มีเงินก็ไม่มีความสุขหรอก .. จริงหรือ?

men-2425121_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ผมอ่านเจอในหนังสือยอดฮิต “Sapiens” และอยากเอามาถ่ายทอดให้ฟังกัน โดยขอประยุกต์ให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นนะครับ

ในแทบทุกสังคม เรามักได้ยินคำสอนหรือความเห็นในทำนองว่า “เงินทอง” กับ “ความสุข” เป็นสองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน บางคนบอกว่า “มีเงินก็ไม่มีความสุขหรอก” ที่หนักหน่อยก็พูดราวกับว่าเงินทองคือความชั่วร้าย คนยิ่งมีเงินยิ่งโลภ ยิ่งทำในสิ่งที่ไม่ดี สู้คนที่ไม่โลภ ไม่ไขว่คว้า รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีไม่ได้

เรื่องพวกนี้ ถ้าเถียงกันลอยๆ คงยากจะได้ข้อสรุป วิธีที่น่าจะดีที่สุด คงหนีไม่พ้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มีคนเคยศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไว้อย่างจริงจัง โดยสำรวจคนที่มีเงินมากและเงินน้อย เพื่อหาระดับความสุขของพวกเขา

ในแบบสอบถาม ผู้วิจัยได้ให้ผู้ตอบให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 10 ว่าเห็นด้วยกับข้อความต่อไปนี้หรือไม่ อาทิ “ฉันมีความสุขมากกับชีวิตที่เป็นอยู่” หรือ “ฉันรู้สึกว่าชีวิตนี้งดงามจริงๆ” หรือ “ฉันมองอนาคตในแง่บวกมากๆ” หรือ “ชีวิตนี้ดีมากๆ” จากนั้น ผู้สำรวจก็จะเอาคำตอบทั้งหมดมารวมเป็นคะแนน

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายตามรายได้ คือไปถามคน 1,000 คนที่มีรายได้  100,000 เหรียญ ต่อปี และอีก 1,000 คนที่มีรายได้ 50,000 เหรียญต่อปี ผลที่ได้ก็คือ คนกลุ่มแรกได้คะแนนรวม 8.7 ขณะที่กลุ่มหลังได้คะแนน 7.3

(วิธีเดียวกันนี้ สามารถใช้สำรวจกับเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เช่น คนที่อยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย กับระบอบเผด็จการ ใครมีความสุขกว่ากัน)

ผลการวิจัยจึงสรุปออกมาว่า “ความร่ำรวย” มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกับ “ความรู้สึกสุขสบายของคนๆ นั้น” … หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “เงินทองนำมาซึ่งความสุข” อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังสรุปอีกว่า เงินทองจะช่วยเพิ่มความสุข “ถึงจุดหนึ่ง” เท่านั้น หากเกินกว่าจุดนั้นไป จะไม่มีความสุขส่วนเพิ่มอีก

เช่น single mom ชาวอเมริกันคนหนึ่ง มีรายได้ปีละ 12,000 เหรียญ แต่ถูกล็อตเตอรี่ ได้เงินมา 500,000 เหรียญ จะมีความสุขมากๆ และมีความสุขนานกว่า เมื่อเทียบกับผู้บริหารคนหนึ่ง ซึ่งเงินเดือนทั้งปี 250,000 เหรียญ แล้วอยู่ๆ ถูกหวยได้เงินมา 500,000 เหรียญ คนหลังนี้แม้จะมีความสุข แต่ก็สุขอยู่แค่ 1-2 สัปดาห์ เช่น อาจจะไปเที่ยวยุโรปสักทริปหนึ่ง ซื้อรถหรูสักคันหนึ่ง จากนั้นไม่นาน ชีวิตก็จะกลับสู่กิจวัตรปกติ ไม่มีอะไรพิเศษอีกต่อไป

ทว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่การวิจัยนี้ค้นพบก็คือ ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ความร่ำรวย สุขภาพ หรือแม้แต่สังคมที่คนๆ นั้นอยู่เสมอไป แต่อยู่ที่ความเชื่อมโยงกันระหว่าง “สิ่งที่คนๆ นั้นได้รับ” กับ “สิ่งที่คนๆ นั้นคาดหวัง”

เช่น ถ้าคุณอยากได้รถโตโยต้าสักคัน แล้วคุณก็ได้มันมา คุณจะมีความสุขมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่อยากได้เฟอร์รารี่คันใหม่ แต่สุดท้ายได้แค่รถเบนซ์

ดังนั้น สืบเนื่องจากผลวิจัยนี้ คำที่สอนว่า “ให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี” จึงถือว่าสมเหตุสมผลอยู่ แต่คำสอนหรือความเชื่อในระดับ extreme ที่บอกว่า “เงินทองกับความสุขไม่เกี่ยวข้องกัน” คงไม่เป็นความจริง เพราะเงินทองช่วยเพิ่มความสุขได้จริง แม้จะทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

โดยสรุป หากเราอยากมีความสุขแบบเป็นรูปธรรมแท้จริง เราควรรู้ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร แค่ไหน แล้วไขว่คว้าจนได้สิ่งนั้นมา ไม่ใช่อยากได้ให้น้อยเข้าไว้ (เว้นเสียแต่คุณต้องการแค่นั้นจริงๆ) แต่ก็ไม่ใช่อยากจะมีให้มากที่สุด เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการมีความสุขครับ

——————————–