โชคดีที่ไม่มีเงินสด

smiley-2979107_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หุ้นไทยที่ปรับตัวลงมากว่าสิบเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี ทำเอานักลงทุนจำนวนมากอกสั่นขวัญหาย แม้ผมจะบอกให้นักลงทุนใจเย็นๆ อย่าหวั่นไหวกับราคาหุ้นที่ร่วงลงมาเยอะ แต่ให้ใช้เวลานี้ตั้งสติและเตรียมตัวหาโอกาสเข้าไปเก็บหุ้น ก็มักมีเสียงบ่นกลับมาเสมอว่า “เงินหมดแล้ว” “ไม่มีเงินแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว” ฯลฯ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมอยากให้ “มองบวก” เข้าไว้ การที่ท่านไม่มีเงินสด หรือมีเงินสดเพียงเล็กน้อยอยู่ในมือ นั่นหมายความว่าท่านใช้ “กลยุทธ์ที่ถูกต้อง” มาตลอด

กล่าวคือ ท่าน “ไม่ได้ถือเงินสดไว้เยอะเกินไป”

ลองคิดดูนะครับว่า

หนึ่ง) ตลาดหุ้นไทยเติบโตต่อเนื่องมาหลายปี หากท่านถือเงินสดรอโอกาสไว้ ท่านจะเสียโอกาสไปเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าท่านอยากได้หุ้นสนามบินตัวหนึ่งตั้งแต่กลางปี 2016 หรือเมื่อสองปีที่แล้ว แล้วท่านก็ถือเงินสดรอไว้ อะไรจะเกิดขึ้น?

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จากวันนั้นถึงวันนี้ หุ้นสนามบินตัวดังกล่าว ราคาสูงขึ้นจากประมาณ 450 บาท มาอยู่ที่ 670 บาท ณ ปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นมาเกือบ 50% ซึ่งต่อให้ครั้งนี้เกิดวิกฤตจริง ก็ไม่แน่ว่าหุ้นสนามบินตัวนี้จะราคาตกลงไปถึง 50%

ดังนั้น ถ้าท่านเข้าซื้อหุ้นสนามบินตั้งแต่เวลานั้น ก็อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรอจนถึงวันนี้แล้วค่อยซื้อ

สอง) แม้กระทั่ง “ต้นแบบแห่งวีไอไทย” อย่าง ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ยังพูดอยู่บ่อยครั้งว่า ตัวท่านได้ลดการถือหุ้นมาถือเงินสดอยู่หลายปี ซึ่งทำให้เสียโอกาสไปไม่น้อย ช่วงหลังๆ จึงทยอยเอาเงินกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

หากแม้แต่นักลงทุนหมายเลขหนึ่งยังรู้สึกเสียดายที่ตัวเองถือเงินสดไว้ ท่านก็ไม่ควรโทษตัวเองหากวันนี้qไม่มีเงิน

สาม) อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว คือ สมัยเริ่มแรกที่ผมลงทุนเมื่อสิบกว่าปีก่อน นักลงทุนเน้นมูลค่าจำนวนมาก นิยมที่จะถือ “หุ้น 100%” ด้วยซ้ำไป แม้ในช่วง 2-3 ปีหลัง ดัชนีจะพุ่งขึ้นมาทะลุ 1,800 จุด แต่จากที่ผมได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงซึ่งฝีมือลงทุนระดับท้อปหลายคน ต่างคนต่างก็พูดตรงกันว่า ไม่เคยถือเงินสดเกิน 30 เปอร์เซ็นต์เลย (ผมเองก็ไม่เคยถือเงินสดเงิน 20 เปอร์เซ็นต์)

ดังนั้น ถ้าท่านมีเงินสดไม่เกิน 30% ผมก็ยืนยันโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ได้ว่า ท่านไม่ได้แตกต่างจากคนเก่งๆ อีกจำนวนมาก

โดยสรุปก็คือ หากวันนี้ท่านไม่มีเงินสดหรือมีเงินสดในมือเพียงเล็กน้อย ท่านต้องอย่าโทษตัวเอง เพราะท่าน “ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”

สิ่งที่ควรทำ ณ ตอนนี้ คือเลิกเสียดายสิ่งที่ผ่านพ้นไป แต่จงขวนขวายหาเงินสดมาเพิ่มให้ได้

บางคนอาจเถียงในใจว่า “ก็กูบอกอยู่นี่ว่าไม่มีเงิน จะให้ไปหาเงินจากไหน?!!”

