ป๋าคลั่ง! ตะลุยซื้อทองหมื่นกว่าล้าน

IMG_1654
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เรย์ ดาลิโอ ยังแน่วแน่ไม่เปลี่ยน ล่าสุด กองทุนบริดจ์วอเทอร์ของเขา ไล่เก็บทองคำมูลค่า
ถึง 400 ล้านเหรียญ (12,800 ล้านบาท) ในไตรมาสที่สอง
จากแบบ 13F ที่รายงานต่อ กลต.เปิดเผยว่า บริษัทของป๋าได้สอยทองคำเข้าพอร์ต ไว้ใน ETF ทองคำสองกอง ได้แก่ iShares Gold Trust และ SPDR Gold Trust ซึ่งทั้งสองกองเป็น ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ มูลค่าทองคำใน SPDR กองเดียว ก็ปาเข้าไปถึง 914.3 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก Q1 ซึ่งอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มราว 52% เช่นเดียวกับกองทุน iShares ที่มีทองเพิ่มขึ้นจาก 176 ล้าน เป็น 268.4 ล้านเหรียญ เพิ่มราว 52% เช่นกัน โดยทั้งสองกองถือทองคำไว้ 40 และ 16 ล้านออนซ์ ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า “ป๋าเรย์” กำลังไล่เก็บทองคำอุตลุตเลยทีเดียว
โดย ณ สิ้นสุด Q2 พอร์ตของบริดจ์วอเทอร์ มีมูลค่าอยู่ที่ 5,960 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจาก Q1 ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าไม่ขี้เหร่ แม้ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ดาลิโอจะบ่นว่าตัวเองทำพลาดไปมากมาย
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นถึง 26% และยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้นักลงทุนแห่กันเข้ามาซื้อ ETF ทองคำเป็นจำนวนมาก จนล่าสุด ETF ทั่วโลกถือทองคำไว้รวมกันมากกว่าธนาคารกลางเยอรมนีเสียอีก จะเป็นรองก็แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่ราคาทองคำขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ได้แก่ การอ่อนลงของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อันเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ปั๊มเงินเข้าระบบเพื่อกู้เศรษฐกิจจากวิกฤตโคโรน่าไวรัส ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนและดอกเบี้ยต่ำ คนจึงหันมาสะสมทองคำ ซึ่งถูกทองว่าเป็นแหล่งเก็บเงินที่ปลอดภัย

และแม้เมื่อไม่กี่วันก่อนทองจะตกลงมาเยอะ เพราะมีการเตือนกันว่าราคาเฟ้อเกินไปแล้ว แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า ด้วยสถานการณ์โลกที่ยังไม่มีความแน่นอน บวกกับเงินดอลลาร์ที่สาละวันเตี้ยลง น่าจะทำให้ราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อไป
———
ข้อมูลประกอบจาก Business Insider และ Bloomberg

จัดพอร์ตอย่าง เรย์ ดาลิโอ

800px-Web_Summit_2018_-_Forum_-_Day_2,_November_7_HM1_7481_(44858045925)

 

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

หนึ่งในนักลงทุนชื่อกระฉ่อนโลกที่ถูกถามถึงอย่างมากในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 คือ  เรย์ ดาลิโอ มหาเศรษฐี ผู้จัดการกองทุน Bridgewater เฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้เขียน PRINCIPLES หนังสือเบสต์เซลเลอร์อันดับหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้

วันนี้จะพาทุกท่านไปดูกันว่า พอร์ตการลงทุนของดาลิโอเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้เห็นถึงแนวคิดของเขา ซึ่งน่าจะเอามาปรับใช้ได้โดยเฉพาะในเวลาเช่นนี้

ทั้งนี้ ผมขอตัดจบ ณ ปี 2019 ก่อนโคโรน่าไวรัส (ซึ่งทำให้มูลค่าพอร์ตของเขาผันผวนอย่างรุนแรง) เพื่อให้สะท้อน “แนวคิด” ของเขาออกมาได้อย่างดีที่สุด ดังนี้ครับ

การลงทุนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในพอร์ตของ Bridgewater คิดเป็น 15.9% ด้วยมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญ คือกองทุน ETF ของแวนการ์ดสำหรับตลาดเกิดใหม่ (Vanguard FTSE Emerging Markets ชื่อย่อ VWO) โดยกองนี้จะลงทุนในหุ้นตัวหลักๆ ของประเทศอย่าง จีน บราซิล ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย รวมทั้งเมืองไทย

