30 ปี Black Monday “สูงสุดย่อมคืนสามัญ”

crisis

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

(เขียนในวันที่ 19 ต.ค. 2017 ครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ Black Monday)

เหตุการณ์ “Black Monday” หรือ “จันทร์ทมิฬ” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 1987 หรือ “วันนี้” เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวลงพร้อมๆ กัน เริ่มจากฮ่องกง ยุโรป และลามมาถึงสหรัฐอเมริกา

โดยดัชนี ดาว โจนส์ ลดลงถึง 508 จุด หรือคิดเป็น 22.61% ในวันเดียว !!

<< เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น >>

ช่วงปลายปี 1985 ถึงต้นปี 1986 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังภาวะถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดย ดาว โจนส์ ไปแตะจุดพีคในเดือน ส.ค. ปี 1987 ที่ 2,722 จุด หรือสูงขึ้นถึง 44% จากสิ้นปีก่อนหน้า

อันที่จริง สัญญาณอันตรายได้เกิดขึ้นก่อนแล้ว โดยตลาดปรับตัวลงถึง 3.8% ในวันที่ 14 ต.ค. วันเดียว (ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในเวลานั้น ก่อนจะถูกทำลายกระจุยกระจายหลังจากนั้น 5 วันจากเหตุการณ์ Black Monday) จากนั้นในวันถัดมาก็ลงอีก 2.4% ถัดมาอีกวันก็ลงอีก 4.6%

จะเห็นได้ว่า Black Monday ไม่ได้เกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย อันที่จริงมันตกแบบน่าใจหายมาก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่า 3-4 วันทำการ วันละ 2-4% (ซึ่งในภาวะปกติถือว่าเยอะมากแล้ว)

ก่อนจะพังวินาศสันตะโรในวัน “จันทร์ทมิฬ” ดังกล่าว

และดังที่กล่าวไปแล้วว่า เหตุการณ์จันทร์ทมิฬ ไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นในวันเดียวกันทั่วโลก รวมทั้งในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทว่าสองประเทศสุดท้ายจะเรียกมันว่า “อังคารทมิฬ” หรือ Black Tuesday อันเนื่องมาจากไทม์โซนที่ต่างกัน เพราะกว่าจะลามมาถึงทวีปออสเตรเลียก็ปาเข้าไปวันอังคารที่ 20 แล้ว

<< สาเหตุเกิดจากอะไร? >>

คำถามที่พบเสมอคือ แล้วอะไรล่ะ คือสาเหตุให้เกิด Black Monday ?

คำอธิบายมีอยู่หลายประการ บ้างก็ว่าเกิดจากการ “ใช้โปรแกรมเทรด” บ้างก็ว่าเป็นเพราะ “หุ้นแพงเกินไป” บ้างก็ว่าเกิดจากการ “ขาดสภาพคล่องเฉียบพลัน” แต่บ้างก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของ “จิตวิทยาตลาด” ธรรมดาๆ

ทั้งนี้ คำอธิบายที่เชื่อถือกันมากที่สุด คือ “การใช้โปรแกรมเทรด” (program trading) เพราะในเวลานั้นพวกบริษัทในวอลล์สตรีทเริ่มหันมาใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย (โดยเฉพาะพอร์ตประกันที่ไปเฮดจ์เอาไว้) พอถึงจุดหนึ่ง โปรแกรมที่เซตไว้จึงทิ้งหุ้นพร้อมๆ กัน กลายเป็นเหตุการณ์จันทร์ทมิฬดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า แม้ตลาดจะตกลงมามาก ก็เป็นเพียง “return to normalcy” หรือการกลับสู่พื้นฐานที่แท้จริงเท่านั้น

ในปี 2017 นี้ ครบรอบ 30 ปี ของเหตุการณ์ Black Monday พอดี ซึ่งก็น่าแปลกที่มีหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่หุ้นสหรัฐฯ ขึ้นมาต่อเนื่องหลายปีติด จนหลายคนมองว่าน่าจะใกล้ถึงจุดพีคเต็มที

ที่น่าสังเกตก็คือ ไม่ว่าจะเป็น “ก่อนหน้า” หรือ “ภายหลัง” เหตุการณ์ ก็ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าสาเหตุคืออะไร !!

ดังนั้น จงอย่าคิดว่าหากตลาดหุ้นในปี 2017 จะพังครืนลงเหมือนเมื่อสามทศวรรษก่อน เราจะมี “ลางบอกเหตุ” อะไรล่วงหน้า เพราะขนาด Black Monday เกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่ามันเกิดจากสิ่งใดแน่ (นอกจากการที่ตลาดตกวันละหลายเปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านั้น 3-4 วัน)

แม้ “อนาคต” จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ แต่เราสามารถเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับมือกับมันได้ ยิ่งเหตุการณ์คลับคล้ายคลับคลา ยิ่งต้องระวังเอาไว้ให้ดี

หาก Black Monday คือการ “คืนสู่สามัญ” หรือ Return to Normalcy อย่างที่เชื่อกันจริง จะมีอะไรดีไปกว่าการ Return to Normalcy ล่วงหน้าของเราเอง ด้วยการมองหาหุ้นดี ในราคาที่เหมาะสม อย่าซื้อหุ้นที่แพงเกินไป อย่าหวังลมๆ แล้งๆ กับอนาคต

ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าในภาวะตลาดแบบใดก็ตาม!!