ผมขอเสนอว่า ให้ท่านคิด “เสมือนคนจนตรอก” เช่นคิดว่า “ถ้าเรากำลังป่วยหนัก ต้องหาเงินมารักษา ไม่งั้นจะตาย เราจะหาเงินมาจากไหน?” หากคิดเช่นนี้ สุดท้ายแล้วท่านจะหาทางออกจนพบ คือหาเงินมาซื้อหุ้นจนได้

ฝรั่งเค้าบอก “Where there is a will, there is a way” ที่ไหนมีฝัน ที่นั่นมีหนทาง คนเราถ้าพยายามเพียงพอ ก็ย่อมจะหาทางออกได้ทุกเรื่อง

ขอแสดงความยินดีกับผู้โชคดีทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ครับ

 

มารู้จักชายผู้ทำให้ปู่ซื้อหุ้น Apple กันเถอะ

ted-brk
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เป็นประจำทุกปี ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเปิดประมูลให้คนมารับประทานอาหารกลางวันกับแกหนึ่งมื้อ เพื่อเอาเงินไปช่วยการกุศล
สำหรับปี 2018 นี้ ผู้ชนะยอมจ่ายเงินถึง 3.3 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อให้ได้กระทบไหล่ปู่ โดยเงินทั้งหมดจากการประมูลผ่าน Ebay for Charity จะมอบให้แก่มูลนิธิ Glide เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้
การประมูลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 19 และที่ผ่านมาสามารถระดมทุนได้แล้วถึง 26 ล้านเหรียญ โดยยอดเงินปีนี้ เพิ่มสูงกว่าปีที่แล้วที่อยู่ที่ 2.6 ล้านเหรียญ ราวๆ 7 แสนเหรียญ
ในรอบนี้ ผู้ชนะซึ่งขอไม่เปิดเผยนาม จะได้ทานอาหารกับปู่ที่ร้านสเต็กในนิวยอร์ก และสามารถพาเพื่อนมาได้สูงสุดเจ็ดคน
แต่ใครจะรู้ว่า มีคนอยู่คนหนึ่ง ยอมทุ่มเงินถึงสองปีติดต่อกัน เพื่อให้ได้รับโอกาสนี้
เขาคือ “เท็ด เวลช์เลอร์” ซึ่งปัจจุบันมานั่งเป็นผู้จัดการกองทุนของเบิร์คเชียร์นั่นเอง
เวลช์เลอร์ เป็นแฟนพันธุ์แท้ของบัฟเฟตต์มาเนิ่นนาน เขาจบการศึกษาจากวอร์ตัน  Business School ชั้นนำของโลก และเป็นผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงมาก โดยบริหารเฮดจ์ฟันด์ของตัวเองมาสิบกว่าปี
ด้วยความที่คลั่งไคล้บัฟเฟตต์ ทำให้เท็ดยอม bid เงินก้อนโตเพื่อไปทานอาหารกับปู่ และชนะประมูลในปี 2010 และ 2011 ด้วยเงิน 2,626,311 และ 2,626,411 เหรียญ ตามลำดับ (ปีที่สองแพงกว่าปีแรก 100 เหรียญ)
เท็ดบอกว่า เขาได้เอาปรัชญาการลงทุนของบัฟเฟตต์มาใช้กับการบริหารกองทุนของตัวเองตั้งแต่เริ่มแรก แม้แต่การตั้งออฟฟิศ เขาก็เลือกที่จะอยู่ที่เวอร์จิเนีย ไม่ย้ายไปนิวยอร์ก เพื่อหลีกเลี่ยง “สิ่งเร้า” เหมือนปู่ที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่โอมาฮา
ระหว่างที่ทานอาหารกันอยู่นั้น เท็ดกับปู่พูดคุยกันถูกคอมาก เนื่องจากแบ็คกราวด์คล้ายกัน ปู่เล่าด้วยว่า แกอยากรู้ว่าเท็ดบริหารเฮดจ์ฟันด์ประสบความสำเร็จขนาดไหน
ซึ่งแม้จะไม่ได้คำตอบในเวลานั้น แต่ข้อมูลก็ถูกเปิดเผยออกมาในภายหลังว่า จนถึงตอนนั้น (ปี 2011) ผู้ที่ลงทุนกับกองทุนของเท็ดตั้งแต่ปี 2000 ที่เขาตั้งกองทุน จะได้รับผลตอบแทนได้ถึง 1,236 เปอร์เซ็นต์!!
เรียกได้ว่า หมอนี่เป็นสุดยอดนักลงทุนอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ปู่ชวนเท็ดมาทำงานด้วยที่เบิร์คเชียร์ ว่ากันว่า ปู่ชวนเท็ดตั้งแต่ปีแรกที่กินข้าวกัน คือปี 2010 ก่อนจะชวนอีกครั้งในปี 2011 ซึ่งปู่ก็บอกว่า ตอนที่ชวนนั้น แกไม่รู้ว่าเท็ดจะสนใจหรือไม่ เพราะเท็ดก็บริหารกองทุนตัวเองจนรวยไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าเท็ดจะมา ย่อมไม่ใช่เหตุผลเรื่องเงินแน่ๆ
และสุดท้าย ก็อย่างที่รู้กัน คือเท็ดมาอยู่กับปู่จริงๆ หลังจากขอเวลากลับไปคิดหลายสัปดาห์ และไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ว่าเป็นเพราะเหตุผลอะไร .. ก็ด้วยความชื่นชมที่เขามีต่อปู่นั่นเอง
ถามว่า คนๆ นี้มีผลต่อเบิร์คเชียร์ขนาดไหน?
คำตอบก็คือ เท็ด และคู่หู่อีกคนหนึ่ง คือ ท็อดด์ คอมบ์ส เป็นผู้ “เปิดเกม” ด้วยการซื้อหุ้น Apple จนทำให้ปู่ซึ่งแต่ไหนแต่ไหนไม่เคยสนใจหุ้นเทคโนโลยี ตัดสินใจทุ่มเงินซื้อตาม ทำเอางงกันไปทั้งโลก
จนปัจจุบันหุ้น AAPL คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของพอร์ต BRK !!
นี่คืออิทธิพลที่เท็ดมีต่อปู่!
ปัจจุบัน คู่หู เท็ดและท็อดด์ กลายเป็นกำลังหลักของเบิร์คเชียร์ และว่ากันว่าจะมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่านี้ ในวันที่ปู่ไม่อยู่กับพวกเราอีกต่อไปแล้ว
—————
ภาพประกอบจาก Flickr ของ Janis Jaquith

