บ่ายวันหนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ช่วงพักกลางวัน ห้องเรียนชั้น ป.5/4
ขณะที่ ด.ช.จอมยุทธ์ หยิบไม้บรรทัดมาเล่นฟันดาบกับเพื่อนอยู่นั้น ด้วยความที่ไม่ระวัง ไม้บรรทัดในมือจึงปัดไปโดนแจกันที่วางอยู่บนโต๊ะของครูประจำชั้นตกลงมาแตก
พอครูประจำชั้นเดินเข้าห้องมา พบเศษแจกันแตกกระจายอยู่บนพื้น จึงถามว่าใครเป็นคนทำ ปรากฏว่า ด.ช.จอมยุทธ์ ชี้นิ้วไปที่ ด.ช.เสรี บอกครูว่า “เสรี เป็นคนทำแตกครับ” เล่นเอา ด.ช.เสรี เป็นงง ว่าทำไม ด.ช.จอมยุทธ์ ถึงโบ้ยความผิดมาให้ตนดื้อๆ แบบนี้
สุดท้าย ครูประจำชั้นต้องถามเอาจากเพื่อนๆ ในห้อง ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ด.ช.จอมยุทธ์ นั่นแหล่ะที่เป็นคนทำแจกันแตก ครูประจำชั้นจึงจับ ด.ช.จอมยุทธ์ มาหวดก้น สามที พลางสอน ด.ช.จอมยุทธ์ ว่า
“ที่ครูต้องตีเธอ ไม่ใช่เพราะเธอทำแจกันแตก แต่เป็นเพราะเธอทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แถมยังพูดโกหก ป้ายความผิดให้คนอื่นอีกต่างหาก”
นั่นคือเรื่องของ ด.ช.จอมยุทธ์ …… และต่อไปนี้คือเรื่องของผมเอง
บ่ายวันหนึ่ง เมื่อราวๆ สามเดือนที่แล้ว ขณะกำลังขับรถออกจากซอยบ้านเพื่อไปทำธุระ มีรถสีขาวคันหนึ่งขับสวนเข้ามาในซอย และสวนกับรถผมตรงจุดที่เป็นตรอกแคบๆ
ระหว่างที่รถสองคันกำลังเคลื่อนผ่านกันด้วยความยากลำบากนั้น ปรากฏว่ารถสีขาวคันนั้นก็หักเข้ามาชนรถผมอย่างจัง
ผมจึงลงจากรถ ถ่ายรูปเป็นหลักฐานไว้ แล้วถามคนขับ ซึ่งเป็นชายที่ค่อนไปทางสูงอายุว่า แกจะยอมรับผิดหรือไม่?
ปรากฏว่าแก “ตีมึน” ไม่ยอมรับผิดเอาดื้อๆ โดยอ้างว่าเหตุที่เกิดขึ้น เป็นการที่ “ต่างคนต่างชน” กัน
เผอิญประกันของแกกับประกันของผมเป็นบริษัทเดียวกัน พอเจ้าหน้าที่ประกันมาถึงที่เกิดเหตุและได้สืบสาวราวเรื่อง รวมทั้งตรวจหลักฐานจากภาพถ่ายและรอยเฉี่ยวชนซึ่งปรากฏชัดอยู่แล้ว พี่ประกันจึงอธิบายให้ลุงคู่กรณีผมฟังอย่างละมุนละม่อมว่าแกเป็นฝ่ายผิด
ทีแรก ลุงแกจะไม่ยอมท่าเดียว ขนาดหลักฐานโทนโท่เยี่ยงนั้นก็ยังโบ้ยโน่นนี่ไปเรื่อยเปื่อย
คุยกันไปสักพัก แกก็ถามถึง “ค่า exempt” (ค่าใช้จ่ายที่บริษัทประกันเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ทำประกันรถยนต์สำหรับอุบัติเหตุในบางกรณีที่ผู้ทำประกันเป็นฝ่ายผิด) ขึ้นมา
ผมได้ยินดังนั้นจึงเข้าใจได้ในทันทีว่า สาเหตุที่แกไม่ยอมรับผิด คงเป็นเพราะแกกลัวจะเสียค่า exempt และคงไม่อยากให้รถเสียประวัติ (ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ลดค่าเบี้ยประกันในปีต่อๆ ไป)
เจ้าหน้าที่ประกันจึงชี้แจงว่า รถของแกเคย “เคลม” มาแล้ว (ดูจากริ้วรอยที่รถแกซึ่งมีอยู่หลายจุด ผมก็รู้เลยว่าแกคงไม่ใช่คนขับรถดีนัก และนั่นคงเป็นสาเหตุที่แกขับรถมาชนผม) จึงถือว่า “เสียประวัติแล้ว” ดังนั้น แม้แกจะยอมรับผิดในกรณีนี้ (ซึ่งแกผิดจริง) ก็ไม่ได้ทำให้แกต้องเสียค่า exempt หรือเสียประวัติอะไรเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่
… ได้ยินดังนั้น ลุงแกจึงยอม
ฝ่ายผม แม้จะพิสูจน์ได้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก แต่ก็ต้องเสียเวลาไปหนึ่งชั่วโมงเต็ม แทนที่จะเคลียร์ได้ภายในไม่เกินครึ่งชั่วโมง แถมยังต้องเสียเวลาเอารถไปซ่อม อีกทั้งรถของผมคันนี้ไม่เคยมีริ้วรอยมาก่อน แม้จะไปทำสีก็คงไม่เนี้ยบเหมือนเดิม แต่ไม่เป็นไร ถือว่าฟาดเคราะห์ไป
