สรุปไฮไลท์ ประชุมเบิร์กเชียร์ 2021

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ข้อมูลจาก CNBC

ปีนี้ การประชุมประจำปีของ เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2021 ที่ผ่านมา โดยย้ายไปประชุมที่แคลิฟอร์เนีย และมีไฮไลท์ที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่าตนเองอาจจะทำพลาดที่ขายหุ้น Apple ไปบางส่วน หรือการที่ทั้ง บัฟเฟตต์ และ ชาร์ลี มังเกอร์ มอง Robinhood แอพเทรดหุ้นฟรีค่าธรรมเนียม ที่สร้างปรากฏการณ์ Gamestop เป็นลบค่อนข้างมาก รวมทั้งจุดยืนอันมั่นคงต่อบิทคอยน์ของทั้งปู่บัฟและปู่มังก์

ผมแปล-เรียบเรียงมาให้อ่านกัน ดังนี้ครับ

มองลบ แอพ “Robinhood”

บัฟเฟตต์  :

“มันกลายเป็นพวกกาสิโนกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาร่วมในตลาดหุ้นเมื่อปีที่ผ่านมาหรือปีครึ่งที่ผ่านมา” 

มังเกอร์ :

“มันช่างเหมือนกับการสะบัดธงแดงล่อวัวกระทิงซะจริงๆ ผมว่ามันโคตรห่วยบรมเลยที่ของอย่างนี้ลากเอาแวดวงการลงทุน จากความเป็นมนุษย์ที่มีอารยธรรม กลายเป็นคนเดินดินธรรมดา”

จัดเต็ม “บิทคอยน์”

บัฟเฟตต์ ไม่พูด โดยบอกว่าไม่อยากโดนต่อว่าจากพวกที่ไป Long บิทคอยน์ไว้

มังเกอร์ :

“(บิทคอยน์เป็น) ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สร้างขึ้นในอากาศ”

“แน่นอน ผมเกลียดความสำเร็จของบิทคอยน์” 

“ผมไม่ยอมต้อนรับอัตราแลกเปลี่ยนที่นักเรียกค่าไถ่และพวกปล้นสะดมใช้ได้ถนัดมืออย่างแน่นอน”

“ผมคิดว่าการก่อตัวขึ้นมาของมันแบบบ้อๆ บอๆ ช่างน่ารังเกียจและขัดแย้งกับคุณประโยชน์แห่งอารยธรรมมนุษย์”

ไม่กลัวการพุ่งขึ้นของอัตราภาษี

บัฟเฟตต์ :

“มันเป็นนิทานหลอกชาวบ้านที่พวกบริษัทแต่งขึ้นมา เวลาที่พวกเขาออกแถลงการณ์ โดยอ้างว่ามันจะแย่ต่อพวกคุณทุกคน”

ชี้แจงการซื้อหุ้นคืน

(ปัจจุบันเบิร์กเชียร์กำลังซื้อหุ้นคืนอีกครั้ง)

มังเกอร์ :

“(มันจะไร้จริยธรรม) ถ้าคุณซื้อหุ้นคืนเพียงเพื่อดันราคาให้มันวิ่ง”

“แต่ถ้าคุณซื้อหุ้นคืน เพราะมันเหมาะสมแล้วที่จะทำ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นปัจจุบัน มันก็เป็นการกระทำที่มีจริยธรรมสูงยิ่ง และคนที่ออกมาด่าก็คือพวกบ้าๆ บอๆ เท่านั้นแหละ”

เตือนเกี่ยวกับ SPAC 

(บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนผ่านการ IPO โดยที่ตัวบริษัทนั้นเองไม่ได้ทำธุรกิจอะไร)

บัฟเฟตต์ :

“เท่าที่ผมเข้าใจ พวก SPAC ต้องใช้เงินภายในสองปี ซึ่งถ้าคุณเอาปืนมาจ่อหัวผมแล้วบังคับให้ซื้อธุรกิจภายในสองปี ผมก็คงต้องยอม” (หัวเราะลั่น)