ทั้งนี้ Bridgewater ได้รับผลตอบแทนจากกองทุนนี้เฉลี่ย 5.56% ในรอบสิบปีหลัง จนถึงปี 2019 (ฟังดูดาดๆ มากเลยใช่มั้ยครับ)

สัดส่วนที่รองลงมาในพอร์ตของดาลิโอ คือ SPDR S&P 500 ETF Trust ชื่อย่อกองคือ SPY โดยมีสัดส่วน 15.6% ของพอร์ต เป็นกองทรัสต์ ETF ที่ลงทุนใน S&P 500 หมายถึงหุ้นขนาดใหญ่ 500 ตัวในสหรัฐฯ

นี่อาจถือได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามของ VWO เพราะเป็นการลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่และกลางของสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าค่อนข้างมั่นคงและเสี่ยงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย

ขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นไว้ตรงนี้ว่า ดาลิโอชอบ “ETF” ซึ่งหมายถึงกองทุนที่ซื้อขายหน่วยกันในตลาดหลักทรัพย์เสมือนหุ้น มากๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลเรื่องของสภาพคล่องหรืออื่นใดก็ตาม ซึ่งตรงข้ามกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ชอบซื้อหุ้นเป็นรายตัวหรือซื้อทั้งบริษัท

สัดส่วนอันดับสามในพอร์ตของดาลิโอ คือกอง EEM และกอง IEMG ซึ่งเป็น ETF ของตลาดเกิดใหม่เช่นกัน แต่ที่สองกองนี้ต่างจาก VWO คือ เป็นการรวมเอาหุ้นทั้งใหญ่ กลาง และเล็ก ของตลาดเหล่านั้น ไม่ใช่เฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ของแต่ละตลาด โดยดาลิโอถือสองกองนี้อยู่ 8.7% และ 9.4% รวมกันแล้วประมาณ 18%

ตัวอย่างของหุ้นหลักๆ ที่อยู่ในพอร์ตของสองกองนี้ก็คือบริษัทที่เรารู้จักกันดี อาทิ alibaba, tencents, samsung, ping an insurances, china mobile ฯลฯ

ส่วนสุดท้ายที่เป็นชิ้นเป็นอันสักหน่อยและน่าสนใจมากๆ ในพอร์ตของดาลิโอ คือ “ETF ทองคำ” ได้แก่ กอง SPDR Gold Trust ตัวย่อคือ GLD โดยถือไว้เป็นสัดส่วน 4.2%

ตรงนี้ถือว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะนักลงทุนผู้นี้ให้ความสำคัญกับทองคำเป็นอย่างยิ่ง เขาเคยบอกว่านักลงทุนทุกคน ไม่ว่ารายใหญ่-รายย่อย ควรมีทองคำอยู่ในพอร์ตของตัวเอง

นี่เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งดาลิโอตรงข้ามกับบัฟเฟตต์ โดยปู่ไม่ชอบทองเพราะมันไม่ให้ผลตอบแทนใดๆ ทว่า “ป๋าเรย์” บอกว่า เราควรมีทองคำไว้เพื่อ “รักษามูลค่า” เนื่องจากในช่วงเวลาแห่งความผันผวนที่มีหนี้ล้นตลาด และมีการพิมพ์เงินเข้ามาเรื่อยๆ “ทอง” นี่แหละที่ปลอดภัยที่สุดและจะช่วยคุณรักษาความมั่งคั่งไว้ได้

นอกเหนือจากสี่ส่วนหลักข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการลงทุนอื่นๆ ยิบย่อย เช่น ETF ของเกาหลี 1% ETF ของบราซิลอีกเล็กน้อย และพวกหุ้นกู้เอกชนเกรดดี ตลอดจนพันธบัตรรัฐบาลบางส่วน

นี่คือภาพรวมการลงทุนของสุดยอดนักลงทุนอย่างเรย์ ดาลิโอ จนถึงปี 2019 ก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งข้อดีที่เห็นได้ชัดมากๆ คือคนทุกคนสามารถทำตามได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับการลงทุนของ “ขาใหญ่” อีกคนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์

ใครสนใจ เชิญเอาไปประยุกต์ใช้กับพอร์ตของตัวเองได้ตามอัธยาศัยครับ

——————-

ข้อมูลประกอบ : จากคลิปนี้ , Bridgewater.com และ wikipedia

Image credit :  Harry Murphy / Web Summit via Sportsfile

เรย์ ดาลิโอ ชี้ชัด “นี่คือ Depression”

800px-Web_Summit_2018_-_Forum_-_Day_2,_November_7_HM1_7481_(44858045925)

