โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
สืบเนื่องจากกรณีการใช้อินไซด์และปั่นหุ้นที่เกิดขึ้นกับหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ซึ่งผมได้ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนฯ ที่สภาผู้แทนราษฏร และทางคณะกรรมการก็ได้ไปยื่นเรื่องต่อที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ กลต. แล้วนั้น
เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้ไปขอเข้าพบนักกฎหมายที่คร่ำหวอดกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ท่านหนึ่ง เพื่อให้ช่วยไขข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดผู้ที่ “ปั่นหุ้น” หรือใช้ “ข้อมูลวงใน” ในตลาดหุ้นไทย จึงไม่เคยต้องรับโทษถึงขั้น “จำคุก” เหมือนที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในต่างประเทศ และได้รับคำอธิบายที่น่าสนใจพอสมควร
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะไปพบนักกฎหมายคนดังกล่าว ผมได้ศึกษาข้อมูลล่วงหน้าไปพอสมควร จึงขอสรุปรวมความ ทั้งข้อมูลที่ได้ศึกษามา บวกกับข้อมูลที่ได้รับจากการหารือ ไว้เป็นข้อๆ เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ ดังต่อไปนี้นะครับ
1) ตาม พรบ.หลักทรัพย์ 2535 ความผิดกรณีปั่นหุ้นหรือใช้ข้อมูลวงในนั้น เดิมทีเดียวเป็น “ความผิดอาญา” มีโทษทั้งปรับและจำคุก
2) อย่างไรก็ตาม ใน พรบ. หลักทรัพย์ 2535 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 (ไม่ใช่ฉบับล่าสุด) มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวด 12/1 เกี่ยวกับ “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” มาตรา 317/4 กำหนดโทษสำหรับการกระทำที่เราเรียกว่า “ปั่นหุ้น” และ “ใช้อินไซด์” ไว้เป็นสองส่วนหลักๆ ดังนี้
A. “เงินชดใช้” คือ ได้ประโยชน์มาเท่าไร ก็ให้คืนให้รัฐไปเท่านั้น
เช่น นาย ก. ใช้อินไซด์ ได้ประโยชน์มา 100 ล้านบาท ก็ต้องใช้คืนให้รัฐ “100 ล้านบาท”
B. “เงินค่าปรับ” เป็นเงินที่ต้องจ่ายนอกเหนือจาก A คิดเป็นมูลค่าไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ
เช่น นาย ก. ใช้อินไซด์ ได้ประโยชน์มา 100 ล้านบาท ต้องเสียค่าปรับสูงสุด “200 ล้านบาท” (100 ลบ. x 2) (หมายเหตุ : เงินค่าปรับต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท)
เพราะฉะนั้น นาย ก. อาจเสียเงินรวมสูงสุดจากการใช้ข้อมูลอินไซด์ 100 + 200 = 300 ล้านบาท
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “โกงหุ้น” ได้เงินมา 100 ล้านบาท หากถูกจับได้ อาจต้อง “เสียเงิน” รวมถึง 300 ล้านบาท ถือว่าหนักหนาสาหัสเอาการเลยทีเดียว
แม้กระนั้น นั่นก็ยังเป็นโทษ “ทางแพ่ง” คือแค่ “เสียเงิน” จึงกลับมาที่ข้อสงสัยเดิมของผมก็คือ เพราะเหตุใดผู้กระทำผิดเกี่ยวกับหุ้น จึงไม่ต้อง “ติดคุก” ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็น “ความผิดอาญา” (ตามที่บอกไปในข้อที่ 1)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักกฎหมายคนดังกล่าวให้คำตอบว่า
3) เนื่องจากมาตรา 317/7 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) วรรคหนึ่ง ระบุไว้ว่า
“เมื่อคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งเห็นควรให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิด และได้กำหนดวิธีการในการบังคับตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามควรแก่กรณีแล้ว และผู้กระทำความผิดยินยอมที่จะปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่กำหนด ให้สำนักงานจัดทำบันทึกการยินยอม และเมื่อผู้นั้นได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว ให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ”
นอกจากนี้ ตามมาตรา 317/8 “ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดไม่ยินยอมที่จะระงับคดีตามมาตรา 317/7 ให้สํานักงานฟ้องผู้กระทําความผิดต่อศาลเพื่อกําหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่ผู้กระทําความผิดนั้นต่อไป…” และ “เมื่อศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งกําหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งและผู้กระทําความผิดได้ชําระเงิน ครบถ้วนแล้ว ให้สิทธิในการนาคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ”
(อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ยอมปฏิบัติตามค าพิพากษา ก็อาจถูกดำเนินการทางอาญาได้อยู่)
สรุปก็คือ ถ้าผู้กระทำความผิดยอมรับโทษทางแพ่ง ก็ทำให้ไม่ต้องถูกฟ้องอาญาอีกต่อไป
และนี่เอง คือคำตอบว่าเพราะเหตุใด คนกระทำผิด “เสียเงิน” แล้ว จึงไม่ต้อง “ติดคุก”
ได้ยินดังนี้ ผมก็อดสงสัยต่อไปไม่ได้ว่า เพราะเหตุใดกฏหมายจึงระบุไว้เช่นนี้ เหตุใดเมื่อ “คนผิด” ยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง กฏหมายจึงกำหนดให้สิทธิในการฟ้องอาญา “หมดไป” จนไม่มีใครต้องเข้าคุกเป็นเยี่ยงอย่าง
ในตอนหน้าจะมาอธิบายต่อครับ