เบื้องหลังดีลครั้งประวัติศาสตร์ของ EU

Besuch Bundeskanzlerin Angela Merkel im Rathaus Köln

Besuch Bundeskanzlerin Angela Merkel im Rathaus Köln

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเศรษฐกิจซึ่งได้รับความสนใจที่สุดจากคนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นการบรรลุข้อตกลงของสหภาพยุโรป ในการอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศสมาชิก EU เป็นจำนวนถึง 750,000 ล้านยูโร (37.5 ล้านล้านบาท) โดยมี แอนเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เป็นแกนหลักที่ช่วยให้ดีลนี้สำเร็จลงได้

โดยใน “แพ็คเกจกู้ชีพ” ดังกล่าว เป็นเงินให้เปล่า 390,000 ล้านยูโร และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีก 360,000 ล้านยูโร ซึ่งประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นประเทศทางใต้ของยุโรปที่ยากจนกว่า

ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้เมอร์เคลแสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือในสเกลนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการ “ให้เปล่า” หรือ “ให้กู้”  ประกอบกับการที่ในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ประเทศใน EU ต่างปิดพรมแดน และชี้นิ้วโทษกันไปมาจนกลายเป็นความร้าวฉาน ทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นจุดจบของสหภาพยุโรปก็เป็นได้

ทว่าเมื่อสถานการณ์คับขันเต็มที่ เมอร์เคลกลับ “step up” โดยเป็นผู้ถือธงนำ และชวนประเทศสมาชิกมาปิดดีลร่วมกันจนสำเร็จ สาเหตุสำคัญมาจากชื่อเสียงของเธอในด้านของความรอบคอบ แต่ไหนแต่ไรมา เธอไม่เคยดำเนินนโยบายทางการเงินที่สุ่มเสี่ยง ทำให้ “คุณแม่” แห่งเมืองเบียร์ สามารถโน้มน้าวประเทศสมาชิกให้ยอมรับข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในที่สุด

เมอร์เคลประกาศชัดเจนว่า สถานการณ์ขณะนี้มีอนาคตของ EU เป็นเดิมพันและถ้าไม่ทำครั้งนี้ ทุกประเทศใน EU จะประสบหายนะไปตามๆ กัน

“ถ้าประเทศทางใต้ล้มละลาย สุดท้ายเราก็ต้องล้มละลายด้วยอยู่ดี” หญิงเหล็กฟันธง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ แม้จะมีบางประเทศไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำให้เยอรมนีได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก โดยมองว่าจะทำให้สหภาพยุโรปกลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง

และคนที่ได้รับการชื่นชมสูงสุดคงหนีไม่พ้นตัวเมอร์เคลเอง ซึ่งแสดงภาวะผู้นำออกมาอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะการกล้าปรับเปลี่ยน กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดตามสถานการณ์  ไม่ดื้อรั้น หรือกลัวจะถูกปรามาสว่ากลืนน้ำลายตัวเอง เห็นว่าอะไรถูกก็ทำเลย

ยิ่งเมื่อเทียบกับภาวะผู้นำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเมอร์เคลดูดีขึ้นไปอีก

คุณภาพของผู้นำ เปล่งแสงออกมาเด่นชัดที่สุดในช่วงเวลาแห่งวิกฤตจริงๆ

 —-

ข้อมูลประกอบจาก : WSJ.com

 

 

 

ประธานเฟดพูดเอง ศก.สหรัฐฯ เสี่ยงสูงมาก ชี้ “ยิ่งจน-ยิ่งเจ็บ”

Jerome_H._Powell

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เจโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกปากเองว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ถือว่า “มีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง” และกลุ่มที่ต้องรับความเสี่ยงสูงสุด คือธุรกิจขนาดเล็ก และคนอเมริกันผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย

ทั้งนี้ พาวเวลล์ได้เข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมธิการกิจการธนาคารของสภาคองเกรสส์เป็นวันแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า แม้จะมีตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังผงกหัวขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะตั้งหลักได้ หลังถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโคโรน่าไวรัส

“ระดับผลผลิตและการจ้างงานยังต่ำกว่าก่อนเกิดโรคระบาดเยอะมาก ยังมีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง เกี่ยวกับจังหวะเวลาและความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” ประธานเฟดผู้ได้รับคำชมอย่างยิ่งหลังออกมาตรการทางการเงินการคลังเพื่ออุ้มเศรษฐกิจอย่างทันท่วงทีกล่าว

“ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ เกิดจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความเป็นไปของโรค และผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค จนกว่าสาธารณชนจะเชื่อว่ามีการคุมโรคได้แล้ว เศรษฐกิจก็ยากที่จะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังบอกอีกว่า ต้องระวังธุรกิจขนาดเล็กให้ดี “มหันตภัยโรคระบาดครั้งนี้นำมาซึ่งความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อธุรกิจขนาดเล็ก”

“หากธุรกิจขนาดเล็กหรือกลางพากันล้มละลายเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เราจะสูญเสียมากกว่าธุรกิจเหล่านั้น เพราะธุรกิจเหล่านั้นคือหัวใจของเศรษฐกิจ และผูกโยงกับตำแหน่งงานของคนหลายต่อหลายรุ่น”

“ที่ผ่านมา ครอบครัวที่มีรายได้น้อย ได้ประสบกับการจ้างงานที่ลดต่ำลงอย่างรุนแรงที่สุด ขณะที่การตกงานของคนแอฟริกันอเมริกัน ฮิสแพนิค และผู้หญิง ก็มากกว่ากลุ่มอื่นๆ” เจ กล่าวต่อ