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมสรุปบทสัมภาษณ์ เรย์ ดาลิโอ นักลงทุนชื่อดังระดับมหาเศรษฐี ผู้จัดการกองทุน Bridgewater และผู้เขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ PRINCIPLES จากการสัมภาษณ์ของ TED เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยดาลิโอได้ลงลึกถึง “วิกฤตโควิด-19” ครั้งนี้ และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต พร้อมให้คำแนะนำแก่นักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ

สรุปเป็นข้อๆ เข้าใจง่ายๆ ลองอ่านดูนะครับ

  1. ผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ กระทบกับสองสิ่งหลัก คือ “รายได้” และ “งบดุล”
  2. การแก้วิกฤตครั้งนี้ เป็นเรื่องของ “เงิน” กับ “เครดิต” รัฐบาลสหรัฐฯ ปั๊มเงินและเครดิต (หนี้) ออกมา
  3. เฟด (ธนาคารกลาง) ซื้อตราสารหนี้ แล้วคลังฯ ก็เอาเงินนั้นไปแจกจ่ายให้คนจำนวนมาก ยุโรปก็กำลังทำแบบเดียวกัน
  4. สหรัฐฯ ปั๊มเงินออกมามากมาย กู้หนี้มามากมาย แต่ใครจะจ่ายหนี้ เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาว ประเด็นสำคัญคือ entity ไหนจะได้ประโยชน์ แล้วจะกระจายความมั่งคั่งกันอย่างไร
  5. นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ปี 1930 รัฐบาลก็กู้เงินมามากมาย และใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์มาแล้ว
  6. ตอนนี้เราอยู่ในโมเม้นท์ชี้เป็นชี้ตาย ต้องดูว่าผู้คนจะร่วมแรงร่วมใจกันหรือไม่
  7. โลกเราเคยเกิด “ระเบียบโลกใหม่” หรือ New World Order มาแล้วเมื่อปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง 
  8. “การเมือง” เป็นปัจจัยที่จะมาตัดสินว่า หลังวิกฤต เราจะดีลกันเองอย่างไร จะจัดการกับความเหลื่อมล้ำอย่างไร ความฝันแบบอเมริกันยังมีอยู่มั้ย เราจะมุ่งไปในจุดเดียวกันหรือไม่
  9. มี “stress test” เกิดขึ้นทุก 75 ปี และกำลังเกิดขึ้นอยู่อีกครั้งตอนนี้
  10. เรากำลังก้าวเข้าสู่ “ภาวะตกต่ำ” (Depression) ทั่วโลก ดาลิโอชี้ชัดว่า คำว่า “depression” หมายถึงแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นระหว่างปี 1929-1932 คือเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราคนว่างงานเป็นเลขสองหลัก และขนาดของเศรษฐกิจลดลงไป 10% ขณะนี้เรากำลังอยู่ในภาวะเหมือนในตอนนั้น (ในปี 1933 รัฐบาลยุคนั้นแก้ไขปัญหาด้วยการพิมพ์เงินออกมามากมาย แบบเดียวกับที่รัฐบาลตอนนี้ทำ อัตราดอกเบี้ยก็เป็นศูนย์)
  11. ถามว่าใช้เวลานานขนาดไหนกว่าตลาดหุ้นจะกลับขึ้นไปและผ่านจุด high เดิม และใช้เวลานานขนาดไหนกว่าเศรษฐกิจจะกลับขึ้นไปและผ่านจุด high เดิม? ดาลิโอบอกว่า “นาน” และกระบวนการอาจจะใช้เวลากว่า “สามปี” กว่าจะปรับโครงสร้างขึ้นมาใหม่ได้
  12. “นี่ไม่ใช่การถดถอย (recession) นี่คือการพังทลาย (breakdown)”
  13. พลังที่มีอำนาจสูงสุด คือการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ (invention) กับ การปรับตัว (adaptation)
  14. เรากำลังเห็นเงินหายไป 20 ล้านล้านเหรียญ ตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) จะสาหัสยิ่งกว่า เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือเหมือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป
