ซื้อหุ้นแบบ “วีไอดันโด”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

โมนิช พาบราย เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เขาเป็นทั้งนักธุรกิจ นักลงทุน และนักการกุศล โดยในแวดวงการลงทุนมักรู้จักเขาจากผลงานหนังสือ “นักลงทุนดันโด” ที่นำเสนอวิธีลงทุนความเสี่ยงต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูง จนโด่งดัง

พาบรายเป็นนักลงทุนอีกผู้หนึ่งซึ่งชื่นชม วอร์เรน บัฟเฟตต์ มาก เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า วิธีลงทุนของเขาลอกแบบจากบัฟเฟตต์

ขอยกตัวอย่างการลงทุนของพาบรายเอาไว้ในที่นี้ เพื่อให้เห็นถึงความเฉียบคม

พาบรายเคยไปบรรยายที่ Google โดยบอกว่า มนุษย์เรามีการหมุนเวียนและผสมผสานวิธีเคลื่อนย้ายตัวเอง (mobility) ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยาน ขับรถ เรียกแท็กซี่ กดแอพเรียกอูเบอร์ หรือต่อไปก็อาจจะหันไปใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและอื่นๆ

เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะคาดเดาได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร คนจะหันไปเดินทางด้วยวิธีไหนมากน้อยกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ คือ มนุษย์จะมีวิธีเดินทางเพิ่มขึ้น ในราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะราคาน้ำมันต่ำลงด้วย

พาบรายบอกว่า เขามั่นใจที่สุดว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ คนเราจะมีระยะการเดินทางต่อหัวเป็นจำนวนไมล์ที่สูงขึ้น (per capita mile) คำถามคือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะหาโอกาสลงทุนอย่างไรดี?

คำตอบของพาบราย ไม่ใช่การลงทุนในบริษัทรถยนต์ใช้ไฟฟ้า ในอูเบอร์ หรือบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไร้คนขับอย่าง Google หรือจะเป็นบริษัทอย่าง Tesla แต่คือการลงทุนในบริษัทผลิต “ยาง”

เขาบอกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เขามั่นใจที่สุดว่า ในอีกห้าหรือสิบปีข้างหน้า เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าผลิตออกมามากๆ จะมียางรถยนต์ถูกผลิตออกมามากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ มักใช้ยางรถยนต์ที่บางเพื่อให้น้ำหนักเบาเข้าไว้

พาบรายบอกว่า บริษัทอย่างเทสล่ามียางรถยนต์แบบพิเศษที่บางและเบามากๆ เมื่อยางมีความบาง มันก็ต้องเปลี่ยนบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อบริษัทผลิตยางรถยนต์

ด้วยเหตุนี้ พาบรายจึงเข้าลงทุนในบริษัทในอินเดียที่ผลิตส่วนผสมที่เอาไปใช้ทำยาง ซึ่งเอามาผลิตเป็นยางรถยนต์ โดยซื้อมันในราคาที่ถูกมากๆ นอกจากนี้ยังเข้าซื้ออีกบริษัทหนึ่งในเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในธุรกิจยางรถยนต์ในราคาที่ถูกมากเช่นกัน และก็ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

โมนิช พาบราย ได้ทุนคืนจากบริษัทเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเขาชอบลงทุนในบริษัทที่อัตราราคาต่อกำไร (P/E ) อยู่ที่ไม่เกิน 2-3 เท่า แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ น่าจะอยู่ที่การ “อ่านขาด” โดยนักลงทุนต้องอ่านสภาพการณ์ให้ขาด และเลือกลงทุนในสิ่งที่มีความแน่นอนที่สุดชนิด “ปิดประตูแพ้” ไม่แห่ไปกับฝูงชนที่กำลังบ้าตามกระแสใดกระแสหนึ่ง และซื้อมันในราคาที่ถูกที่สุด (ซึ่งแน่นอนว่าที่พาบรายทำได้เพราะเขาไม่จำกัดตัวเองอยู่กับหุ้นของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่รู้จักหาหุ้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดีย บ้านเกิดของเขา ที่เป็นตลาดเกิดใหม่และยังมีโอกาสลงทุนดีๆ อยู่อีกมาก)

นี่คือการซื้อหุ้นสไตล์ “วีไอดันโด” ที่พาบรายกล่าวไว้ในหนังสือ “นักลงทุนดันโด” ว่า “ออกหัว ผมได้เงินเต็มๆ ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย”

เป็นการลงทุนแบบ “ยังไงก็ไม่แพ้” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขานั่นเอง


ภาพและข้อมูลประกอบจาก : Stock Research Impacts Financial Health | Mohnish Pabrai | Talks at Google ชมได้ที่นี่