โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช และ สุภศักดิ์ จุลละศร
ดังที่ได้อธิบายมาในตอนก่อนหน้านี้แล้วว่า เราสามารถวัดความถูกแพงของหุ้นโดยใช้ค่า P/E (ซึ่งได้จาก “ราคา” หารด้วย “กำไรต่อหุ้น”) แต่มันก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ
หุ้น 2 ตัว แม้ค่า P/E จะเท่ากัน แต่ความน่าซื้ออาจไม่เท่ากันก็ได้
หุ้นบางตัวเราคิดว่า “ถูก” เพราะเห็นว่ามีค่า P/E ต่ำ แต่ที่จริงมันอาจไม่ได้น่าซื้อ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในขาลง ในทางกลับกัน หุ้นบางตัวเราคิดว่า “แพง” เพราะเห็นค่า P/E สูง แต่ความจริงมันอาจไม่ได้แพงเลยเมื่อเทียบกับตัวกิจการที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
คงจะพอเห็นแล้วใช่มั้ยครับว่า ค่า P/E ได้มองข้ามบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญมากๆ ไป และสิ่งนั้นก็คือ “ศักยภาพในการเติบโต” นั่นเอง หากเรามัวแต่มองค่า P/E เราก็ แทบจะ ไม่มีวันได้ซื้อหุ้นที่หลายคนมองว่า “เจ๋ง” ที่สุดในตลาด นั่นก็คือ “หุ้นเติบโต”
ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักใช้ค่า PEG ซึ่งเป็นการวัดความถูกแพงของหุ้นอีกวิธีหนึ่ง โดยให้น้ำหนักกับเรื่องของ “การเติบโต” เป็นสำคัญ
PEG หรือ P/E to Growth เป็นเครื่องมือโปรดของ ปีเตอร์ ลินช์ ผู้จัดการกองทุนแม็คเจลแลน และสุดยอดนักลงทุนคนหนึ่งของโลก เนื่องจากเขาเน้นลงทุนใน Growth Stock หรือ “หุ้นเติบโต” เป็นหลัก ซึ่งทำให้ VI ทั่วโลกที่เดินตามรอยลินช์ นิยมหาค่า PEG เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน
ตัว “G” หรือ Growth นั้นก็คือ “การเติบโต” ในที่นี้หมายถึงการเติบโตของ “กำไร” เท่านั้น (ไม่ใช่ ยอดขาย, เงินปันผล หรืออื่นๆ)
ในการหาค่า PEG เราจำเป็นต้องรู้ทั้งค่า P/E และค่า G แต่ส่วนใหญ่ความยากอยู่ที่การหาตัว G นี่เอง เพราะเราต้องทราบถึงการเติบโตที่ผ่านมาอย่างน้อย 3-5 ปีเสียก่อน โดยหาค่าที่เรียกว่า “CAGR” (Compounding Annual Growth Rate) หรือ อัตราการเติบโตแบบทบต้นของกำไรสุทธิ
ตัวอย่างเช่น “บมจ.โชห่วยหมด” ทำธุรกิจร้านค้าปลีกเครือข่าย มีสาขากระจายทั่วประเทศไทย โดยมีกำไรสุทธิในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาดังนี้
ปี |
กำไร (ขาดทุน) |
อัตราการเติบโต |
2554 |
8,008 |
20.2% |
2553 |
6,663 |
33.5% |
2552 |
4,992 |
51.2% |
2551 |
3,301 |
แม้เราจะเห็นว่าอัตราการเติบโตของ บมจ.โชห่วยหมด ในปี 2554 เท่ากับ (8008 / 6663) – 1 = 20.2% แต่นี่ก็เป็นการเติบโตที่เทียบ “ปีต่อปี” คือ เอากำไรของปี 2554 เทียบกับของปี 2553 ตามสมการ
หากต้องการหาอัตราการเติบโต 3 ปีย้อนหลัง เราจะคำนวณแบบ CAGR ซึ่งก็คล้ายๆ กับสมการข้างต้น เพียงแต่เราเอากำไรของปี 2554 เทียบกับของปี 2551 แทน และเนื่องจากเป็นการเทียบข้ามไป 3 ปี เราจึงต้องถอดรากที่ 3 ด้วย ดังสมการ