“มันเป็นอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้หรอก เพียงแค่ตอนนี้ เงินมันไปอยู่ตรงนั้น และวอลล์สตรีตก็วิ่งตามเงินไปก็เท่านั้นแหละ”

“SPAC มันใช้ได้ผลมาพักใหญ่แล้ว และถ้าคุณเอาอะไรที่ชื่อดังสักหน่อยไปปะไว้ มันก็ขายได้แทบจะทั้งนั้น” 

พูดถึงการพิมพ์เงินเข้ามาในระบบแบบมโหฬาร

มังเกอร์ :

“พวกนักทฤษฎีการเงินยุคใหม่มันมั่นใจเกินไป ผมไม่คิดว่าอย่างเราๆ จะมีใครรู้หรอกว่า ต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นกับไอ้สิ่งน้ี”

“ผมคิดว่ามีโอกาสอยู่พอสมควรที่การกระทำแบบสุดขั้วนี้อาจจะไหลลื่นกว่าที่ทุกคนคิด แต่ผมก็รู้เช่นกันว่าถ้าทำต่อเนื่องไปโดยไร้ขีดจำกัด มันจะจบลงแบบหายนะแน่นอน”

Quote จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์

บัฟเฟตต์ เอาคำพูดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ขึ้นสไลด์

“นักเก็งกำไรไม่อาจสร้างฟองสบู่ขึ้นมาได้ บนสายธารแห่งธุรกิจที่ไหลนิ่ง แต่การซื้อขายของเขาจะส่งผลรุนแรงขึ้นมาทันที หากองค์กรกลายเป็นฟองสบู่ บนน้ำเชี่ยววนแห่งการเก็งกำไรอันถาโถม เมื่อพัฒนาการทางเงินทุนของประเทศหนึ่งๆ เป็นผลพวงมาจากกิจกรรมแบบบ่อนกาสิโน มันจะจบลงไม่สวยค่อนข้างแน่นอน”

“เราคงหาซื้อธุรกิจดีๆ ไม่ได้ ถ้าช่วงเวลาแบบนี้ยังดำเนินต่อไป”

ขายหุ้น Apple บางส่วนอาจเป็นความผิดพลาด

บัฟเฟตต์ :

“เรามีโอกาสซื้อเพิ่ม แต่ผมกลับขายไปบางส่วนเมื่อปีที่แล้ว … ผมอาจจะพลาดก็ได้นะ”

“(หุ้น Apple) เป็นราคาลดแบบสุดๆ ไปเลย”

“มัน (สินค้า Apple) จำเป็นมากๆ สำหรับผู้คน”

“มันมีบทบาทกับชีวิตคนมากๆ” 

“รถยนต์คันหนึ่งราคา 35000 เหรียญ แต่ผมมั่นใจว่า สำหรับบางคน ถ้าคุณไปถามเขาว่าจะยอมทิ้งอะไรระหว่างสินค้า Apple กับรถยนต์ เขาจะยอมทิ้งรถยนต์แน่ๆ”

ลงทุน “หุ้นต่างประเทศ” ด้วยความ “มั่นใจ” กับ My VALUE , subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ เพื่อให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาที่คัดสรรและบทความที่เรียบเรียงมาจากสำนักข่าวสายการเงินการลงทุนระดับโลก

คลิก ที่นี่ เลย

ทำไมบัฟเฟตต์กับมังเกอร์ไม่เคยเถียงกัน

มังเกอร์ :

“วอร์เรน กับผมไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำทุกเรื่อง แต่เราก็เข้ากันได้ดี”

บัฟเฟตต์ :

“เราไม่เคยเถียงกันเลยตลอด 62 ปี ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่เราแค่ไม่เคยโกรธกัน”

ไม่มีปัญหากับการถือหุ้นน้ำมัน

บัฟเฟตต์ :

