“คุณรู้จักตัวเองหรือยัง” คำถามจาก โฮเวิร์ด มาร์กส์ ถึงนักลงทุนทุกคน

IMG_9179

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังว่า โฮเวิร์ด มาร์กส์ ไม่เชื่อในการพยากรณ์ภาพใหญ่ เขาไม่เชื่อว่านักลงทุนที่เก่ง คือคนที่ทำนาย GDP ได้ถูกต้อง ทำนายอัตราดอกเบี้ยได้ถูกต้อง ฯลฯ

มาร์กส์ยังชี้ด้วยว่า แม้จะมีผู้ที่ทำนายตัวเลขเชิงมหภาคได้ถูกต้องอยู่เสมอ คนเหล่านั้นก็ทำเงินไม่ได้อยู่ดี เพราะพวกเขาใช้การ “อิงอดีต” (extrapolation)  โดยทำนายว่าอนาคตจะเหมือนกับอดีตที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งต่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามนั้น ตลาดก็รับรู้และคิดลดมันเข้าไปในราคาหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว

มาร์กส์อ้างถึง นสพ.วอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่ไปสอบถามนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ 30 คนทุกๆ 6 เดือน ว่า GDP ในอีกครึ่งปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? ค่าเงินจะเป็นอย่างไร? ราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร? ฯลฯ ปรากฏว่าส่วนใหญ่ต่างก็พยากรณ์โดยใช้การอิงอดีต ซึ่งมักจะถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริงด้วยกันทั้งนั้น เพราะมีโอกาสสูงมากที่สถานการณ์จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ปัญหาก็คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นมา (ช่วงโควิดน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี) พวกเขากลับทายผิดกันแทบจะทุกคน และแม้จะมีบางคนที่ทายถูกต้อง เมื่อย้อนไปดูสถิติย้อนหลังของคนๆ นั้น ก็จะพบว่าเขามักทำนายแบบ “สุดขั้ว” เสมอ ซึ่งก็ผิดมาตลอด จนมาถูกต้องในครั้งนี้

เพราะฉะนั้น การที่คุณพบว่าผู้เชี่ยวชาญสักคนทำนายบางสิ่งบางอย่างถูกต้อง ขณะที่คนอื่นๆ ทายผิด จึงไม่ได้ทำให้เขาน่าเชื่อถือขึ้นมาแต่อย่างใด 

“มุมมองของนักพยากรณ์คนนั้นจะไม่มีคุณค่าใดๆ แก่คุณทั้งสิ้น เว้นเสียแต่เขาจะทำนายถูกอย่างสม่ำเสมอ” มาร์กส์บอก (และไม่ต้องบอกก็รู้ว่าไม่มีคนอย่างนั้นจริงหรอก) 

ถ้าเช่นนั้น คำถามก็คือ นักลงทุนทั่วๆ ไปควรลงทุนอย่างไร ในเมื่อเราไม่มีรู้ว่าตลาดจะเป็นเช่นไรต่อไป?

เพื่อตอบคำถามนี้ มาร์กส์ยกเรื่องราวจากบทความของ ชาร์ลส์ เอลลิส นักลงทุนมือฉมังคนหนึ่ง มาเล่า เขาเปรียบเทียบการลงทุนกับกีฬาเทนนิส โดยบอกว่า นักเทนนิสระดับท้อปอย่าง พีท แซมพราส หรือ ราฟาเอล นาดาล ชนะโดยหวด “วินนิ่งช็อต” ซึ่งหมายถึงการตีลูกที่ดี รุนแรง หรือแม่นยำจนคู่ต่อสู้รับไม่ได้

ทว่านักเทนนิสสมัครเล่นอย่างตัวเขา ไม่ได้ชนะด้วยการตี “ลูกวินเนอร์” แต่ชนะด้วยการตีพลาดเอง หรือที่เรียกว่า “unforced error” น้อยกว่าคู่แข่ง เช่น ตีข้ามเน็ตไป 20 ครั้ง แล้วคู่ต่อสู้ตีติดเน็ตก่อน จึงได้แต้ม

