ามา รวมทั้งเงินเฟ้อกับสินทรัพย์ทางการเงินที่ตามมาด้วย แต่โดยภาพใหญ่แล้วมันเหมือนกันเลย” คิวบานบอกเบ็คกี้ ควิก พิธีกรสาวสวยในรายการ สคว้อกบ็อกซ์

“ขนาดหลานสาวผมอายุ 18 ยังถามผมว่าจะลงทุนหุ้นอะไรดี เพราะเพื่อนๆ นางได้กำไรกันวันละ 30%  แถมคนโน้นคนนี้ที่ไม่เคยสนใจหุ้นเลยก็ยังมาถามผมว่าควรลงทุนหุ้นตัวไหน”

นักธุรกิจผู้สร้างความร่ำรวยขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของอินเทอร์เน็ต จนปัจจุบันมีความมั่งคั่งถึง 4,200 ล้านเหรียญเตือนด้วยว่า อย่าหลงไปกับภาพสวยๆ ในเวลานี้

“ในตลาดกระทิง ทุกคนอัจฉริยะหมดนั่นแหละ” มาร์กชี้ชัด

“ตอนนี้ใครๆ ก็ได้เงิน เพราะมีเฟดคอยเติมเงินเข้ามา ซึ่งทำให้คนที่จะไม่มีวันโดดเข้ามาถ้าไม่มีเฟด แห่กันเข้ามาเต็มไปหมด”

ทั้งนี้ นับถึงปิดตลาด วันศุกร์ที่ 24 ก.ค. ดัชนีแน็สแด็ค ซึ่งประกอบด้วยหุ้นเทคจำนวนมาก ได้ปรับตัวขึ้นมารวมๆ แล้วถึง 60% จากจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. หรือประมาณสี่เดือนที่แล้ว ซึ่งในวันนั้นเองที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อัดฉีดเงินก้อนโตเข้ามาในระบบ ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

ในส่วนของคิวบาน เขาตั้งคำถามมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ว่าตลาดหุ้นน่าจะแพงเกินไปแล้วหรือไม่ และในครั้งนี้ เขายังเตือนซ้ำอีกว่า สมัยฟองสบู่อินเทอร์เน็ต หุ้นก็ขึ้นอยู่อย่างนี้หลายปี โดยแนสแด็คปรับตัวสูงขึ้นถึง 500% นับจากปี 1995 ก่อนจะพังครืนลงในเดือน มี.ค. ปี 2000 หรือห้าปีต่อมา

ดังนั้น ใครที่คิดว่า “รอบนี้ของจริง” ขออย่าได้วางใจเป็นอันขาด

“มันไม่ใช่แบบ ‘โอ๊ะ นี่เราอยู่ในฟองสบู่แล้วนะ’ แล้วแค่ไม่กี่เดือนฟองสบู่ก็แตก” นักลงทุน “ฉลาม” จากรายการ Shark Tank กล่าว และเสริมด้วยว่า สถานการณ์เช่นนี้มักเย้ายวนใจจนคนส่วนใหญ่อดรนทนไม่ไหว “บางทีมันก็ยากที่จะอดทน เราเห็นอยู่ว่ามีเงินก้อนโตกำลังจะเข้ามาในตลาดและไล่ล่าผลตอบแทนที่ว่านั้น”

ครั้นถูกถามว่า แล้วเขาให้คำตอบกับหลานสาวอย่างไร มาร์กเฉลยว่า เขาบอกหลานสาวให้ …

“เอาเงินออกซะ” 


ข้อมูลประกอบ อ่านได้ที่นี่

สาวอินเดียที่มาเดินจตุจักรครั้งเดียว กลับไปปั้นสตาร์ทอัพหมื่นล้าน

800px-Ankiti_Bose

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ข้อมูลประกอบจาก CNBC

Ankiti Bose วัย 27 ปี คือผู้ก่อตั้ง Zilingo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายเสื้อผ้าชื่อดัง ที่มีแอ็คทีฟยูเซอร์กว่า 7 ล้านคน และกำลังขยายตลาดไปทั่วโลก เธอเป็นหญิงอินเดียคนแรกที่ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพในสเกลใหญ่ขนาดนี้ขึ้นมาได้

ปัจจุบัน Zilingo มีมูลค่าราว 970 ล้านเหรียญ หรือเกือบๆ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจก็คือ ไอเดียของเธอเกิดขึ้นง่ายๆ มาก ด้วยการมาเดินช้อปปิ้งที่ “เจเจ”

“ตอนนั้นเป็นปี 2014 ฉันไปเที่ยววันหยุดกับเพื่อน ที่จริงคือเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานของฉันที่กรุงเทพฯ”

“เราไปที่ตลาดชื่อ จตุจักร” เธอกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้ไปเดินตลาดนัดวันหยุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีร้านค้ากว่า 15,000 ร้านและผู้ค้ากว่า 11,500 คน