“คนที่มักสุดขั้วไปในทางใดทางหนึ่งคือคนบ้า ผมไม่อยากเห็นไฮโดรคาร์บอนถูกแบนเบ็ดเสร็จในสามปีข้างหน้านี้ มันไม่เวิร์กหรอก ในทางตรงข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันจะค่อยๆ ปรับกันไปเอง”

“ทุกๆ ธุรกิจจะมีสิ่งที่ ถ้าคุณได้รู้เข้า คุณจะไม่ชอบมัน … ถ้าคุณคาดว่าทุกอย่างในตัวคู่ครองของคุณ หรือเพื่อนของคุณ หรือของบริษัทต่างๆ จะสมบูรณ์แบบ คุณจะไม่มีวันได้เห็นอย่างนั้น”

 ไม่อยากถือหุ้นสายการบิน

บัฟเฟตต์ :

“อุตสาหกรรรมที่ขายในราคารวมกันไม่ถึง 100,000 ล้านเหรียญนั้น ขาดทุนไปแล้วมากมาย พวกเขาสูญเสียความสามารถในการทำกำไร … การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่กลับมา … ผมคงไม่บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ดี (การขายหุ้นสายการบินทิ้ง)ในประวัติศาสตร์ของเบิร์กเชียร์ แต่เราก็มีเงินมากกว่าบริษัทไหนๆ ในสหรัฐฯ … ผมคิดว่าธุรกิจสายการบินเริ่มจะดีขึ้นเพราะเราขายพวกเขาทิ้ง และผมขอให้พวกเขาโชคดี แต่ผมยังคงไม่อยากซื้อธุรกิจสายการบินอยู่เหมือนเดิม”

มองธุรกิจยากกว่ามองเทรนด์

บัฟเฟตต์ :

“การเลือกหุ้น มีอะไรต้องทำเยอะกว่ามาก เมื่อเทียบกับการมองว่าอุตสาหกรรมไหนจะยอดเยี่ยมในอนาคต”

ยังแนะนำให้ซื้อกองทุนอิงดัชนี

บัฟเฟตต์ :

“มันบอกเราว่าทุนนิยมยังทำงานได้ดีอยู่ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นนักทุนนิยม … โลกเราเปลี่ยนไปมากๆ มากเหลือเกิน” (ก่อนจะสรุปว่า วิธีที่ดีที่สุดยังคงเป็นการลงทุนในกองทุนอิงดัชนี)


ลงทุน “หุ้นต่างประเทศ” ด้วยความ “มั่นใจ” กับ My VALUE , subscription plan ที่จะให้แนวทางในการตัดสินใจ เพื่อให้ท่านลงทุนได้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาที่คัดสรรและบทความที่เรียบเรียงมาจากสำนักข่าวสายการเงินการลงทุนระดับโลก คลิก ที่นี่ เลย


ข้อมูลอ้างอิง CNBC : https://www.cnbc.com/2021/05/01/berkshire-hathaway-meeting-live-updates.html?__source=newsletter%7Cweekendbrief&fbclid=IwAR0DK6hRTAB-xJfiJaWTs53o9_GYtV_QX-rM4u7ltqXCMWXSeJf6m-XXqAw

ลึกลงไปใน “กำไร” ของ Tesla

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

(30 เม.ย. 2021)

Tesla เพิ่งประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมา ปรากฏว่ากำไรสุทธิอยู่ที่ “438 ล้านเหรียญ” ส่วนรายได้อยู่ที่ “10,390 ล้านเหรียญ”

ตัวเลขกำไรดังกล่าว มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อยู่พอสมควร แต่หุ้นกลับร่วงลง 3% หลังจากทราบข่าว

มาดูกันนะครับว่าตลาดเห็นอะไร …

จากผลประกอบการของ Tesla ไตรมาสล่าสุดที่ประกาศออกมา

กำไรต่อหุ้น “93 เซนต์” เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ “79 เซนต์” 

รายได้ “10,390 ล้านเหรียญ” เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ “10,290 ล้านเหรียญ” เพิ่มขึ้น 74% จากปีที่แล้ว

ดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไร ก็ทำได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดด้วยซ้ำไป ราคาหุ้นน่าจะวิ่งกระฉูดไม่ใช่หรือ? ทำไมถึงลงล่ะ?