 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ สอนวิธีเป็นมหาเศรษฐีที่ทุกคนทำได้

buff-munger-brk18

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อคิดจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ ปี 2018 โดยปู่ได้ kick off มหกรรม woodstock แห่งโลกทุนนิยม ด้วยการเล่าเรื่อง “หุ้นตัวแรก” ในชีวิตของแก

ในวันที่ 11 มี.ค. 1942 ปู่ซื้อหุ้น cities service จำนวนสามหุ้น ด้วยเงินเก็บทั้งหมดที่มี โดยหุ้นตัวนี้ราคาตกลงมาเยอะมาก ปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 84 เหรียญ ก่อนจะตกลงมากว่าเหลือสามสิบกว่าเหรียญภายในปีเดียว ปู่เห็นว่าถูกมากแล้วจึงตัดสินใจเข้าซื้อ ณ ราคา 38.25 ก่อนที่หุ้นดังกล่าวจะปิดตลาดที่ราคา 37 เหรียญในวันเดียวกัน

ปู่พูดขำๆ ว่า นั่นเป็นสัญญาณแรกที่บอกว่า แกคงเป็นนักเก็งกำไรไม่ได้ เพราะเริ่มต้นก็เห็นแล้วว่า timing ในการเข้าซื้อแย่มากๆ

จากนั้น ราคาหุ้น cities ก็ตกลงไปอีก ทำเอาปู่เริ่มกระวนกระวาย ครั้นมันกลับขึ้นมาเท่าทุน และขึ้นต่อไปจนถึง 40 เหรียญ ปู่จึงตัดสินใจขายทิ้งทั้งหมด ทำกำไรได้รวม 5.25 เหรียญ

แต่แล้ว หลายสิบปีต่อมา ราคาของหุ้นตัวนี้เพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 200 เหรียญ ถือเป็นค่าเสียโอกาสมากมายมหาศาล มองย้อนกลับไป ปู่บอกว่านี่คือบทเรียนในการลงทุนที่สอนให้แกรู้ว่า เมื่อเจอหุ้นดี จงถือมันไว้ อย่าขาย

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเดียวกับที่ปู่ซื้อหุ้น คือเดือนมีนาคมปี 1942  นั้น โลกกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ยุโรปกำลังป่วน ญี่ปุ่นเพิ่งบุกยึดนิวกินี ยึดพม่า ฟิลิปปินส์เพิ่งแตก อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกได้เพียงสามเดือน และทำท่าว่าจะแพ้

แม้จะเป็นเวลาที่เลวร้ายสุดๆ มาดูกันเถอะว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากคุณเริ่มต้นลงทุนในวันเดียวกับปู่ ?