“ฉันนี่แบบ ‘ว้าว ของพวกนี้น่าเอาไปขายออนไลน์นะ!’ แต่พ่อค้าแม่ค้าพวกนั้นไม่ได้ขายออนไลน์ เขาทำไม่เป็น นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของฉัน” Bose เล่า

ที่น่าสนใจก็คือ ตอนนั้นอายุเธอเพิ่งจะ 23 และทำงานอยู่กับ Sequoia Capital บริษัท VC ชื่อดังในอินเดีย บ้านเกิดของเธอ

เมื่อกลับไปยังบังกาลอร์ Bose จึงตัดสินใจสร้างตลาดการค้าออนไลน์ขึ้นมา โดยเอาผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาขายของบนแพลตฟอร์ม

“มันเป็นไอเดียแบบเดวิดแอนด์โกไลแอธเลยนะ”

Bose เปรียบเปรยตัวเองเป็นเสมือนแจ็คผู้กล้าลุกขึ้นมาฆ่ายักษ์ เพราะตอนนั้นตลาดอินเดียมีทั้ง Amazon ของอเมริกา, Alibaba ของจีน และ Flipkart ของอินเดียอยู่แล้ว

แต่ที่ Bose กล้าโดดเข้าไป เพราะเธอมองว่า ผู้ค้าตัวเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ยังไม่มีที่ยืน และนี่คือช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครเติมเต็ม ทั้งๆ ที่ SEA เป็นภูมิภาคที่เป็นฮับสำคัญของผู้ผลิตเสื้อผ้าของโลก

“บริษัทเทคโนโลยีมีโอกาสที่ดีกว่า ในการขยายสเกลสิ่งต่างๆ แบบไม่เป็นเส้นตรง” Bose ชี้ชัด

“มีพ่อค้าคนกลางหลายร้อยคนทั่วเอเชียที่ดึงเอาส่วนต่างกำไรไปจากคนที่สมควรได้รับมัน และฉันคิดว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยแก้ตรงนี้ได้”

ด้วยเหตุนี้ เธอจึงปั้น Zilingo ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ามา sign up แล้วเอาสินค้ามา list บนแพลตฟอร์ม ทั้งยังสนับสนุนบริการทุกด้าน ทั้งทางเทคนิค การเงิน และประกัน แลกกับส่วนแบ่ง 10-30% จากยอดขาย

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเธอมีโชคด้วยเหมือนกัน เพราะไม่กี่สัปดาห์หลังจากปิ๊งไอเดียนี้ เธอก็บังเอิญได้พบ Dhruv Kapoor เพื่อนของเพื่อน ซึ่งมาดื่มเบียร์ที่ห้องของเธอ พอรู้ว่าเขาเป็น tech guy ที่เก่งมากๆ เธอจึงเล่าไอเดียนี้ให้ฟัง และเขาก็เอาด้วย และภายในเวลาหกเดือน ทั้งคู่ก็ลาออกจากงานที่ทำอยู่ แล้วเอาเงินเก็บมาปั้นธุรกิจนี้ขึ้นมา

โดยส่วนตัว ผมมองว่าจุดที่น่าชื่นชม Bose ที่สุด ไม่ใช่แค่สายตาที่รู้จัก “มองหาโอกาส” และเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจที่ยังว่างอยู่เท่านั้น แต่คือการที่เธอเป็น “คนอินเดีย” แต่กลับ “อ่านขาด” ตลาดเสื้อผ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่นอกเหนือความคุ้นเคยของเธอ

บทเรียนที่ผมกลั่นออกมาจาก success story นี้ก็คือ ส่วนผสมของความสำเร็จในการทำสตาร์ทอัพใหม่ๆ ต้องมีสามอย่างคือ ไอเดีย + ความรู้ทางเทคโนโลยี + ความกล้า

และถ้าจะให้เพิ่ม “อย่างที่สี่” เข้าไป ก็น่าจะเป็น “ความรู้ทางธุรกิจและการเงิน” เพราะต้องไม่ลืมว่า Bose เคยทำงานอยู่กับบริษัท VC ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้เธอมองออกว่าธุรกิจเช่นใดที่สามารถดึงดูดเงินทุนและscaleup ขึ้นไปได้

ใครที่อยากประสบความสำเร็จอย่าง Bose ขั้นแรกคือต้องหาไอเดียให้ได้ก่อน โดยรู้จักมองหาช่องว่างทางธุรกิจ จากนั้นก็ลองดูว่าตัวคุณมีอะไร อะไรที่ยังขาดไปก็ไปหาพาร์ทเนอร์เก่งๆ มาเติมเต็ม

พวกเราบางคนเดินจตุจักรกันมาเป็นร้อยๆครั้งยังไม่รวย เขามาเดินครั้งเดียวกลับไปปั้นธุรกิจหมื่นล้าน

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้หรอกครับ อยู่ที่ว่าคุณกล้าที่จะฝันหรือเปล่าเท่านั้นเอง


แหล่งที่มา : CNBC คลิกอ่านที่ ลิงก์นี้