สาเหตุอยู่ตรงนี้ครับ …

กำไรสุทธิไตรมาสนี้ ที่ออกมา 438 ล้านเหรียญนั้น เป็นกำไรแบบ GAAP คือรวม “รายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว” ด้วย 

รายการที่ว่านั้น ได้แก่ ยอดขายที่เป็นเครดิต (sales of regulatory credits) จำนวน “518 ล้านเหรียญ” และ bitcoin ที่ขายทิ้งไปเป็นเงิน “101 ล้านเหรียญ”

หากตัดสองรายการนี้ออก กำไรของบริษัทในไตรมาสล่าสุดของ Tesla จะติดลบ “181 ล้านเหรียญ” (438 ล้าน – 518 ล้าน – 101 ล้าน) 

ภาพจากรายการ Squawk Box ของ CNBC

กอร์ดอน จอห์นสัน ผู้ก่อตั้ง GLJ Research ให้สัมภาษณ์ เบ็คกี้ ควิก พิธีกรสาวในรายการ Squawk Box ช่อง CNBC ถึง Tesla บอกว่า 

“They are losing money the more cars they deliver” 

แปลเป็นไทยว่า ยิ่งนำส่งรถได้มากเท่าไร ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น”

ดังนั้น คนที่บอกว่า Tesla กำไรตั้งเยอะ มาบอกว่าขาดทุนได้ยังไง? ต้องดูให้ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง จึงจะเห็นภาพที่แม่นยำขึ้น

ทีนี้ มาดูส่วนธุรกิจอื่นๆ ที่ยังมีปัญหากันบ้าง …

ธุรกิจของ Tesla แบ่งเป็นสามส่วน คือ ยานยนต์ (Automotives) พลังงาน (Energy) และบริการและอื่นๆ (Services and Other) 

ในส่วนหลังสุด คือธุรกิจ “บริการและอื่นๆ” หรือที่หลายคนในแวดวงการเงินรวมทั้งพวก geek ในเว็บบอร์ด เรียกว่า “เอสโอ” (SO)  และบ้างก็เรียกว่าธุรกิจ “บริการ” และบ้างก็เรียกว่าธุรกิจ “รถใช้แล้ว” (used cars) และบ้างก็เรียกว่าธุรกิจ “รถและอื่นๆ” (cars and others) นั้น

เป็นการขาย “รถใช้แล้ว” หรือ “รถมือสอง” ของ Tesla ร่วมด้วยการให้บริการซ่อมบำรุง (maintenance) และบริการอื่นๆ แม้แต่การขายรถที่ไม่ใช่รถของ Tesla ก็รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย

นี่คือส่วนธุรกิจที่เรียกได้ว่า เป็นตัว “เผาเงิน” ของ Tesla มาหลายปี และยังเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

เว็บไซต์เกี่ยวกับรถ รายงานผลประกอบการของ Tesla ว่ายิ่งผลิตรถ ยิ่งขาดทุน
ภาพจากรายการ Squawk Box ของ CNBC

กล่าวคือ gross margin ของธุรกิจนี้ ติดลบ 20% ในไตรมาสล่าสุด เทียบกับไตรมาสที่แล้วที่ติดลบอยู่ 8% แต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนัก หากมองย้อนหลังไปถึงปี 2018 ซึ่งเคยติดลบถึง 45%

นั่นแปลว่า การขายรถยนต์ใช้แล้วของ Tesla และธุรกิจบริการอื่นๆ นั้น “ยิ่งขาย ยิ่งขาดทุน”

