นักวิเคราะห์ดังฟันธง ตลาดหุ้น “เด้งหลอก”

 

image-asset

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

แกรี ชิลลิง นักวิเคราะห์และนักเขียนด้านการเงินชื่อดังของสหรัฐฯ เตือนว่า การเด้งขึ้นของตลาดหุ้นขณะนี้ อาจเป็นการ “เด้งหลอก” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้ง Great Depression หรือ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” ประมาณ 90 ปีที่แล้ว

ชิลลิง ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการลงทุนมาตลอดชีวิตบอกกับ CNBC ว่า ตลาดหุ้นปีหน้าอาจปรับตัวลงได้ถึง 30-40% เมื่อนักลงทุนเห็นแล้วว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกนาน

“ผมคิดว่าเดี๋ยวจะมีลงรอบสอง ซึ่งเหมือนมากๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในยุค 1930 คือผู้คนเริ่มรู้ตัวว่าการถดถอยและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นมันสาหัสขนาดไหน และต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นกลับมา”

ทั้งนี้ ในสมัย The Great Depression หุ้นร่วงลงถึง 48% ในปี 1929 ซึ่งเป็นจุดเร่ิมต้นของวิกฤต แต่แล้วก็เด้งกลับขึ้นมา ณ จุดเดิมในเดือน เม.ย. ปี 1930

ทว่าเมื่อปรากฏชัดแล้วว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นฟอนเฟะเพียงใด ตลาดก็ร่วงลงไปอีกรอบ และครั้งนี้เป็นการร่วงหนักถึง 86% (หากนับจากจุดสูงสุดในปี 1929 ก่อนฟองสบู่แตก จะเท่ากับร่วงถึง 89%)

… เรียกได้ว่าเละเทะไม่มีชิ้นดี

“หุ้นตอนนี้เหมือนตอนที่เด้งกลับมาในปี 1929 มาก คนเชื่อกันสุดๆ ว่าเราคุมไวรัสได้เบ็ดเสร็จ แถมยังอัดเงินกระตุ้นทางการเงินการคลังเข้ามามโหฬารเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ” นักวิเคราะห์อาวุโสชี้

สำหรับตลาดหุ้นไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็เตือนเช่นกันว่า ตลาดหุ้นไทยที่เด้งขึ้นมาเวลานี้ อาจเป็น technical rebound คือขึ้นเพราะลงมาเยอะ

คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ที่หุ้นร่วงลงหนักมาก ก่อนจะเด้งขึ้นมาอย่างแรง แต่แล้วก็ปรับตัวลงอีกครั้ง และขึ้นๆ ลงๆ อีกหลายรอบ ทว่าในที่สุดก็ “หมดแรง” โดยร่วงลงยาวๆ และโงหัวไม่ขึ้นอีกหลายปี

“คำว่า techical rebound คือขึ้นเพราะมันลงมาหนัก แล้วคนเข้ามาช้อน แต่ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นได้ มันจะตกใหม่ และตกแรง นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 40” ต้นแบบแห่งวีไอไทยกล่าว


ข้อมูลประกอบ : CNBC คลิกที่นี่ , คลิปสัมภาษณ์จาก The Secret Sauce คลิกที่นี่

ภาพประกอบจาก : agaryshilling .com

ถอดรหัส ปู่ “ขายหุ้นแบงก์” ทำไม

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

16 พ.ค. 2020

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ช็อคโลกอีกแล้ว ด้วยการเทขายหุ้นสถาบันการเงินออกมาเป็นจำนวนมาก

ที่เยอะสุดคือ โกลด์แมน แซคส์ ซึ่งถือมาตั้งแต่ Financial crisis ปี 2008 โดยนับจากต้นปี หุ้นโกลด์แมนร่วงลงมาถึง 33% หรือ 1 ใน 3

