ครึ่งปีแรกสุดโหด กับสิ่งที่ควรทำต่อไป

nightmare-3483459_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

(เขียนเมื่อ 1 ก.ค. 2018)

ครึ่งแรกของปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ “โหด” มาก สำหรับนักลงทุนทั่วโลก เพราะตลาดหุ้นพากันเทกระจาด เจ็บตัวกันถ้วนหน้า

นำโดยตลาดหุ้นจีน ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ปรับตัวลดลงจากต้นปีราว 15% ลงจากจุดสูงสุดระหว่างเดือน ม.ค. เกือบ 20% ส่วน หั่งเสง ฮ่องกง ลดลงประมาณ 5% นิคเคอิ ลดกว่า 5% DAX เยอรมนี ลด 4% กว่าๆ พอๆ กับสิงคโปร์ที่ลงมาเกือบ 4%

ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายหนักกว่านั้นเยอะ เช่น ตลาดหุ้นไทย ที่ปรับลดลงมา 9% จากพันแปดร้อยปลายๆ เหลือไม่ถึง 1,600 จุด ส่วนมาเลเซียเพื่อนบ้านลง 5.86% และที่หนักสุดคือฟิลิปปินส์ ลดลงกว่า 16%

จะมีก็แต่ตลาดหุ้นอเมริกาพี่ใหญ่ ที่แม้จะมีประธานาธิบดีห่ามๆ แต่ก็ยังโต โดยนอกจากดาวโจนส์ ที่ลด 1.8% อีกสองดัชนีต่างเป็นบวก โดย S&P 500 บวก 1.7% และแนสแด็ค บวก 8.8%

ปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นลง คงหนีไม่พ้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ที่เล่นกันหนักขึ้นทุกที จนนักลงทุนทั่วโลกต่างเป็นกังวล ตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเรื่องเงินเฟ้อ

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ทำให้หลายคนคิดว่า “วิกฤต” ที่มักจะวนเวียนมาทุกๆ สิบปี อาจอุบัติขึ้นในปีนี้ เพราะมันปัจจัยทุกอย่างมัน “ได้”

บางคนมองว่า มันเริ่มต้นขึ้นแล้วด้วยซ้ำไป !!

ผมเคยพูดถึงวัฏจักร “วิกฤตสิบปีครั้ง” อยู่บ่อยๆ พอครึ่งปีแรกเป็นเช่นนี้ ก็แอบคิดว่ารอบนี้อาจจะ “ใช่” คือถึงแม้ไม่ใช่วิกฤต อย่างน้อยน่าจะเป็น “ตลาดหมีหนักๆ” ค่อนข้างแน่

นี่เป็นเวลาที่ผมและนักลงทุนจำนวนมากซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นมานาน รอคอยมา “สิบปีเต็ม” ดังที่ ดร.นิเวศน์ เพิ่งให้สัมภาษณ์คุณสุทธิชัย หยุ่น ไว้ว่า สิบปีที่ผ่านมา เป็นสิบปีที่ไม่มี “วิกฤตย่อย” เลย คือดีมาตลอดสิบปี นั่นทำให้หลายฝ่ายยิ่งมองว่า คราวนี้น่าจะลงจริงและลงหนัก เพราะมันสงบนิ่งมานานแล้ว (ที่จริงมีวิกฤตหนี้ยุโรปสอดแทรกมาเป็นระยะเหมือนกัน แต่ผลกระทบกลับน้อยมาก)

ต่อไปน้ี ผมขอไล่เรียงสิ่งที่จะทำในสถานการณ์ปัจจุบัน เผื่อบางท่านอาจประยุกต์ไปใช้กับการลงทุนของตัวเองได้นะครับ