เรื่องนี้ทำให้ผมมาคิดดูว่า ทำไมลุงคนนี้ ซึ่งบุคลิกก็ดูดี น่าจะเป็นคนมีฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงานก็ใหญ่โต (สังเกตจากคำนำหน้าในบัตรประจำตัว) ถึงทำพฤติกรรมเหมือน ด.ช.จอมยุทธ์ ที่ทำแจกันของครูแตกไม่มีผิด
ก่อนที่ผมจะได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า นี่คือเรื่องของ “มโนธรรม” คือความรู้สึก “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” ซึ่งแม้จะเป็นเรื่อง “พื้นๆ” แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมี
คนที่มีมโนธรรม เมื่อความผิดตำตาขนาดนี้แล้วจะไม่กล้าโกหกซึ่งๆ หน้า เพราะเขาจะเกิดความรู้สึกละอาย รู้สึกว่าเราทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผิด โดยไม่ต้องมีกฏหมายหรือโทษทัณฑ์อันใดมาบีบบังคับ
ว่าด้วยเรื่อง “มโนธรรม” ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าในวัยเด็ก ครอบครัวของเรามีส่วนหล่อหลอมมากที่สุด แต่พอโตขึ้นมา ได้ใช้ชีวิตในโลกกว้าง สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราอย่างช้าๆ
ซึ่งถ้าใครไม่มีหลักยึดที่แน่นพอ ก็จะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ใครจะเดือดร้อนช่างมัน ไม่ใช่ฉันเป็นพอ … ถูก-ผิด เป็นเรื่องรอง
ลุงคนที่ผมเล่าจะมีมโนธรรมบ้างหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่พฤติกรรมของแกเป็นพฤติกรรมที่ “ไร้มโนธรรม” ไม่มีสำนึกผิดชอบชั่วดี ทำผิดซึ่งหน้าแต่ไม่ยอมรับผิด กลับโยนความผิดให้คนอื่น ก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมที่ว่ามีที่มาจากไหน จะติดตัวมาตั้งแต่วัยเยาว์ หรือสังคมที่แกอยู่บ่มเพาะกันมาก็ไม่ทราบ
แต่ผมคิดว่ามันคงแย่ ถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่ประพฤติปฏิบัติแบบนี้
ทีนี้ ถามว่าที่เล่ามาทั้งหมด มันเกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร ผมขออ้างคำพูดของ แอนโธนี่ โบลตัน สุดยอดผู้จัดการกองทุนชาวอังกฤษของบริษัทฟิเดลิตี้นะครับ
โบลตันบอกว่า การจะวัดคุณภาพของผู้บริหารบริษัทนั้น ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ดูว่า “เขาทำผิดแล้วยอมรับผิดหรือไม่?”
โปรดสังเกตนะครับ โบลตันไม่ได้บอกว่า ผู้บริหารที่ดีต้อง “ไม่เคยทำผิด” คนเราล้วนเคยทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น ผู้บริหารที่ไม่เคย take risk เลย ย่อมทำให้องค์กรเติบโตไม่ได้
การ “ทำผิด” แล้ว “ยอมรับผิด” ต่างหาก จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้บริหารที่ “ดี”
ดังนั้น เวลาเลือกซื้อหุ้นของบริษัทไหนก็ตาม ลอง track ย้อนหลังดูนะครับ ผู้บริหารบริษัทไหนทำผิดพลาดแล้วยืดอกยอมรับผิด อันนั้นผมว่าใช้ได้
แต่ถ้าทำผิดแล้วโทษชาวบ้าน โทษโน่นโทษนี่ โทษดินโทษฟ้า เหมือน ด.ช.จอมยุทธ์ หรือเหมือนลุงที่ขับรถมาชนผม หรือไม่ก็เที่ยวโม้ ตั้งเป้าผลประกอบการไว้เท่าโน้นเท่านี้ พอถึงเวลาทำไม่ได้แล้วก็ทำลืมๆ แถมยังกลบของเก่าด้วยการตั้งเป้าใหม่ที่สูงกว่าเดิมอีก
แบบนี้จงอย่าไปซื้อหุ้นของบริษัทนั้นเป็นอันขาด
คนเรา ลองถ้าไม่มี “มโนธรรม” เป็นพื้นฐานของจิตใจเอาไว้ แม้ในเรื่องเล็กๆ ก็ยังไม่มีความละอาย ไม่มีทางเลยที่เขาจะไม่ทำสิ่งชั่วร้ายในขั้นต่อๆ ไป
เจอคนแบบนี้ที่ไหน พึงอยู่ให้ห่างไว้เป็นดีที่สุดครับ !!
————————-
ภาพ แอนโธนี่ โบลตัน จาก telegraph.co.uk
ผมขับรถก็เจอคนแบบนี้เยอะ ผมมว่าคนมีมโนธรรมหาได้ยากมากในสมัยนี้ เจอ 1 ใน 10 คนก็นับว่าเยอะแล้ว