สถานการณ์เช่นนี้ ถ้ากางตำราเดิมของปู่ ต้องเข้าไป “ซื้อเพิ่ม” จึงจะถูก แต่ปรากฏว่าปู่กลับเทขายออกมา

จากรายงานล่าสุดที่แจ้งต่อ กลต. เบิร์คเชียร์เหลือหุ้นในโกลด์แมนไม่ถึง 2 ล้านหุ้น จากเดิม 12 ล้านหุ้น ลดลงถึง 84% จากเดิมมีหุ้นอยู่ในมือมูลค่าประมาณ 2,760 ล้านเหรียญ เหลือแค่ 297 ล้านเหรียญ และก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. ปู่ก็เพิ่งขายหุ้นโกลด์แมนถึง 1 ใน 3 จากที่ถืออยู่เมื่อสิ้นปีที่แล้ว

เรียกได้ว่า “ขายต่อเนื่อง” และ “ขายอุตลุต” จริงๆ

นอกจากนี้ ปู่ยังลดสัดส่วนการถือหุ้นใน เจพี มอร์แกน อีกหนึ่งสถาบันการเงินชั้นนำลงเล็กน้อยประมาณ 3% ยังไม่นับการขายหุ้น US Bancorp ธนาคารขนาดใหญ่ เป็นมูลค่าไม่มากนักประมาณ 16 ล้านเหรียญ ซึ่งเพิ่งเป็นข่าวเมื่อ 2-3 วันก่อนหน้านี้

และยังไม่รวมการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน เวลส์ ฟาร์โก แบงก์ลูกรักของปู่ (ที่เพิ่งเจอปัญหาการทุจริต) ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยขายหุ้นทิ้งไป 14% ซึ่งถือว่าไม่น้อย รวมทั้งอีกหนึ่งธนาคารคือ BNY Mellon ที่เพิ่งลดสัดส่วนลงด้วยเช่นกัน

ที่น่าแปลกใจก็คือ ปู่เพิ่งพูดในการประชุมเบิร์คเชียร์ 2020 ที่ผ่านมาว่า แบงก์ไม่ใช่ธุรกิจที่น่าเป็นห่วงมากนักจากวิกฤตโคโรน่าไวรัส

ปู่บอกว่า “ถ้าปัญหาเศรษฐกิจหนักมากถึงระดับหนึ่ง แม้แต่ธนาคารที่เข้มแข็งก็ยังต้องรับความกดดันอย่างหนัก และเราก็ดีใจมากที่มีระบบธนาคารกลางคอยหนุนหลังพวกเขาอยู่”

“ระบบธนาคารโดยรวมๆ จะไม่เป็นปัญหาอะไร” ปู่ชี้ชัด “พวกเขา (ธนาคาร) ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมห่วงเลย”

ด้วยเหตุนี้ การที่ปู่ขายหุ้นแบงก์ แม้จะไม่พลิกความคาดหมายอะไรมากนัก เพราะขายมาแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ชวนให้สงสัยว่าปู่คิดอะไรอยู่หรือถึงทำเช่นนี้ เป็นการยอม “ขาดทุนกำไร” มหาศาล ชนิดที่ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ปู่ทำ อาจถูกมองว่าเป็น “พฤติกรรมเม่า” ด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้ ผมอยากนำท่านย้อนไปถอดรหัสคำพูดของปู่ ในอีกตอนหนึ่งของการประชุมเบิร์คเชียร์ 2020 ที่ผ่านมา

ปู่เล่าถึงสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ว่า วันที่ 3 ก.ย. 1929 ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ 381.17 จุด ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผู้คนแฮปปี้กันมาก แต่แล้ว พอถึงวันที่ 13 พ.ย. 1929 ผ่านมาเพียงสองเดือนกว่า หุ้นก็ตกลงมาเหลือ 198.69 จุด หรือลดลงมา 48% จากจุด high

