โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ผลประกอบการของแอร์เอเชียไตรมาส 3 ออกมาดีมากครับ ทั้งบริษัทแม่ของแอร์เอเชียที่มาเลเซีย รวมทั้ง “ไทยแอร์เอเชีย” ด้วย
ได้อ่านบทความของ David Fickling ใน Bloomberg.com เขียนวิเคราะห์การพลิกฟื้นผลประกอบการกลับมาทำกำไรของโลว์คอสต์หมายเลขหนึ่งเจ้านี้ พบว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
ในรอบห้าปีที่ผ่านมา แอร์เอเชียประสบผลขาดทุนมาตลอด มีเพียง “สาม จาก ยี่สิบไตรมาส” ที่มีกำไร แต่สาเหตุที่กลับมาทำกำไรได้ Fickling วิเคราะห์ไว้น่าสนใจมากๆ ว่า …
เป็นเพราะธุรกิจหลักของแอร์เอเชียมิใช่ธุรกิจ “สายการบิน” อีกต่อไป แต่เป็นธุรกิจ “เช่าซื้อเครื่องบิน” ต่างหาก !!
ทราบไหมครับว่า แอร์เอเชียเพิ่งสั่งเครื่องบินถึง 575 ลำ จากบริษัทแอร์บัส (โมเดล Airbus Group SE ปัจจุบันนำส่งแล้วร้อยกว่าลำ เหลืออีกสี่ร้อยกว่าลำ) เป็นออเดอร์ขนาดใหญ่เกือบที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งทำให้มีอำนาจต่อรองกับแอร์บัสสูง และได้รับส่วนลดเยอะมาก
จากนั้น แอร์เอเชียก็บริหารฝูงบินที่ซื้อมา (ซึ่งมีอยู่มากเกินกว่าความจำเป็นในการใช้งานของตัวเอง) บ้างก็ขายเครื่องต่อให้สายการบินที่เล็กกว่า บ้างก็ให้เช่าซื้อ แล้วก็ซื้อกลับมา โดยทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจนี้ มากกว่ารายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินเสียด้วยซ้ำ
และเร็วๆ นี้ โทนี่ เฟอร์นันเดซ ซีอีโอมือทอง จะแยกส่วนธุรกิจนี้ออกมาเป็นอีกหนึ่งบริษัท เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ และขจัดคำครหาในเรื่องของการบันทึกบัญชี (เพราะส่วนหนึ่งของฝูงบินถูกลีสให้กับบริษัทในเครือของแอร์เอเชียเอง รวมทั้งไทยแอร์เอเชียด้วย) โดยเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะทำเงินสดๆ ได้ถึง 1,000 ล้านเหรียญ
เชื่อไหมครับว่า “ค่าตั๋วเครื่องบิน” อย่างเดียว ไม่เคยครอบคลุม “ต้นทุนจริง” ของแอร์เอเชียได้เลย แม้จะรวมเอาค่าธรรมเนียมหยุมหยิมสารพัด ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมในการจองที่นั่ง ค่าน้ำหนักสัมภาระ รวมทั้งค่าอาหารที่ผู้โดยสารซื้อกิน และรายได้จากสินค้าดิวตี้ฟรีที่ขายบนเครื่องบิน อย่างมากก็แค่ “เท่าทุน” เท่านั้น
แอร์เอเชียตัวแม่ จึงหันมาเน้นธุรกิจบริหารฝูงบิน และใช้มันเป็นตัวจักรหลักในการประคองธุรกิจกลับมาจนมีกำไรได้สำเร็จ
… จะว่าไปก็เหมือนกับการเอาสินทรัพย์ดำเนินงานในมือมา “เล่นแร่แปรธาตุ” ดีๆ นี่เอง
นักลงทุนจำนวนมากไม่เคยทราบความจริงตรงนี้ ทำให้หุ้นของแอร์เอเชียถูกมองข้ามจากใครหลายๆ คน PE จึงอยู่แค่ 6 เท่ากว่าๆ ขณะที่ ROE อยู่ที่ 26 เท่า เมื่อเทียบกับเซาธ์เวสต์ ที่ ROE 30 เท่า แต่ PE อยู่ที่ 13 เท่า แพงกว่าแอร์เอเชียเยอะ
ทีนี้ มาดู “ไทยแอร์เอเชีย”กันบ้างนะครับ ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ โลว์คอสต์หมายเลขหนึ่งแห่งสยามประเทศ ทำผลประกอบการออกมาได้สวยงามยิ่ง รายได้เพิ่มขึ้น 12% yoy แต่กำไรก่อนภาษีและดอกเบี้ย (EBIT) เพิ่มขึ้นถึง 168% yoy ทั้งหมดนี้ บริษัทชี้แจงว่าเกิดจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 21% ขณะที่ราคาน้ำมันโลกลดลง
ในส่วนของกำไรสุทธิยิ่งแล้วใหญ่ เพิ่มถึง 330% ส่วนหนึ่งเกิดจากเอาผลขาดทุนสะสมไปช่วยลดภาษี และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (แต่ตัวเลขนี้ไม่สำคัญเท่ากับ EBIT ซึ่งบ่งบอก performance จริงของบริษัท) และหากเทียบเก้าเดือนแรกปีนี้ กับเก้าเดือนแรกปีที่แล้ว รายได้เพิ่มขึ้น 14% EBIT เพิ่มขึ้น 85% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 127%
จะเห็นได้ว่าผลประกอบการของแอร์เอเชียออกมาน่าประทับใจมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีธุรกิจอื่นใด แต่ PE ของบริษัทอยู่ที่ 15 เท่า แพงกว่าตัวแม่ที่มาเลย์เยอะ
โดยสรุป ธุรกิจสายการบิน เป็นธุรกิจที่อยู่ใน red ocean หรือ “ทะเลแดง” ต้องแข่งขันกันเหน็ดเหนื่อยไปตลอด ชนะก็เหนื่อย แพ้ยิ่งเหนื่อย
แต่ ณ นาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ชนะในธุรกิจทะเลแดงดังกล่าว มิใช่สีใดอื่น นอกจาก “สีแดง” เหมือนทะเลเดือดนั้นเองครับ
——————
Image Credit : wikipedia , picture by Mehdi Nazarinia (GNU Free Documentation License)
ข้อมูลประกอบจากบทความ : Air Asia’s new lease of Life โดย David Fickling จาก Bloomberg.com