  1. ผมจะทยอยขายหุ้นที่มีโอกาสเติบโตน้อยที่สุดในพอร์ตออกไป แล้วแบ่งเงินที่ได้มาเป็นสองส่วน ส่วนแรกเตรียมไว้เป็นกระสุน ยังไม่ซื้ออะไร อีกส่วนหนึ่งนำไปซื้อหุ้นที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า และราคาลดลงมาพร้อมๆ กับตลาด
  2. ผมจะงดลงทุนอย่างอื่นทั้งหมด ไม่เอาเงินไปซื้อคอนโด ซื้อบ้าน ซื้อรถ เวลาเช่นนี้ การลงทุนทุกอย่างรอได้ แต่โอกาสสิบปีครั้งจะรอช้าไม่ได้
  3. แม้ใครแนะให้เอาเงินไปซื้อ LTF ในช่วงนี้ แต่ผมไม่เอาเด็ดขาด จุดประสงค์หลักของ LTF คือเพื่อลดหย่อนภาษี แต่จุดประสงค์หลักเวลานี้คือเราต้องการรวย LTF เอาไว้ซื้อ ธ.ค. ได้ แพงก็ช่างมัน ยังไงก็ต้องถือไปอีกนาน ตอนนี้ซื้อหุ้นก่อน (แม้ว่าที่จริงซื้อไปก็ไม่กระทบอะไร เพราะเป็นเงินนิดเดียว แต่ผมไม่อยากเสียสมาธิกับมัน)
  4. ผมจะไม่ขายหุ้นดีในพอร์ตทิ้ง หุ้นทุกตัวเป็นหุ้นที่ผมเลือกมาดีแล้ว เหตุที่ราคามันลงมาเพราะต่างชาติขาย ไม่ใช่เพราะตัวของมันมีปัญหา นาทีนี้ต้องซื้อเพิ่ม ไม่ใช่ขาย
  5. เมื่อเห็นว่าหุ้นลงมาพอสมควรแล้ว ผมจะเข้าซื้อหุ้นตัวท้อป 1-2 ตัวแรกใน wish list ก่อน (ซึ่งโดยมากจะเป็นหุ้นที่ผมมีในพอร์ตอยู่แล้ว) เช่น สมมุติว่า wish list ของผมมีหุ้นอยู่ห้าตัว ผมจะยังไม่ซื้อตัวที่สามถึงห้า แต่จะซัดไปกับสองตัวแรกไม่น้อยกว่า 60-70% ของเงิน
  6. เงินส่วนที่เหลือ 30-40% จากข้อ 5 จึงเอามาซื้อหุ้นตัวรองๆ ลงไปใน wish list แต่รวมๆ แล้วจะไม่เกินห้าตัว เพราะดังที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยสอนไว้ว่า ไม่มีใครรวยจากไอเดียที่ดีในลำดับที่เจ็ด
  7. ผมจะหยุดงานอื่น แล้วหาหุ้นให้หนักขึ้น เช่น ปกติผมแปลหนังสือค่อนข้างเยอะ ในช่วงนี้ผมจะลดเวลาแปลหนังสือลง 50% แล้วเอาเวลาที่เพิ่มขึ้นมามาหาหุ้น งานทุกอย่างเป็นงานรองไปหมดแล้วในภาวะเช่นนี้
  8. ผมจะไม่จำกัดตัวเองอยู่เพียงหุ้นไทย แต่จะหาหุ้นของประเทศอื่นที่ปรับตัวลงมาเยอะด้วย (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่หุ้นสหรัฐฯ) เช่น หุ้นจีน ฯลฯ ประเทศไทยหุ้นลงเยอะยังไง PE ก็ยังอยู่แถวๆ 16 เท่า ของดีมีอยู่ทั่วโลก มองให้พ้นเมืองไทยไปซะ
  9. ผมจะหยิบหนังสือลงทุนมาทบทวนบ้างเพื่อลับคมสมอง เหมือนนักรบที่ในช่วงพักต้องเอาหอกเอาดาบมาลับให้คม แต่คงจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มหนาๆ เพราะใช้เวลากับการหาหุ้นมากกว่า ที่สำคัญคือ ผมจะไม่เสียเวลาอ่านหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุน หนังสือบางเล่มใช้ชื่อว่าหนังสือลงทุน แต่เป็นเรื่องอ่านสนุกที่ประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้ยาก เช่นนี้ผมไม่อ่านแน่ เวลาเป็นของมีค่า
  10. ผมจะพยายามมองโลกในแง่บวกให้มากที่สุด แม้ใครจะบอกว่านี่เป็นเทศกาล “คืนกำไร” บางคนบ่นว่า เงินที่ได้มาปีที่แล้วทั้งปี ครึ่งปีนี้หายไปหมดแล้ว แต่ผมกลับมองเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะหุ้นเดิมของผมไม่ได้เดือดร้อน เพียงแค่มีคนมาตีมูลค่ามันลดลง ผมรอโอกาสนี้มาสิบปี และดูเหมือนว่ามันใกล้จะมาถึงแล้ว ยิ่งลดก็ยิ่งดี ผมไม่กลัว มีแต่จะซื้อเพิ่ม

