โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
(ต่อจากตอนที่แล้ว)
เมื่อ “ฟองสบู่ทิวลิป” แตกออก ผู้คนจำนวนมากแทบต้องสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนถือ “สัญญาซื้อทิวลิป” ที่แลกมาด้วยราคาสูงกว่าตอนเปิดตลาดถึง 10 เท่า ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งได้ดอกทิวลิปจริงๆ มาครอบครอง แต่ดอกไม้ในมือของพวกเขากลับเหลือมูลค่าเพียงเศษเสี้ยวของเงินที่ลงทุนไป
ฝ่ายผู้ขายเองก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน เพราะพวกเขาลงทุนไปแล้วแต่ผู้ซื้อไม่ยอมมารับของ จะไปหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม ศาลก็ไม่ยอมบังคับคดีให้ผู้ซื้อจ่ายเงินตามสัญญา เพราะถือว่าหนี้สินเหล่านั้นเป็น “หนี้สินจากการพนัน” จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
การล่มสลายของทิวลิปเมเนีย ส่งผลให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ เข้าสู่ภาวะซบเซาเป็นเวลานาน
และนั่นคือเรื่องราวของ “ทิวลิปเมเนีย” จากจุดเริ่มต้น ถึงจุดล่มสลาย .. ทีนี้ มาช่วยกันวิเคราะห์ว่า เรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง…
ทิวลิปเมเนีย คือปรากฏการณ์ที่ผู้คนแห่แหนคลั่งไคล้ไปกับอะไรบางสิ่ง เป็นความคลั่งไคล้ที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภ ต้องการจะทำกำไรให้ได้มากๆ ยิ่งราคาถูกปั่นจนสูงขึ้นไป ยิ่งดึงดูดให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดมากขึ้น เพราะทุกคนต่างก็กลัวที่จะ “ตกรถไฟ”
ภาวะ “ฟองสบู่ด็อทคอม” (Dot-com Bubble) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1995-2000 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับทิวลิปเมเนียเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันคือการที่ราคาของสินทรัพย์ ถูกลากขึ้นไปจนสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันแบบสุดกู่
บางบริษัทยังไม่ได้มีตัวตนอะไรขึ้นมาเลย กลับถูกตลาดตีมูลค่าไว้หลายล้านเหรียญสหรัฐฯ และคนจำนวนมากก็แห่กันเข้าไปจองซื้อแบบไม่กลัวตาย
สำหรับเมืองไทยเรา หลายคนคงจำปรากฏการณ์ “จตุคามรามเทพ” ได้ดี นั่นอาจถือเป็น “ทิวลิปเมเนีย” แบบไทยๆ ได้เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า “จตุคาม” นั้น ใครๆ ก็สร้างขึ้นมาได้ แต่ดอกทิวลิปมีความหายาก (Scarcity) ตามธรรมชาติ ซึ่งยิ่งช่วยส่งเสริมให้ราคาของมัน “เฟ้อ” (Inflate) เร็วมาก
สำหรับ “หุ้นบางตัว” ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ถือว่ามีความคล้ายคลึงกับทิวลิปเมเนียไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว คือ “เติบโต – ตื่นตูม – แตกออก” เฉกเช่นเดียวกัน
(บางคนนึกถึงปรากฏการณ์ “ตื่นทอง” ในยุคนี้ ว่าพอจะเปรียบเทียบกับ “ทิวลิปเมเนีย” ได้หรือไม่ ในความเห็นของผู้เขียน การพุ่งสูงขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการในระดับมหภาค ทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงิน สภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก นโยบายการคลังของประเทศมหาอำนาจ ฯลฯ ซึ่งถือว่าซับซ้อนยิ่งกว่าการสูงขึ้นของราคาของดอกทิวลิปมากมายนัก)
มีข้อคิดบางประการ ที่เราน่าจะเรียนรู้ได้จาก “ทิวลิปเมเนีย”
1. อย่า “เห่อ” อะไรตามคนอื่น อะไรที่ใครๆ ก็ปรารถนาอยากได้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะได้มันมาในราคาที่สมเหตุสมผล (Fair Price)
2. พึงระวังสินทรัพย์ใดๆ ที่ราคาของมันสูงกว่ามูลค่าโดยเนื้อแท้ (Intrinsic Value) มากๆ
3. ใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ อย่างระมัดระวัง จงใช้เมื่อเรารู้จักมันอย่างถ่องแท้เท่านั้น จำไว้ว่า อะไรที่ทำให้เรา “รวยแบบก้าวกระโดด” ได้ ก็ทำให้เรา “จนแบบดิ่งนรก” ได้เช่นกัน
สุดท้าย ที่ต้องทำให้เป็นนิสัย คือการ “ยึดโยงอยู่กับเหตุผล” ไม่ใช่ “ยึดโยงอยู่กับสิ่งแวดล้อม” การกล้าคิดต่าง กล้าที่จะคิดอย่างเป็นตัวเอง จักช่วยทำให้เรารอดพ้นจากหายนะทางการเงินใดๆ ได้เสมอ
และนั่นคือเรื่องราวของ “ทิวลิปเมเนีย” หายนะแห่งการแห่ตามกันของฝูงชน ที่เอามาสั่งสอนผู้คนในแวดวงการเงินและผู้คนทั่วโลกได้ตลอดกาลครับ
—————————-
อ่านตอนก่อนหน้าได้ที่นี่
ตอนที่ 1 https://clubvi.com/2012/05/24/tulipmania/
ตอนที่ 2 https://clubvi.com/2012/05/27/tulipmania2/
ตอนที่ 3 https://clubvi.com/2012/05/29/tulipmania3/
อ้างอิง
http://penelope.uchicago.edu/~grout/encyclopaedia_romana/aconite/tulipomania.html
http://en.wikipedia.org/wiki/Tulip_mania
บรรยายภาพ
ภาพบนสุด – ภาพวาดชื่อ Wagon of Fools หรือ “รถขนคนโง่” โดยจิตรกร เฮนริก พอต สะท้อนเหตุการณ์ทิวลิปเมเนีย , ภาพล่าง – ภาพวาดดอกทิวลิป ชื่อ Still Life with Flowers โดย Hans Bollongier จาก wikipedia