nyt

ปู่เอาสถิติมากางให้ดูว่า คนที่ซื้อหุ้นใน S&P 500 ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ ณ วันนั้น แล้วถือไว้จนถึงวันนี้ มันจะเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็น “51 ล้านเหรียญ” (กว่า 5,000 เท่า) โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เรียกได้ว่า ลงทุนครั้งเดียว สบายไปตลอดชาติ (ปู่บอกด้วยว่า ปี 1942 ไม่ใช่โอกาสซื้อที่ดีที่สุดด้วยซ้ำไป ยังมีเวลาที่ดีกว่านั้นอีก)

ในทางตรงข้าม ถ้าเอาเงินจำนวนเดียวกัน คือ 10,000 เหรียญ ไปซื้อทองคำ จะซื้อได้ประมาณ 300 ออนซ์ และทองก็จะแช่อยู่อย่างนั้น จะมอง จะลูบคลำมันอย่างไร มันก็ไม่ตอบสนอง และไม่ให้ผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ธุรกิจจะทำงานของมันไปเรื่อยๆ

และถ้าคุณถือทอง 300 ออนซ์จนถึงวันนี้ มูลค่าของมันจะอยู่ที่ 400,000 เหรียญ เรียกได้ว่าต่ำกว่าหุ้นกว่า “100 เท่า” นี่คือผลลัพธ์จากการลงทุนในสิ่งที่ “ไม่ให้ผลผลิต” เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่ให้ผลผลิตอย่างหุ้น

ปู่จึงชี้ชัดว่า คุณแทบไม่มีทางเจ๊งได้เลย ถ้าคุณใช้วิธีซื้อหุ้นที่ดีแล้วถือไว้ (เว้นเสียแต่จะซื้อผิดตัว หรือตื่นตกใจจนขายทิ้งไปในเวลาที่ไม่ควรจะขาย)

ดังนั้น การซื้อสินทรัพย์ที่ไม่มีผลผลิต หรือแม้จะซื้อหุ้น แต่ใช้วิธีซื้อๆ ขายๆ ไม่มีทางเทียบเท่าการถือหุ้นดีไว้เฉยๆ ได้

ปู่สรุปปิดท้ายด้วยว่า วิธีนี้ดีที่สุดแล้วสำหรับนักลงทุนทั่วไป สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมโดยไม่ต้องพึ่งมืออาชีพที่ไหนทั้งนั้น ทั้งยังผ่อนคลาย ไม่ต้องรู้เรื่องบัญชี ไม่ต้องรู้คำศัพท์เฉพาะทางด้านการลงทุนต่างๆ ไม่ต้องสนใจว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง

และนี่คือ วิธีเป็น “มหาเศรษฐี” จากปู่ ที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ ขอเพียงเริ่มต้นทันที และอย่าไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางไปไหนก็แล้วกัน

(มีต่อด้านล่าง)


** หลักสูตร  “ประเมินมูลค่าหุ้น และ DCF” รุ่น ๘  สอนทำ valuation อย่างมืออาชีพ 26 พ.ค. 61 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัล รัชดา คลิกที่นี่

** หลักสูตร “อ่านงบการเงิน” ออนไลน์ รับชมทาง Facebook Closed Group คลิกที่นี่


แล้วนักลงทุนไทยควรทำอย่างไร?

นักลงทุนไทยที่ได้ยินเรื่องประมาณนี้ คำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอก็คือ แล้วสำหรับหุ้นไทยล่ะ จะทำได้หรือไม่ ถือไว้เฉยๆ หลายสิบปีแล้วจะได้ผลอย่างเดียวกับอเมริกาจริงหรือ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้เราจะไม่ได้มีมุมมองที่ bullish ต่อประเทศไทยเหมือนสหรัฐฯ หรือจีน แต่เดี๋ยวนี้กำแพงการลงทุนน่าจะถูกทำลายลงไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว ผมเชื่อว่าต่อไป การซื้อกองทุน S&P 500 ผ่าน บลจ.ไทย ค่าธรรมเนียมก็น่าจะลดลง ซึ่งน่าจะช่วยให้นักลงทุนไทยทำตามสูตรของบัฟเฟตต์ได้

หรือแม้จะลงทุนในกองทุนอิงดัชนีอื่นๆ หรือเลือกหุ้นดีแล้ว “ถือไว้เฉยๆ” หากทำผลตอบแทนได้เพียงปีละ 10% เงินหนึ่งล้านบาท ก็จะกลายเป็น 17.5 ล้านบาทได้ในเวลา 30 ปีเช่นเดียวกัน)


Image Credit  :  Yahoo Finance! Berkshire Hathaway’s 2018 Shareholders’ Meeting Live Streaming