“ถ้าไม่คุม และไม่พลิกสถานการณ์ให้ได้ ขาลงครั้งนี้จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำของความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นไปอีก”

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นจากบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าได้ยินแล้วยิ่งประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

 

วิกฤตโควิดกับ 2008 ต่างกันอย่างไร?

chart-5222761_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เรียบเรียงจากเว็บ CNBC

ผมได้อ่านเว็บ CNBC เค้าสรุปไว้สั้นๆ ถึงความแตกต่างระหว่างผลกระทบของวิกฤตโควิด 19 กับวิกฤตการเงินปี 2008 หรือที่เรียกว่า “The Great Recession” (เป็นคนละอันกับ The Great Depression เมื่อปี 1929) ที่มีต่อเศรษฐกิจ ว่ามีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง เขาเขียนไว้ค่อนข้างกระชับและน่าสนใจ จึงอยากเอามาถ่ายทอดต่อไว้ในที่นี้ครับ

CNBC บอกว่า ความแตกต่างหลักๆ ระหว่างวิกฤตครั้งนี้กับครั้งที่แล้วมีอยู่สามข้อ

หนึ่ง) บทบาทของธนาคาร

สมัยปี 2008 ธนาคารคือ “ต้นเหตุแห่งปัญหา” ด้วยการขายหนี้อสังหาคุณภาพต่ำ จนกลายเป็นฟองสบู่และสุดท้ายก็แตกออก ก่อนจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินในท้ายที่สุด แต่ครั้งนี้ แบงก์ไม่ใช่ “ต้นเหตุ” เหมือนคราวที่แล้ว

ตรงกันข้าม แบงก์ในยุคนี้ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งก่อน และเตรียมตัวพร้อมรับวิกฤตมาเป็นอย่างดีพอสมควร จึงเป็นฝ่ายช่วย “แก้ปัญหา” มากกว่า “สร้างปัญหา” ด้วยซ้ำไป

สอง) การว่องไวของรัฐบาลและเฟด

สมัยปี 2008 รัฐบาลปล่อยให้เลห์แมน บราเธอร์ส ที่ประสบปัญหาจากหนี้ล้มละลายลงไปในเดือนกันยายนปี 2008 ก่อนที่กระทรวงการคลังจะเพิ่มสภาพคล่องเข้ามาในระบบ และทยอยซื้อสินทรัพย์รวมทั้งลดภาษี

แต่ครั้งนี้ เฟดได้ลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วลงไปใกล้ 0 ในชั่วข้ามคืน และเริ่มโครงการซื้อหุ้นกู้รวมถึง ETF ต่างๆ ทันที จนแม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังชม เจโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดว่าช่วยกู้สถานการณ์ไว้ได้เป็นอย่างดี ก่อนที่รัฐบาลจะออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านมาสมทบ ซึ่งถือว่าลงมือได้รวดเร็วมาก

สาม) ความไวในการร่วงลงของตลาด

สมัย ” Great Recession” ตลาดใช้เวลาถึงปีครึ่ง ระหว่างปี 2007-2009 กว่าจะร่วงลงมา 50% มาแตะจุดต่ำสุดในวันที่ 9 มี.ค. 2009 และพุ่งทะยานขึ้นมาตลอดนับจากวันนั้น โดยใครที่ไม่โดดเข้าไปตอนนั้น ถือว่า “ตกรถยาว” เป็นรถที่ไม่เคยเลี้ยวกลับมาเลยตลอด 12 ปี

แต่ในวิกฤตโควิดครั้งนี้ ตลาดหุ้นใช้เวลาเพียงเดือนกว่าๆ ในการร่วงลงมาถึงจุดต่ำสุด โดยระหว่างวันที่ 19 ก.พ. ถึง 23 มี.ค. S&P 500 ปรับตัวลดลงถึง 34%

และถือเป็นการร่วงลงที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ !!

ทั้งหมดข้างต้นคือข้อมูลจาก CNBC  ซึ่งผมอยากสรุปออกมาว่า บทเรียนที่เราได้จากวิกฤตทั้งสองก็คืออย่าพยายามจับจังหวะตลาดในวิกฤตการเงินคราวที่แล้วไม่มีใครคิดว่าตลาดจะลงไปหนักขนาดนั้นเพราะมันค่อยๆลงกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ถึงก้นเหวแต่แล้วบทจะกลับมาก็กลับขึ้นมาได้ในเวลาเพียงปีกว่าๆและวิ่งยาวมาสิบกว่าปีวิกฤตโควิดครั้งนี้ ตลาดแทบจะเรียกได้ว่า “โดดลงเหว” ในเวลาเพียงเดือนเดียว แต่แล้วก็กลับขึ้นมาสู่ปากหลุมได้ในเวลาแค่สองเดือนกว่าๆ เท่านั้น และไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ดังนั้นจึงเป็นการสูญเปล่าที่จะมัวคิดว่าเราเข้าเร็วไปไหมหรือช้าไปไหม? วอร์เรนบัฟเฟตต์ตกรถไฟไหมทว่าสิ่งที่เราควรทำคือต้องรู้จักธุรกิจที่เราจะลงทุนและรู้ว่าเราจะได้อะไรจากการลงทุนครั้งนี้ณราคานี้

.. และอย่าสติแตกกับความเคลื่อนไหวของตลาดนั่นเอง


credit : อ่านบทความต้นทางได้ ที่นี่