ว่าด้วยเรื่อง “การเพิ่มทุน”

เพิ่มทุนเพื่อ

โดย ชนิดา พัธโนทัย (CPA)

ช่วงนี้มีการ “เพิ่มทุน” ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นบ่อยมาก ดีลใหญ่ๆ ก็อย่างเช่น ทรู กับ China Mobile และล่าสุด BGH ก็เพิ่งประกาศเพิ่มทุนไปเมื่อ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการเพิ่มทุน ขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ

จุดประสงค์ของการเพิ่มทุน แบ่งออกได้เป็น 3 ข้อ คือ

1) เพื่อการขยายธุรกิจ
2) เพื่อใช้คืนหนี้ เงินกู้ต่างๆ
3) เพื่อล้างขาดทุนสะสม (ให้สามารถจ่ายปันผลได้ในอนาคต)

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนแต่ละครั้ง ย่อมมีทั้ง ข้อดี และ ข้อไม่ดี อยู่ที่ว่าบริษัทใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

การเพิ่มทุนที่ดี คือการเพิ่มทุนที่ทำให้มูลค่าของกิจการเพิ่มสูงขึ้น

อาทิ ใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ เช่น เพิ่มกำลังการผลิตครั้งใหญ่ ขยายสาขา หรือเอาเงินไปซื้อกิจการ (Acquisition) หรือควบรวมกิจการ (Merger) กับบริษัทอื่น เพื่อต่อยอดธุรกิจของบริษัท กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรเข้ามามากขึ้น

แต่แน่นอนว่า … การเพิ่มทุนจะทำให้ “จำนวนหุ้น” เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ “สัดส่วนการถือหุ้น” ของผู้ถือหุ้นลดลง หรือที่เรียกว่า “Dilution Effect” 

กุญแจสำคัญก็คือ เราต้องมองให้ออกว่า การเพิ่มทุนดังกล่าว จะทำให้บริษัทได้กำไรกลับมามากกว่าเดิมหรือไม่ และกำไรนั้นเป็นกำไรที่ยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งจะทราบได้โดยดูจากตัวเลขสองตัว นั่นคือ EPS และ ROE

EPS (กำไรต่อหุ้น)

หาก EPS หรือ“กำไรต่อหุ้น” ยังคงเดิม หรือ “เพิ่มขึ้น” แปลว่าการเพิ่มทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถ

1) เพิ่มรายได้ (จากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น สาขาที่มากขึ้น ฯลฯ) หรือ                                                2) ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

ข้อ 2 นี่สำคัญค่ะ ถ้าเป็นการ “ซื้อ” หรือ “ควบรวมกิจการ” กับ “บริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน” ย่อมจะทำให้เกิด Synergy ทางธุรกิจ และก่อให้เกิด “ความประหยัดจากขนาด” หรือ Economies of scale จนสามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก EPS ย่อมจะลดลงก่อน เนื่องจากมี “ตัวหาร” มากขึ้น คือมีจำนวนหุ้นเยอะขึ้น แต่ในระยะยาว หากธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจริง ผลดีก็ย่อมสะท้อนเข้ามาเอง 

ROE(อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น)

หากบริษัทสามารถ maintain ROE  ให้อยู่ในระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้น แปลว่าการเพิ่มทุนครั้งนั้น “เป็นบวก” แต่ก็แน่นอนว่าในช่วงต้น ROE ของบริษัทจะลดลง เพราะ “ตัวฐาน” หรือ “ตัว E” ใหญ่ขึ้น จาก “ทุน” ที่เพิ่มเข้ามา 

ทว่าหากธุรกิจทำกำไรได้มากขึ้น “กำไรสุทธิ” หรือ “ตัว R” ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และจะทำให้ ROE กลับสู่ระดับเดิม หรืออาจจะสูงขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

ช่วงเวลากว่าที่ ROE จะกลับคืนสู่จุดเดิม มองในอีกแง่ก็คือ “payback period” หรือ “ระยะเวลาคืนทุน” (ในรูปอัตราส่วน) จากการเพิ่มทุนในครั้งนั้นนั่นเอง  

ที่กล่าวมา คือ ตัวเลขทางการเงินสองตัว ที่เป็น “ตัวบ่งชี้” ผลของการเพิ่มทุน ได้ดีที่สุด

อีกกรณีหนึ่งคือการ “เพิ่มทุนเพื่อใช้หนี้” กรณีนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการที่บริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) หรือ พันธมิตรทางการเงิน (Financial Partner) เข้ามา

โดยขั้นแรกก็จะนำเงินมา “ลดหนี้” ก่อน เพื่อให้ต้นทุนทางทางการเงินต่ำลง (จะได้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง) แล้วค่อยขยายธุรกิจในขั้นต่อๆ ไป วิธีนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง และช่วยเพิ่มความสามารถทางการเงินของบริษัท

ทั้งหมดนี้ เป็นลักษณะของการเพิ่มทุนที่ดี คราวหน้าจะมายกตัวอย่างว่าบริษัทไหนบ้างที่เพิ่มทุนแล้ว “ดี” รวมทั้งจะมาอธิบายขยายความว่าลักษณะของการเพิ่มทุนที่ “ไม่ดี” เป็นอย่างไร ดูได้จากอะไร

โปรดติดตามค่ะ

1 thought on “ว่าด้วยเรื่อง “การเพิ่มทุน”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s