โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
การลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging หรือ DCA หรือที่หลายคนเรียกว่าการ “ออมหุ้น” นั้น เป็นวิธีลงทุนที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง เนื่องจาก “ไม่ยาก” ใครๆ ก็ทำได้ เพียงเลือกหุ้นดีแล้วทยอยซื้ออย่างต่อเนื่องเป็นประจำโดยไม่ต้องสนใจราคา ก็อาจได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจไม่ใช่น้อย
อย่างไรก็ตาม ผมพบช่องโหว่ในการลงทุนแบบ DCA ของนักลงทุนจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับอาจน่าผิดหวัง จึงขอสรุปออกมาเป็น “ข้อห้าม 4 ประการ” เพื่อให้ท่านเอาไปปรับใช้กัน ดังนี้ครับ
1. อย่าเน้นหุ้น Value ต้องเล็งหุ้น Growth
การทำ DCA ใช้ได้ผลดีกับ growth stock หรือ “หุ้นเติบโต” เนื่องจากราคาของหุ้นเติบโตนั้นมักจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ การทยอยซื้อทุกเดือนจึงช่วยให้เราได้ต้นทุนระดับกลางๆ ไม่แพงเกินไป และเมื่อหุ้นนั้นโตขึ้น เราก็จะได้กำไรอย่างต่อเนื่อง
ในทางตรงข้าม หุ้น Value คือหุ้นที่ราคาต่ำ เราจึงไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุนมากนัก การทยอยซื้อทุกเดือนเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนจึงอาจไม่จำเป็น ทั้งยังเป็นการเอาเงินไปจมไว้ สู้หาโอกาสที่ราคาลงมาต่ำมากๆ แล้วค่อยเข้าซื้อทีเดียวเยอะๆ อาจจะคุ้มกว่า
ดังนั้น ขอให้เล็งหุ้น growth เป็นหลักของพอร์ต หากจะมีหุ้น Value ขอให้เป็นส่วนน้อยเท่านั้น
2. ไม่ควรทำในตลาด Sideways ระยะยาว
ตลาด sideways คือตลาดที่ราคาหุ้นต้วมเตี้ยม ดังนั้น แม้เราจะซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนไปเรื่อยๆ โอกาสได้กำไรมากๆ ก็คงจะยาก เพราะราคาหุ้นจะทรงๆ ไป อย่างไรก็ตาม หากเราเลือกหุ้นดีเป็นส่วนใหญ่ การทำ DCA ก็คงไม่ทำให้เราขาดทุน แต่อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนดีเท่ากับการหาจังหวะที่ตลาดปรับตัวลง “อย่างมีนัยสำคัญ” แล้วค่อยเข้าซื้อหุ้นเหล่านั้น
3. อย่ากระจายเพื่อกระจาย
หากเราสร้างพอร์ต DCA โดยซื้อหุ้นไว้หลายตัว เราควรเลือกหุ้นในหลายๆ เซคเตอร์เพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ไม่จำเป็นต้องเลือกหุ้นที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว มิเช่นนั้น เราอาจต้องเอาหุ้นในเซคเตอร์ที่ไม่ดีเข้ามารวมไว้ด้วย เพียงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีว่าได้กระจายความเสี่ยงแล้ว (diversify for the sake of it)
ตัวอย่างเช่น เราไม่ชอบหุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพราะมองว่าโอกาสเติบโตมีน้อย แต่เรามีหุ้นค้าปลีก หุ้นโรงพยาบาล หุ้นพลังงาน และหุ้นสื่อสารอยู่แล้ว สุดท้ายเราก็ยังไปซื้อหุ้นอสังหา เพราะนึกเซคเตอร์อื่นไม่ออก นี่คือการ diversify แบบไม่จำเป็น
ผมจึงแนะนำว่า ให้กระจายเซคเตอร์เพื่อลดความเสี่ยง แต่อาจอยู่ภายใต้ “theme” เดียวกัน โดยมองอนาคตเป็นหลัก เช่น ถ้าเรามองว่าจุดแข็งของประเทศไทย คือ “การท่องเที่ยว” เราก็อาจเลือกหุ้นโรงแรม หุ้นสนามบิน หุ้นโรงพยาบาล ซึ่งทั้งหมดล้วนได้ประโยชน์จาก theme การท่องเที่ยว โดยไม่ใช่หุ้นในเซคเตอร์เดียวกัน ทำเช่นนี้น่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าการสร้างพอร์ต DCA แบบ “กระจายไว้ก่อน” เป็นไหนๆ
4. ไม่มีม้าตัวไหนวิ่งเร็วทุกรอบ อย่าเปลี่ยนหุ้นที่ไม่ดีเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
หุ้นก็เหมือนกับม้าแข่ง ม้าที่เก่งยังไงก็เก่ง แต่อาจมีบางรอบที่มันขาเจ็บ ทำให้วิ่งได้ไม่ดี ดังนั้น อย่าเปลี่ยนหุ้นตัวไหนออกจากพอร์ต DCA เพียงเพราะสถานการณ์ของมันไม่ดี ณ ตอนนั้น หรือเพราะราคากำลังลง “โดยที่พื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนไป”
มิเช่นนั้น หากเราเปลี่ยนหุ้นออก แล้วต่อมามันกลับมาดีอีกครั้ง เราก็จะเสียโอกาส หรือถ้าเรากลับเข้าไปซื้ออีก ก็จะกลายเป็นว่าตอนราคาถูกไม่ซื้อ พอราคาแพงแล้วถึงซื้อ สรุปแล้วการทำ DCA ของเราจึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะไม่ได้ช่วยให้ได้ “หุ้นดี ต้นทุนต่ำ” แต่อย่างใด (ใครที่จะเอาหุ้นโรงพยาบาลออกจากพอร์ต DCA ตอนนี้ จึงควรคิดให้ดีๆ)
ทั้งหมดนี้คือ 4 ข้อห้าม สำหรับการลงทุนแบบ DCA ซึ่งทุกท่านควรทราบเอาไว้ เพราะอย่าลืมว่า แม้วิธีลงทุนที่ “ชัวร์” ที่สุด หากทำแบบ “ไร้หลัก” ก็อาจล้มเหลวได้ครับ
สัมมนา Valuation & DCF 15 ก.ค. นี้ ใกล้เต็มแล้วครับ สนใจคลิกที่ลิงก์เลย https://clubvi.com/valuation6/