เว็บไซต์ stockdividendscreener. com สรุปว่า “Tesla เสียเงินไปกับทุกๆจุดทั้งชิ้นส่วนและยานยนต์ใช้แล้วซึ่งขายอยู่ในส่วนธุรกิจบริการ

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนธุรกิจที่สอง คือ “ธุรกิจพลังงาน” Tesla ก็มี gross margin เป็นลบถึง 13 ไตรมาสติดกัน

ยังไม่นับกระแสเงินสดอิสระของบริษัท ที่ลดลงถึง 1,650 พันล้านเหรียญ

อัตราส่วนทางการเงินของ Tesla จาก Morningstar

กอร์ดอน จอห์นสัน นักวิเคราะห์ชื่อดังของสหรัฐฯ คนหนึ่งบอกว่า ธุรกิจที่ “ราคาต่อยอดขาย” สูงขนาดนี้ “ราคาต่อกำไรสุทธิ” สูงขนาดนี้ คุณควรจะเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่สิ่งที่ออกมากลับเป็นตรงกันข้าม

“การจะบอกว่าภาพรวมในระยะยาวมันดี แต่ตัวเลขมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ เราไม่เข้าใจเลย … พอถึงจุดหนึ่ง คุณต้องหันมามองความเป็นจริงได้แล้ว” 

โดยส่วนตัว เวลาเขียนถึง Tesla หรือกองทุนในเครือ ARK ที่นักลงทุนรุ่นใหม่ รวมทั้งนักลงทุนไทยกำลังชื่นชอบกัน ผมมักจะเตือนให้ “ระวัง” 

ผมไม่อยากใช้คำว่า “แพงเกินไป” แต่ขอใช้คำที่เป็นกลางที่สุดว่า

ราคา ณ ปัจจุบันนี้ เป็นระดับที่ “หาเหตุผลมารองรับไม่ทัน” 

แม้รู้ดีว่าเตือนไปแล้วจะ “โดนด่า” ก็ตาม

ผมขอเลือกเขียนในสิ่งที่ผมเชื่อ จากตำราที่ร่ำเรียนมา จากกูรูที่เคยฟัง จากหนังสือที่เคยอ่าน เป็นการเขียนเพื่อเตือนอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีเจตนาแอบแฝงอื่นใด

เพราะแม้จะมีมุมมองที่แตกต่าง หรือเหตุผลมาคัดง้างอย่างไร

แต่ผมมั่นใจว่า คำว่า “ระวัง” ที่บอกไป คงไม่ทำร้ายใครอย่างแน่นอน


12 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับ “ซุปเปอร์ลีก” ดีลช็อควงการลูกหนังโลก

เขียนและเรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

  1. ซุปเปอร์ลีก (Super League) เป็นการจัดแข่งขันฟุตบอลของสโมสรฟุตบอลชั้นนำ 15 สโมสรในยุโรป ได้แก่ มิลาน อาร์เซนอล แอตมาดริด เชลซี บาร์เซโลน่า อินเตอร์ ยูเวนตุส ลิเวอร์พูล แมนซิตี้ แมนยู รีลมาดริด ท็อตแน่มฮ็อทสเปอร์ และสโมสรที่ยังไม่เปิดเผยชื่ออีก 3 สโมสร โดยไม่มีสโมสรจากเยอรมนีและฝรั่งเศส (จึงไม่มีทีมอย่าง PSG หรือ บาเยิร์น มิวนิค)
  2. ผู้ที่เสียประโยชน์เต็มๆ ย่อมจะเป็น “ยูฟ่า” องค์กรฟุตบอล ซึ่งเป็นผู้จัดแข่ง ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก (UCL) รวมถึงยูฟ่ายูโรป้าลีก (UEL) ที่ทีมเหล่านี้ร่วมแข่งขันอยู่ แต่แถลงการณ์ของซุปเปอร์ลีกก็บอกว่า ต้องการจะเจรจากับทั้งฟีฟ่าและยูฟ่า เพื่อให้ลีกที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และเป็นผลบวกต่อโลกฟุตบอลโดยรวม (ประเด็นนี้ผมมองว่าน่าจะเป็นการแสดงออกในเชิงการทูตมากกว่าการแสดงท่าทีอย่างจริงจัง – แอดมิน)
  3. แถลงการณ์ระบุว่า เหตุที่ต้องตั้ง ซุปเปอร์ลีก ขึ้นมา ก็เพราะการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ “ความไร้เสถียรภาพ” ของ “โมเดลทางเศรษฐกิจ” ของฟุตบอลยุโรปถูกเร่งขึ้นอย่างรุนแรง (แปลเป็นภาษาชาวบ้านคือ ทำให้รายได้หดหาย การจัดแข่งขันบอลยุโรปแบบเดิมๆ ของยูฟ่า ทำเงินให้สโมสรชั้นนำต่างๆ ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน – แอดมิน)
  4. แถลงการณ์ระบุด้วยว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องตั้งซุปเปอร์ลีก ก็เพราะสโมสรที่จะร่วมกันก่อตั้งนี้ มีความพยายามมานานแล้ว ที่จะหาทางเพิ่มคุณภาพและความเข้มข้นของการแข่งขันฟุตบอลยุโรป ด้วยการสร้างรูปแบบที่จะทำให้ทีมชั้นนำได้มาฟาดแข้งกันเป็นประจำ 
  5. เมื่อเกิดโควิดขึ้น จึงต้องอาศัยวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์และวิธีทางการค้าใหม่ เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนประโยชน์ของ “พีรามิดฟุตบอลยุโรป” (ผมมองว่าน่าสนใจมากๆ ที่ใช้วลี “พีระมิดฟุตบอล” แต่ในแถลงการณ์ไม่ได้มีการขยายความวลีนี้ – แอดมิน)
  6. แถลงการณ์อ้างด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการพูดคุยหาทางออกกันมาแล้วหลายรอบ แต่ทางผู้ก่อตั้งซุปเปอร์ลีกไม่เชื่อว่าทางออกที่มีการเสนอกันออกมา จะสามารถแก้ปัญหาเชิงพื้นฐาน โดยจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลคุณภาพสูง และเป็นแหล่งทรัพยากรทางการเงินอันน่าพอใจสำหรับบรรดาสโมสรต่างๆ ได้
  7. การแข่งขันซุปเปอร์ลีก จะประกอบไปด้วย 20 สโมสร โดยนอกจากสโมสรผู้ก่อตั้ง 15 สโมสร จะมีกลจักรในการสรรหาอีก 5 สโมสรมาร่วมแข่งขันกันในแต่ละฤดูกาล โดยพิจารณาจากความสำเร็จและผลงานในฤดูกาลก่อนหน้า (แถลงการณ์ไม่ได้ระบุถึงทีมที่จะถูกคัดออกหรือตกชั้น ว่ามีระบบอย่างไร – แอดมิน)