ผมเคยเปลี่ยนฐานะขึ้นมาได้ในปี 2008 ถึงปีนี้ 2018 ถ้า “วิกฤตตลาดหุ้น” หรือ “ภาวะตลาดหมี” มาถึงจริง ผมจะทำมันอีกครั้ง และทำให้ดีกว่าเก่า

เพราะโอกาสของผม (อาจ) ใกล้มาถึงแล้ว 

มีเงินก็ไม่มีความสุขหรอก .. จริงหรือ?

men-2425121_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ผมอ่านเจอในหนังสือยอดฮิต “Sapiens” และอยากเอามาถ่ายทอดให้ฟังกัน โดยขอประยุกต์ให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นนะครับ

ในแทบทุกสังคม เรามักได้ยินคำสอนหรือความเห็นในทำนองว่า “เงินทอง” กับ “ความสุข” เป็นสองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน บางคนบอกว่า “มีเงินก็ไม่มีความสุขหรอก” ที่หนักหน่อยก็พูดราวกับว่าเงินทองคือความชั่วร้าย คนยิ่งมีเงินยิ่งโลภ ยิ่งทำในสิ่งที่ไม่ดี สู้คนที่ไม่โลภ ไม่ไขว่คว้า รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีไม่ได้

เรื่องพวกนี้ ถ้าเถียงกันลอยๆ คงยากจะได้ข้อสรุป วิธีที่น่าจะดีที่สุด คงหนีไม่พ้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มีคนเคยศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไว้อย่างจริงจัง โดยสำรวจคนที่มีเงินมากและเงินน้อย เพื่อหาระดับความสุขของพวกเขา

ในแบบสอบถาม ผู้วิจัยได้ให้ผู้ตอบให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 10 ว่าเห็นด้วยกับข้อความต่อไปนี้หรือไม่ อาทิ “ฉันมีความสุขมากกับชีวิตที่เป็นอยู่” หรือ “ฉันรู้สึกว่าชีวิตนี้งดงามจริงๆ” หรือ “ฉันมองอนาคตในแง่บวกมากๆ” หรือ “ชีวิตนี้ดีมากๆ” จากนั้น ผู้สำรวจก็จะเอาคำตอบทั้งหมดมารวมเป็นคะแนน

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายตามรายได้ คือไปถามคน 1,000 คนที่มีรายได้  100,000 เหรียญ ต่อปี และอีก 1,000 คนที่มีรายได้ 50,000 เหรียญต่อปี ผลที่ได้ก็คือ คนกลุ่มแรกได้คะแนนรวม 8.7 ขณะที่กลุ่มหลังได้คะแนน 7.3

(วิธีเดียวกันนี้ สามารถใช้สำรวจกับเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เช่น คนที่อยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย กับระบอบเผด็จการ ใครมีความสุขกว่ากัน)

