
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ยอดขายบ้านในสหรัฐฯ เดือน ก.ค. พุ่งกระฉูด โดยเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. ถึง 24.7% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดแบบเดือนต่อเดือนนับตั้งแต่ปี 1968 และเป็นการเพิ่มในอัตราเร่งสูงสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 2006 ก่อนฟองสบู่บ้านแตกจนกลายเป็นวิกฤตซับไพร์ม คิดเป็นจำนวนยูนิตที่เพิ่มถึง 5.86 ล้านยูนิตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยซึ่งต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ตลาดอสังหาพ้นจากความซบเซาที่ต่อเนื่องยาวนานได้ในที่สุด โดยก่อนหน้านี้ อุปสงค์บ้านร่วงหนักลงกว่าเดิมในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาเพราะโคโรนาไวรัส ก่อนจะหักหัวกลับขึ้น
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ (NAR) ชี้ว่า ขณะนี้ตลาดอสังหาได้ผ่านช่วงฟื้นตัว (Recovery Stage) เข้าสู่ช่วงเฟื่องฟู (Booming stage) เป็นที่เรียบร้อย
หากมองให้ลึกลงไปจะพบตัวเลขที่น่าสนใจหลายตัว เช่น ยอดขายเดือน ก.ค. ที่พุ่งสูงขึ้นนั้น มาจากผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งจำนวนมากเป็นพวกมิลเลนเนียลวัยยี่สิบกว่าถึงสามสิบกว่าถึง 34% โดยมิลเลนเนียลส่วนนึงที่ก่อนหน้านี้ไม่กล้าซื้อบ้านหรือชะลอการแต่งงานไว้เพราะกลัวเงินไม่พอ ก็ตัดสินใจซื้อบ้านในช่วงนี้
เรียกได้ว่า ดอกลงมาต่ำขนาดนี้ ถ้าไม่ซื้อตอนนี้แล้วจะซื้อตอนไหน !!
โดยจากยอดขายที่ปรากฏในเดือน ก.ค. แสดงให้เห็นว่า ผู้ซื้อส่วนใหญ่ตัดสินใจตั้งแต่เดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. ขณะโดน “ล็อคดาวน์” อยู่กับบ้านนั่นเอง อาจมองได้ว่าวิกฤตโควิดแม้จะรุนแรงเพียงใด แต่ก็เป็นโอกาสให้คนจำนวนมากได้ครอบครองนิวาสถานเป็นของตนเอง
ทว่าในอีกด้านหนึ่ง อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอุปทาน ก็ทำให้ราคาบ้านระดับกลางพุ่งสูงขึ้นประมาณ 8.5% มาอยู่ที่ 304,000 เหรียญ กลายเป็น “นิวไฮ” ซึ่งก็แปลว่าแม้จะจ่ายดอกถูก แต่คนที่ซื้อช้าก็อาจจะต้องซื้อบ้านในราคาแพงขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่า ยอดขายบ้านที่พุ่งสูงขึ้น ย่อมส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กระทบหนักจากการระบาดของโคโรน่าไวรัส และน่าจะมีส่วนช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ข้อมูลประกอบจาก WSJ