  15. จะมีธุรกิจที่ไม่มีเงินจ่ายหนี้แล้วก็เจ๊งไป ปัญหาคือ ใครจะเป็นฝ่ายได้เช็คสำหรับเอาไปจ่ายหนี้แล้วรอดตัว แม้แต่โรงพยาบาลก็อาจจะเจ๊ง และจะกลับมาไม่เต็มตัว แม้ทุกคนจะต้องการโรงพยาบาลในเวลานี้
  16. ถ้าไล่ดูปัญหาทีละเปลาะ แล้วดูที่กระบวนการแก้ไข จะเห็นว่านี่ไม่ใช่แค่ไวรัสที่เกิดขึ้นแล้วจะหายไป แต่จะมีคนหมดตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงของรายได้ เราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบการเงินใหม่ เราจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว
  17. ครั้งนี้หนักหนากว่าปี 2008 มาก ในปี 2008 ปัญหาคือแบงก์กู้มาเยอะ พอกู้มามากเกินแล้วเศรษฐกิจพัง รัฐบาลก็ไม่ยอมให้แบงก์เจ๊ง เลยเอาเงินไปช่วย แต่เที่ยวนี้ซับซ้อนกว่าเยอะ เพราะไม่ใช่แค่แบงก์ที่มีปัญหา ทว่าเป็นธุรกิจน้อยใหญ่ ทุกที่ ทุกหนแห่ง วิกฤตครั้งนี้หนักกว่า นโยบายการเงินใช้ได้ผลน้อยกว่า เพราะทำไปเยอะแล้ว ดอกเบี้ยก็เป็นศูนย์แล้ว
  18. ครั้งนี้เฟดซื้อแต่สินทรัพย์ทางการเงินอย่างเดียวไม่ได้ผล ต้องซื้อหนี้จากรัฐบาลด้วย ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องหากำลังซื้อมาซื้อผลิตผลทางเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งยากกว่าครั้งก่อนเยอะ
  19. บริษัทมีสองแบบ แบบแรกคือไม่ได้มีหนี้มาก ธุรกิจมั่นคง เช่น แคมป์เบล ขายซุปกระป๋อง พวกนี้ไม่มีปัญหา อีกแบบคือพวกนักประดิษฐ์ พวกหลังนี่ถ้าปรับตัวได้ สร้างนวัตกรรมเก่ง และงบดุลไม่แย่ ก็จะผ่านวิกฤต และจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ต่อไป
  20. ถามว่า สมัยนี้มีการใช้อัลกอริธึ่มในการเทรด มันจะส่งผลต่อตลาดอย่างไร ดาลิโอบอกว่า พื้นฐานของอัลกอริธึ่ม คือความสัมพันธ์ระหว่าง “cause กับ effect” ซึ่งเป็นการทำให้คอมพิวเตอร์คิดได้แบบมนุษย์ แต่เป็นการคิดในระดับที่ก้าวหน้ากว่า ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และตัดสินใจในยุคนี้เหนือกว่าทุกยุคสมัย แต่คุณต้องเข้าใจมันเสียก่อน จึงจะรู้ว่าจะใช้มันให้ถูกต้องได้อย่างไร
  21. สำหรับนักลงทุนทั่วไป สิ่งที่ควรทำคือต้อง “กระจายการลงทุน” (diversify) และต้องกระจายมันให้สมดุล
  22. สิ่งที่นักลงทุนพลาดกันมากที่สุด คือคิดว่าสิ่งที่เคยเวิร์กเมื่อเร็วๆ นี้ จะเป็นการลงทุนที่ดีกว่า และสิ่งที่ไม่เวิร์กเร็วๆ นี้ จะเป็นการลงทุนที่แย่กว่า ที่จริงแล้ว สิ่งที่เวิร์กเร็วๆ นี้ คือสิ่งที่แพงกว่า และสิ่งที่ไม่เวิร์กเร็วๆ นี้ คือสิ่งที่ถูกกว่า ถ้านักลงทุนบุคคลไม่รู้ตรงนี้ ถ้าไม่เข้าใจความมั่งคั่ง (wealth) ในโลก ก็จะลงทุนไม่สำเร็จ
  23. นักลงทุนควรกระจายการลงทุนในหลายๆ วิธี เช่น ในหลายๆ ประเทศ ในหลายๆ ค่าเงิน อาจจะมีทองคำบ้าง มีสินทรัพย์อื่นบ้าง 
  24. อย่าคิดว่าเงินสด คือการลงทุนที่ปลอดภัย “เงินสดคือการลงทุนที่ดึงดูด เพราะไม่ผันผวนมาก” แต่มันจะโดนภาษีและถูกทำลายอำนาจซื้อปีละ 2% “เงินสดเป็นการลงทุนที่แย่ที่สุดเสมอ”
  25. ดาลิโอฝากถึงนักลงทุนทั่วไปอย่างเราๆ ว่า ให้ “กระจายการลงทุนให้ดี ถ่อมตัวเอาไว้ อย่าจับจังหวะตลาด มีสติตระหนักรู้ถึงอันตรายของเงินสดอยู่เสมอ”

Image credit :  Harry Murphy / Web Summit via Sportsfile