ผลการวิจัยจึงสรุปออกมาว่า “ความร่ำรวย” มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกับ “ความรู้สึกสุขสบายของคนๆ นั้น” … หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “เงินทองนำมาซึ่งความสุข” อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังสรุปอีกว่า เงินทองจะช่วยเพิ่มความสุข “ถึงจุดหนึ่ง” เท่านั้น หากเกินกว่าจุดนั้นไป จะไม่มีความสุขส่วนเพิ่มอีก

เช่น single mom ชาวอเมริกันคนหนึ่ง มีรายได้ปีละ 12,000 เหรียญ แต่ถูกล็อตเตอรี่ ได้เงินมา 500,000 เหรียญ จะมีความสุขมากๆ และมีความสุขนานกว่า เมื่อเทียบกับผู้บริหารคนหนึ่ง ซึ่งเงินเดือนทั้งปี 250,000 เหรียญ แล้วอยู่ๆ ถูกหวยได้เงินมา 500,000 เหรียญ คนหลังนี้แม้จะมีความสุข แต่ก็สุขอยู่แค่ 1-2 สัปดาห์ เช่น อาจจะไปเที่ยวยุโรปสักทริปหนึ่ง ซื้อรถหรูสักคันหนึ่ง จากนั้นไม่นาน ชีวิตก็จะกลับสู่กิจวัตรปกติ ไม่มีอะไรพิเศษอีกต่อไป

ทว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่การวิจัยนี้ค้นพบก็คือ ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ความร่ำรวย สุขภาพ หรือแม้แต่สังคมที่คนๆ นั้นอยู่เสมอไป แต่อยู่ที่ความเชื่อมโยงกันระหว่าง “สิ่งที่คนๆ นั้นได้รับ” กับ “สิ่งที่คนๆ นั้นคาดหวัง”

เช่น ถ้าคุณอยากได้รถโตโยต้าสักคัน แล้วคุณก็ได้มันมา คุณจะมีความสุขมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่อยากได้เฟอร์รารี่คันใหม่ แต่สุดท้ายได้แค่รถเบนซ์

ดังนั้น สืบเนื่องจากผลวิจัยนี้ คำที่สอนว่า “ให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี” จึงถือว่าสมเหตุสมผลอยู่ แต่คำสอนหรือความเชื่อในระดับ extreme ที่บอกว่า “เงินทองกับความสุขไม่เกี่ยวข้องกัน” คงไม่เป็นความจริง เพราะเงินทองช่วยเพิ่มความสุขได้จริง แม้จะทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

โดยสรุป หากเราอยากมีความสุขแบบเป็นรูปธรรมแท้จริง เราควรรู้ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร แค่ไหน แล้วไขว่คว้าจนได้สิ่งนั้นมา ไม่ใช่อยากได้ให้น้อยเข้าไว้ (เว้นเสียแต่คุณต้องการแค่นั้นจริงๆ) แต่ก็ไม่ใช่อยากจะมีให้มากที่สุด เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการมีความสุขครับ

——————————–

ดร.ศุภชัย ชี้ความเป็นไปได้ “ต้มยำกุ้ง 2”