ปู่บอกว่า ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำว่าสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ “ตกต่ำ” หรือ depression ผู้คนต่างคิดว่าเป็นแค่ภาวะ “ถดถอย” หรือ recession เหมือนครั้งก่อนๆ

หลังจากนั้นเก้าเดือน ในวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 1930 ปู่ก็ลืมตาออกมาดูโลก โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน (วันศุกร์ที่ 29 ส.ค.) ตลาดปิดที่ 240.42 จุด ปรับตัวขึ้นมา 20% จากเก้าเดือนก่อนหน้า และพอปู่อายุได้สิบวัน หุ้นก็ขึ้นไปแตะที่ 245 จุด

ถึงตรงนี้ ใครต่อใครพากันมองว่ามรสุมร้ายน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว …

ทว่าตลาดกลับ “พังครืน” ลงมาอีกรอบ และรอบนี้คือของจริง !!

จาก high ที่ 245 จุด พอถึงวันที่ 8 ก.ค. 1932 หรือผ่านมาไม่ถึงสองปี ดัชนีกลับลดลงเหลือเพียง 41.22 จุด ทรุดฮวบลงมา 83% จากวันที่ปู่เกิด และลงมา 89% จากจุดพีค โดยเงิน 1,000 เหรียญที่ซื้อ Dow Jones Average ในวันเกิดปู่ จะเหลือแค่ 170 เหรียญ

ย้ำว่าในเวลาไม่ครบสองปีดี

จะเห็นได้ว่า สมัย Great Depression ทีแรกคนยังไม่คิดว่า “รุนแรง” อะไรนัก นึกว่าผ่านมาให้พอสะดุ้ง เดี๋ยวก็คงผ่านไป แม้หุ้นจะตกลงมาเกือบ 50% แต่ก็กลับขึ้นมาพอสมควร นักลงทุนมากมายจึงย้อนเข้าไปในตลาด

ณ จุดนี้เอง ตลาดหุ้นก็พังพาบลงอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นการพังชนิด “ล่มสลาย” ไม่เหลือชิ้นดี ก่อนจะเข้าสู่ภาวะ Depression ที่ไม่ใช่แค่  Recession แต่เป็น “Great Depression” คือ “ตกต่ำครั้งใหญ่” เสียด้วย

ผมจึงขอตั้งข้อสงสัยว่า ในวิกฤตโคโรน่าไวรัสครั้งนี้ การที่ปู่ถือเงินสด 137,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 4.5 ล้านล้านบาท ไม่ยอมซื้ออะไรเลย ทั้งยังทยอยขายหุ้นแบงก์และหุ้นอื่นๆ ทิ้ง

เป็นไปได้ไหมว่า ปู่กำลังมองว่าวิกฤตที่ดูเหมือนเริ่มผงกหัวขึ้นมาอีกครั้งในเวลานี้ สุดท้ายแล้วอาจดิ่งลงเหวลึกยิ่งกว่าเดิม เหมือนฝันร้ายเมื่อ 90 ปีก่อน

ก่อนจบ ขอยกอีกท่อนหนึ่งจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา มาถ่ายทอดไว้

ปู่บอกว่า “เราอาจเจอประสบการณ์ ที่เหตุการณ์อย่างมหาโรคระบาดครั้งนี้เกิดขึ้น ซึ่งมันยากมากเลยที่จะคิดเผื่อไว้ก่อน นี่คือเหตุผลที่เราจะไม่ใช่เงินกู้ หรือมาร์จิ้นเพื่อลงทุน และเราก็บริหารเบิร์คเชียร์กันมาอย่างนี้ เราบริหารมันในรูปแบบที่ในทางทฤษฎี เราจะพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเสมอ”

“พร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด” นี่อาจเป็นเหตุผลแห่ง “แอ็คชั่นช็อคโลก” ของปู่ก็เป็นได้


ที่มาของข้อมูล : คลิปถ่ายทอดสดจาก Yahoo! Finance, CNBC, Bloomberg