  8. การแข่งขันจะมีขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งหมายความว่าแต่ละสโมสรจะสามารถเตะตามโปรแกรมลีกในประเทศของตนเอง ที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของตารางการแข่งขันของสโมสรต่างๆ ไปได้ตามปกติ (แต่ก็อย่างที่ตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่า ที่กระทบเต็มๆ ย่อมจะเป็น UCL และ UEL ของยูฟ่า หรือถ้าจะพูดให้ชัด นี่อาจเป็นรายการที่จะมาทดแทน UCL เลยก็ว่าได้ – แอดมิน) 
  9. การแข่งขันจะเริ่มต้นในเดือน ส.ค. (ช่วงเริ่มต้นลีกในประเทศของฟุตบอลยุโรป) โดยจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม เล่นเหย้าเยือนกัน สามทีมแรกของแต่ละกลุ่มจะได้ผ่านเข้าไปเล่นรอบก่อนรองชนะเลิศโดยอัตโนมัติ ทีมอันดับ 4 และ 5 จะเล่นสองเลกแบบเหย้าเยือน เพื่อชิงตั๋วใบสุดท้ายของแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ได้ทีมที่จะเล่นรอบก่อนรองฯ ครบ 8 ทีม ส่วนรองรองชนะเลิศก็จะเล่นสองเลกเช่นกัน แล้วไปชิงชนะเลิศแบบเลกเดียวที่สนามเป็นกลาง
  10. ประเด็นนี้สำคัญมาก แถลงการณ์ระบุว่า ทัวร์นาเม้นท์ใหม่นี้จะช่วยสร้างการเติบโตและการสนับสนุนทางเศรษฐกิจให้กับฟุตบอลยุโรปในระยะยาว ด้วย “uncapped solidarity payment” หรือเงินสนับสนุนที่จะแบ่งให้แต่ละสโมสรโดยแปรผันตามรายได้ที่ทำได้ โดย “ไม่มีการกำหนดเพดาน” (พูดง่ายๆ คือ ถ้าซุปเปอร์ลีกทำเงินได้มาก แต่ละสโมสรก็ได้ส่วนแบ่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ) ซึ่งคาดว่าจะสูงกว่าส่วนแบ่งที่ได้จากการแข่งขันฟุตบอลยุโรปในปัจจุบัน และคาดว่าจะสูงกว่า 10,000 ล้านยูโร ตลอดช่วงระยะเวลาที่ตกลงร่วมกันแข่งขัน (ไม่ได้ระบุว่าระยะเวลาเบื้องต้นคือจะแข่งกันกี่ฤดูกาล – แอดมิน)
  11. ที่สำคัญมากๆ เช่นกัน คือสโมสรที่ตกลงปลงใจมาร่วมกันก่อตั้งลีก จะได้รับเงินทันที สโมสรละ 3,500 ล้านยูโร เพื่อเอาไปใช้เป็นทุนสำหรับลงทุนและบำรุง facility ต่างๆ รวมทั้งชดเชยความเสียหายจากผลกระทบของโควิด-19 (แถลงการณ์ไม่ได้ระบุว่า เงิน 3,500 ล้านยูโรต่อสโมสร รวม 15 สโมสรก็เท่ากับ 5.25 หมื่นล้านยูโรนี้ จะมาจากแหล่งใด แต่ผมเดาเอาเองว่าน่าจะมาจากเงินกู้ ที่ทางนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการแข่งขัน จะกู้จากสถาบันการเงินระดับโลก แล้วเอามาจ่ายให้สโมสรผู้ร่วมก่อตั้ง – แอดมิน)
  12. ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรรีล มาดริด และประธานคนแรกของซุปเปอร์ลีก บอกว่า “เราจะช่วยฟุตบอลในทุกๆ ระดับ โดยช่วยให้มันได้อยู่ในจุดที่เหมาะสมของโลก”

และนี่คือรายละเอียดเกี่ยวกับซุปเปอร์ลีก initiative ช็อคโลกที่ประกาศออกมาเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ ซึ่งดูจากท่าทีแล้ว คงไม่ใช่แค่ลีลาการต่อรองกับยูฟ่า แต่น่าจะเป็นเรื่องจริง แต่ทางยูฟ่ารวมถึงองคาพยพอื่นๆ ของโลกฟุตบอลจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป คงต้องรอดูกันต่อไปครับ

——–

Credit : ภาพและข้อมูลประกอบจากแถลงการณ์ของสโมสร ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ https://www.tottenhamhotspur.com/news/2021/april/leading-european-football-clubs-announce-new-super-league-competition/?fbclid=IwAR2H_vucoDcSutkpIRdGe6XW0EHIDAmVlypX2coI-jxZQm4IKwpTdwCVTd0