เบื้องหลังดีลครั้งประวัติศาสตร์ของ EU

Besuch Bundeskanzlerin Angela Merkel im Rathaus Köln

Besuch Bundeskanzlerin Angela Merkel im Rathaus Köln

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเศรษฐกิจซึ่งได้รับความสนใจที่สุดจากคนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นการบรรลุข้อตกลงของสหภาพยุโรป ในการอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศสมาชิก EU เป็นจำนวนถึง 750,000 ล้านยูโร (37.5 ล้านล้านบาท) โดยมี แอนเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เป็นแกนหลักที่ช่วยให้ดีลนี้สำเร็จลงได้

โดยใน “แพ็คเกจกู้ชีพ” ดังกล่าว เป็นเงินให้เปล่า 390,000 ล้านยูโร และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีก 360,000 ล้านยูโร ซึ่งประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นประเทศทางใต้ของยุโรปที่ยากจนกว่า

ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้เมอร์เคลแสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือในสเกลนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการ “ให้เปล่า” หรือ “ให้กู้”  ประกอบกับการที่ในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ประเทศใน EU ต่างปิดพรมแดน และชี้นิ้วโทษกันไปมาจนกลายเป็นความร้าวฉาน ทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นจุดจบของสหภาพยุโรปก็เป็นได้

ทว่าเมื่อสถานการณ์คับขันเต็มที่ เมอร์เคลกลับ “step up” โดยเป็นผู้ถือธงนำ และชวนประเทศสมาชิกมาปิดดีลร่วมกันจนสำเร็จ สาเหตุสำคัญมาจากชื่อเสียงของเธอในด้านของความรอบคอบ แต่ไหนแต่ไรมา เธอไม่เคยดำเนินนโยบายทางการเงินที่สุ่มเสี่ยง ทำให้ “คุณแม่” แห่งเมืองเบียร์ สามารถโน้มน้าวประเทศสมาชิกให้ยอมรับข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในที่สุด

เมอร์เคลประกาศชัดเจนว่า สถานการณ์ขณะนี้มีอนาคตของ EU เป็นเดิมพันและถ้าไม่ทำครั้งนี้ ทุกประเทศใน EU จะประสบหายนะไปตามๆ กัน

“ถ้าประเทศทางใต้ล้มละลาย สุดท้ายเราก็ต้องล้มละลายด้วยอยู่ดี” หญิงเหล็กฟันธง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ แม้จะมีบางประเทศไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำให้เยอรมนีได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก โดยมองว่าจะทำให้สหภาพยุโรปกลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง

และคนที่ได้รับการชื่นชมสูงสุดคงหนีไม่พ้นตัวเมอร์เคลเอง ซึ่งแสดงภาวะผู้นำออกมาอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะการกล้าปรับเปลี่ยน กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดตามสถานการณ์  ไม่ดื้อรั้น หรือกลัวจะถูกปรามาสว่ากลืนน้ำลายตัวเอง เห็นว่าอะไรถูกก็ทำเลย

ยิ่งเมื่อเทียบกับภาวะผู้นำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเมอร์เคลดูดีขึ้นไปอีก

คุณภาพของผู้นำ เปล่งแสงออกมาเด่นชัดที่สุดในช่วงเวลาแห่งวิกฤตจริงๆ

 —-

ข้อมูลประกอบจาก : WSJ.com