ด้วยเหตุนี้ เกมเทนนิสของมือสมัครเล่น จึงเป็น “เกมผู้แพ้” (Loser’s game) เช่นเดียวกับเกมของ “นักลงทุนสมัครเล่น” 

สุดยอดผู้จัดการกองทุนผู้นี้อธิบายว่า เหตุที่การลงทุนของมือสมัครเล่นเป็น “เกมผู้แพ้” ไม่ใช่เพราะตลาดมีประสิทธิภาพจนไร้ประโยชน์ที่จะพยายามเอาชนะมัน ตรงกันข้าม มาร์กส์เชื่อว่าตลาดมีความ “ไร้ประสิทธิภาพ” อยู่บ่อยครั้ง ทว่ามันยากเกินไปสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ที่จะไปฉวยประโยชน์จากความไร้ประสิทธิภาพดังกล่าว

ดังนั้น “กุญแจสำคัญ” ก็คือ คุณต้อง “รู้จักตัวเอง”

มาร์กส์แนะให้ลองถามตัวเองว่า ตัวเราเป็นนักลงทุนระดับไหน เราเก่งพอหรือไม่ที่จะเน้น “วินเนอร์” หากคิดว่าไม่เก่งพอ ก็ควรเน้นทำผิดพลาดให้น้อยที่สุด นั่นแหละคือหนทางสู่ความสำเร็จในการลงทุน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ที่มาร์กส์และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชนะตลาดได้ เป็นเพราะพวกเขาคือ “มืออาชีพ” ซึ่งมีความสามารถพอที่จะฉวยโอกาสจากความไร้เหตุผลของตลาด และรู้ว่าตัวเองดีพอที่จะทำเช่นนั้น

ทว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นมือสมัครเล่นควรทำอย่างไร? จะซื้อกองทุนอิงดัชนีดีหรือไม่? แล้วมืออาชีพอย่างมาร์กส์ทำอย่างไร? ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังครับ


แหล่งที่มา : คลิปบรรยาย “The Most Important Things – Origins and Inspiration | Talks at Google” ทาง Youtube

Image credit : Facebook Page “Howard Marks” Facebook.com/HowardMarksBooks


(หมายเหตุ : โฮเวิร์ด มาร์กส์ เป็นนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการยอมรับนับถือที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เขาทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19% ต่อปีจากการบริหารกองทุน Oaktree Capital ​Management เป็นเวลาหลายสิบปี โดยความมั่งคั่งปัจจุบันของเขาอยู่ที่  2,200 ล้านเหรียญ เป็นอันดับที่ 370 ใน Forbes 400 ซึ่งเป็นอันดับคนรวยที่สุดของสหรัฐฯ

มาร์กส์เป็นที่รู้จักมากที่สุดจาก “เมโม” ซึ่งเขาเขียนถ่ายทอดความรู้และมุมมองต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไว้ในเว็บไซต์ แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเคยบอกว่า “เวลาผมเห็นเมโมของโฮเวิร์ด มาร์กส์ ในกล่องจดหมาย มันเป็นสิ่งแรกที่ผมจะเปิดอ่าน และผมก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ”) 


ย้อนอ่านตอนก่อนหน้านี้:

Howard Marks The Series

#1 :โฮเวิร์ด มาร์กส์ เตือนแรง ระวังเฟดอุ้มตลาดไม่ไหว คลิกที่นี่

#2 :เพราะเหตุใดเราจึงควรฟังคำเตือนของโฮเวิร์ด มาร์กส์ คลิกที่นี่

#3 : อย่ามองใครว่าถูกต้องด้วยเหตุผลที่ผิด คลิกที่นี่

#4 : “ทำไมคนที่คิดถูกเสมอจึงไม่รวย” มุมคิดคมๆ จากโฮเวิร์ด มาร์กส์ คลิกที่นี่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s