เมื่อกดเครื่องคิดเลขก็จะได้ค่า CAGR ย้อนหลัง 3 ปี เท่ากับ 34.4% ปัญหาก็คือ เราจะเชื่ออัตราการเติบโตแบบปีต่อปี (20.2%) หรือว่าแบบ CAGR (34.4%) ดี ซึ่งผมมองอย่างนี้ครับ…
หากย้อนกลับไปดูอัตราการเติบโตแบบปีต่อปีในตาราง เราจะพบว่าการเติบโตของกำไรในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าบริษัทเก่งน้อยลง แต่น่าจะเป็นเพราะ “ฐานกำไร” ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแม้กำไรของบริษัทจะยังคงเติบโตได้ปีละ 2 พันล้านบาท แต่เมื่อคิดการเติบโตเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะดูว่ามันค่อยๆ ลดลง
เมื่อมองไปในอนาคต ผมจึงค่อนข้างเทใจให้อัตราการเติบโตที่ 20.2% มากกว่า และจะใช้ตัวเลขนี้เป็น “ค่า G” ในกรณีของ บมจ.โชห่วยหมด ทีนี้พอได้ค่า G ออกมาก็ไม่มีอะไรยากแล้วครับ เอา P/E ตั้ง หารด้วย G ก็ได้ค่า PEG ออกมาแล้ว
สำหรับเกณฑ์โดยทั่วไป ค่า PEG ของกิจการที่เหมาะสมไม่ควรเกิน “1” มิฉะนั้นอาจมองได้ว่าแพงเกินไปเมื่อเทียบกับการเติบโต
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ … “ค่า G เท่ากับเท่าไร ค่า P/E ก็ไม่ควรสูงกว่านั้น!!”
จากตัวอย่างเดิมอีกครั้ง สมมติค่า P/E ของ บมจ.โชห่วยหมด อยู่ที่ 33.5 เท่า, เอา 33.5 ตั้ง หารด้วย 20.2 (ตัดเครื่องหมาย เปอร์เซ็นต์ ออกนะครับ) จะได้ค่า PEG เท่ากับ 1.66 จะเห็นได้ว่า แม้ตัวธุรกิจจะดีเยี่ยม แต่ราคาหุ้นค่อนข้างสูงแล้ว ผู้จะเข้าไปลงทุนจึงควรคิดพิจารณาให้ดี
นี่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี อาทิ บริษัท ก.ไก่ กำไรสุทธิโตแค่เฉลี่ย 2% ต่อปี นั่นไม่ได้แปลว่าค่า P/E ของบริษัท ก.ไก่ ควรเท่ากับ 2 ด้วย หรือหากการเติบโตของกำไรติดลบ (กำไรหดตัว) ก็ไม่ได้หมายความว่าค่า P/E ต้องติดลบด้วยจึงจะดี
แม้ PEG จะเป็นวิธีที่มีประโยชน์ เพราะเป็นการวัดความถูกแพงของราคา โดยเอาปัจจัยเรื่องของ “การเติบโต” มาร่วมคิดคำนวณ แต่ข้อเสียของมันก็คือ เราต้องใช้ข้อมูล “ในอดีต” เพื่อคาดการณ์ไป “ในอนาคต” ซึ่งย่อมเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้
การหา PEG อาจทำได้ไม่ยากนัก สำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจมานานพอสมควร มีความ “อยู่ตัว” ในระดับหนึ่ง มีแผนการดำเนินธุรกิจค่อนข้างชัดเจน ซึ่งทำให้คาดการณ์กำไรในอนาคตได้ง่าย แต่หากเป็นกิจการที่มีความแน่นอนต่ำ เช่น เพิ่งเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ก็อาจทำให้คาดการณ์กำไรได้ยาก ซึ่งทำให้หา PEG ได้ยากไปด้วย
ตัวอย่างเช่น บริษัท K เดิมทำธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ประสบปัญหาทางการเงินมาโดยตลอด ต่อมาผู้บริหารได้ปรับโมเดล โดยหันมาขายเครื่องสำอาง และดูท่าว่ากำไรจะพลิกฟื้นขึ้นมา แบบนี้ทำนายการเติบโตของกำไรได้ยากมาก เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า แม้จะได้ค่า G ออกมา ค่า G นั้นก็ย่อมเชื่อถือไม่ได้ ค่า PEG จึงเชื่อไม่ได้เช่นกัน