IMG_6138
เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Asian Nikkei Review โดยชี้ถึงสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจไทยและเอเชีย ผมไปอ่านเจอและเห็นว่ามีประโยชน์มากทีเดียว จึงขอสรุปออกมาเป็นข้อๆ ให้เข้าใจกันง่ายๆ นะครับ
1. ถามว่า เอเชียมีโอกาสเจอวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ ดร. ศุภชัย ตอบว่า ตอนนี้ทุกอย่างยังดูดีอยู่ เศรษฐกิจอเมริกาดีขึ้นเรื่อยๆ ตลาดหุ้นก็ขึ้นตาม หุ้นเอเชียก็ขึ้น ส่วนจีนกำลังปรับโครงสร้าง
สิ่งที่ต้องระวัง คือปัจจัยที่จะมาทำให้ภาพที่กำลังดีเหล่านี้สิ้นสุดลง
2. ถามว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นคืออะไร ก็ อาทิเช่น ถ้าค่าเงินหยวนร่วงลงรุนแรง จะฉุดให้ค่าเงินเอเชียร่วงลงไปด้วยทั้งภูมิภาค และลุกลามกลายเป็นวิกฤตได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลจีนก็ดูเรื่องนี้อยู่ และหยวนต่อดอลล่าร์ก็เริ่มทรงตัวแล้ว
3. ถามว่า แล้วประเทศไทยเองเสี่ยงที่จะเจอวิกฤตเหมือนเมื่อครั้งต้มยำกุ้งอีกหรือไม่ ตอบว่า เศรษฐกิจยังไปได้อยู่ มีเงินสำรองต่างประเทศเพียงพอ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ แต่ก็ด้วยความแข็งของค่าเงินบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยโตยาก
4. สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเมืองไทย คือความสามารถในการแข่งขัน
ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตามเราทันหมดแล้ว และอาจแซงเราได้ในเร็ววันนี้ ทั้ง อินโดฯ อินเดีย ที่โตเร็วมาก เช่นเดียวกับ จีน ฟิลิปปินส์ ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยโตปีละ 3% เทียบกับทั่วโลกถือว่าไม่น้อย แต่เราแพ้เพื่อนบ้านที่โตกันปีละ 5-6%
5. ถามว่า เรื่องฟองสบู่อสังหาล่ะ น่าเป็นห่วงหรือไม่
ดร.ศุภชัย ตอบว่า ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ ในปริมาณที่สูงมาก ทำให้เกิดโครงการใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเกิด oversupply อยู่หลายหมื่นยูนิต ผู้ประกอบการจึงหันไปจับลูกค้ากลุ่มบนและชาวต่างชาติแทน
แต่การไปจับลูกค้าต่างชาติก็ต้องระวัง เพราะถ้าวันหนึ่งพวกเขาหยุดซื้อขึ้นมา สินเชื่อจำนวนมากจะกลายเป็น NPL และสุดท้ายแบงก์ก็จะมีปัญหาจนส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม
อย่าชะล่าใจว่าปัญหายังไกลตัว สมัยก่อนคนก็พูดแบบนี้ สุดท้ายจึงกลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง!!
6. ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งมาจากต่างประเทศ คือถ้าดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตามเทรนด์เศรษฐกิจโลกเวลานี้ ราคาอสังหาก็อาจร่วงลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
7. ถามว่า แล้วจะเตรียมตัวป้องกันวิกฤตกันอย่างไร ดร.ศุภชัย ตอบว่า ประเทศเอเชียต้องช่วยกันระวังและสนับสนุนกันและกัน เงินทุนที่ประเทศเอเชียใช้ล้วนมาจากภายนอก เป็นการเข้ามาโดยปราศจากการควบคุม ปราศจาก governance
เงินพวกนี้ ถ้าวันหนึ่งจะไหลออก มันก็ออกได้ทันที พวกผู้จัดการกองทุนเขาไม่สนใจหรอกว่า ค่าเงินที่ผันผวนจะส่งผลเสียหายอย่างไรบ้าง!!
8. ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องใช้ประโยชน์จากความเป็น AEC หานโยบายที่จะป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดกับเรา โดยเป็นนโยบายที่กระตุ้นการเติบโตและสนับสนุนการค้าการลงทุน ถ้าทำได้ก็จะลดแรงกระแทกหากทางต่างประเทศเกิดอะไรขึ้น
นี่ AEC ก็เริ่มมาปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มีแต่ชื่อสวยๆ เท่านั้น ควรทำอะไรที่เป็นรูปธรรมได้แล้ว
———
ที่มาของข้อมูล : Nikkei Asian Review June 26- July 2, 2017
Image credit : Roberto Barroso / Abr (source: wikipedia)
หมายเหตุ –  ข้อเขียนนี้เป็นการสรุปความ มิได้แปลออกมาแบบคำต่อคำ โดยผมพยายามถอดความให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด หากมีข้อผิดพลาดใดๆ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้