หรือบางกรณี แม้กำไรย้อนหลังของบริษัทจะมีความสม่ำเสมอ เช่น 5 ปี ที่ผ่านมา บริษัท ก.ไก่ โตเฉลี่ย 6% แต่ ผู้บริหารเพิ่งออกมาประกาศว่า จะเข้าลงทุนในกิจการใหม่ๆ โดยมุ่งมั่นจะโตให้ได้ 20% แบบนี้เราก็ต้องชั่งใจว่า สิ่งที่ผู้บริหารพูดนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หากมีความเป็นไปได้สูง มีแผนธุรกิจชัดเจน การเติบโตในอีก 5 ปีต่อไป ก็คงจะมากกว่า 6%
นอกจากนี้ “หุ้นวัฏจักร” ก็เป็นอีกจำพวกหนึ่งที่ใช้อดีตทำนายอนาคตได้ยากมาก เพราะกำไรมีการขึ้นลงอยู่เสมอ รอบหนึ่งอาจจะหลายปี จึงทำนายอนาคตได้ลำบาก เช่น พวกธุรกิจเดินเรือ ธุรกิจถ่านหิน ฯลฯ
หากจะเปรียบ P/E เป็นอาวุธ ก็คงเป็น “อาวุธเบา” ยิงเข้าเป้าได้ไม่ยาก แต่หวังผลอะไรมากไม่ได้ ส่วน PEG เปรียบเสมือน “อาวุธหนัก” ประกอบก็ลำบาก ใช้ก็ยาก แต่อานุภาพทำลายล้างมากมายนัก เรียกว่าช่วยให้ “รบชนะ” ได้ทันที นักลงทุนที่หวังผลไกล และไม่ได้หวังแค่ของถูก น่าจะศึกษาไว้ประกอบการลงทุนนะครับ
ขอบคุณครับพี่
ยินดีครับ ^^
เขียนเข้าใจง่ายทุกบทความเลย ขอบคุณมากครับ
ยินดีและขอบคุณที่ติดตามครับ 🙂
เห็นภาพชัดเจนเลยค่ะ ย่อยออกมาได้เยี่ยมจริงๆ
ขอบคุณที่ชมครับผม ^^
เจ้าของกระทู้ พี่ครับผมหาราก ที่3ไม่เป็นอะครับกดเครื่องคิดเลขเท่าไหร่ก็ไม่ได้สอนทีครับ
ผมพบปัญหาว่า ถ้าปีล่าสุดหรือปีฐาน ปีใดปีหนึ่งขาดทุน จะไม่สามารถคำนวณอัตราการเติบโตย้อนหลังที่จำนวนปีเป็นเลขคู่ได้
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าถ้าผลประกอบการของบ.โชห่วยหมด มีข้อมูลย้อนหลังไปมากกว่าในตาราง และกำไรมาทุกปี แต่ปี 2544 กลายเป็นขาดทุน (-8,008) เราจะไม่สามารหาอัตราการเติบโตย้อนหลัง 2, 4, 6,… ปีได้
อย่างนี้ควรทำอย่างไรดีครับ
ถ้าบริษัทมีการ “ขาดทุนชั่วคราว” ก็สามารถปรับวิธีได้ด้วยการเปลี่ยนจากการคำนวณ “กำไรสุทธิ” มาเป็น “กำไรจากการดำเนินงาน” ครับ แต่ถ้าบริษัทไม่ได้ขาดทุนชั่วคราว ทว่าเป็นบริษัทที่มีกำไรลุ่มๆ ดอนๆ เป็นปกติ … growth ก็คงคำนวณได้ยาก และถึงคำนวณออกมาก็เชื่อถือไม่ได้ จึงไม่ควรลงทุนในบริษัทนั้นๆ ครับ
ขอถามหน่อยนะครับว่า ไม่ว่า การหา G ด้วยวิธีแบบไหนก็ตาม ตามที่พี่บอกมาเนี่ย เมื่อนำค่า G ที่ได้มา เตรียมหารกับ ค่า P/E คำถามผมก็คือ ค่า P/E ควรเอาของปีอะไรมา หรือ ต้องหาค่าเฉลี่ยของ P/E อีก หรือ ค่า P/E ควรเทียบกับค่า G ของแต่ละปี ไปเลย
รบกวนตอบด้วยนะครับ
เอาของ ราคาปัจจุบันสิครับ
เพราะเราซื้อ ณ ราคาปัจจุบันไม่ใช่หรอครับ
– -‘
คำนวณแล้ว PEG ติดลบ แสดงว่าไม่น่าลงทุนใช่ไหมครับ
ขอบคุณมากค่ะ ไม่เคยอ่านที่ไหนแล้วเข้าใจขนาดนี้เลย
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