 

จะเป็นนักสวนกระแสได้อย่างไร

[ต่อไปนี้เป็นข้อเขียนจาก คาร์ล อิข่าห์น นักลงทุนเจ้าของฉายา “Corporate Raider” ผู้ชอบเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทแล้วขายทรัพย์สินทิ้งทำกำไร ตีพิมพ์ลงใน Forbes Magazine เป็นหนึ่งในสุดยอดนักธุรกิจโลก 100 คน ที่ Forbes รวบรวมไว้ มาดูกันนะครับว่าเขาสอนอะไรเราบ้าง]

คาร์ล อิข่าห์น เขียน

ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล

บางครั้ง หนทางทำเงินที่ดีที่สุด เกิดขึ้นเมื่อคนส่วนใหญ่บอกว่าคุณผิดหรือบ้าไปแล้ว มันไม่ง่ายเลย แต่ก็เหมือนกับบทกวีของ รุดยาร์ด คิปลิง ที่บอกว่า “หากหัวของคุณยังอยู่กับตัว ในขณะที่คนอื่นหัวหายไปหมดแล้ว” หากอารมณ์ของคุณตั้งมั่นพอ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้) คุณไม่ต้องไปสนใจเลยว่าพวกผู้เชี่ยวชาญจะว่าอย่างไร

การจะเป็นนักสวนกระแสนั้น ต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง ต้องมีความแข็งแกร่งทางจิตใจ ไม่ใช่อยู่ๆ อยากสวนก็สวนได้

ตัวอย่างเช่น ตอนที่พันธบัตรขยะพังครืนเมื่อปี 1989 ในช่วงหลายวันแรก ผมน่าจะเป็นผู้ซื้อเพียงคนเดียว และแม้จะต้องรอหลายปี มันก็ทำให้เรารวยอื้อซ่าเลย ผมเชื่อว่าอัตราส่วนความเสี่ยงต่อผลตอบแทนในตอนนั้นเข้าทางผม เพราะผมรู้ว่าผมกำลังซื้อบริษัท ไม่ใช่แค่พันธบัตร

คุณไม่อาจทำถูกต้องเสมอไป และบางครั้งก็ต้องใช้เวลานานมากเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองทำถูก หลายครั้งที่คุณทำเร็วไป (เช่น ในวันนี้ ผมเชื่อว่าตลาดกำลังจะเจอวิกฤต และจะเกิดการปรับตัวลงครั้งใหญ่ ผมจึงเฮดจ์ไว้) ผู้คนมักคิดว่าผมบ้าไปแล้วตอนที่ผมซื้อโรงแรมสตราโทสเฟียในลาสเวกัสซึ่งเพิ่งจะล้มละลาย ตอนนั้นมันเป็นโรงแรมทางเหนือสุด เป็นฝั่งของเมืองที่แย่พอๆ กับประเทศโลกที่สาม จากนั้นผมก็ซื้อบ้านทุกหลังรอบๆ สตราโทสเฟีย ซึ่งแม้แต่คนในเวกัสและคนที่โรงแรมยังหาว่าผมบ้า

แต่อันที่จริง ผมซื้อกระท่อมและที่ดิน 24 เอเคอร์ข้างๆ สตราโทสเฟีย ที่ทำให้โรงแรมดูน่าดึงดูดนั่นต่างหาก และสุดท้าย โกลด์แมน แซคส์ ก็มาซื้อสตราโทสเฟียจากผม และเราก็ทำกำไรได้ 1 พันล้านเหรียญ

มันไม่ง่ายหรอก แต่ถ้าบางสิ่งในตัวคุณมันคลิก ตอนนั้นแหละที่ผมเอ็นจอยมากๆ

——————————–

แหล่งที่มาข้อมูล : https://www.forbes.com/100-greatest-business-minds

เกษียณให้สบาย ต้องมีเงินเท่าไร?

senior

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

“ถ้าจะเกษียณโดยมีเงินใช้สบายๆ ไปจนตาย ต้องมีเงินเก็บเท่าไร”

คำถามนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาก่อนแล้ว และคำตอบก็อาจแตกต่างหลากหลายกันไป

ตลาดหลักทรัพย์บอกว่าต้องมี “4 ล้านบาท” แต่บางคนอาจบอกว่าต้องมี “หลายสิบล้าน”

ทว่าหนังสือลงทุนที่ได้รับความนิยมระดับโลกอย่าง “A Random Walk Down Wall Street” ได้นำเสนอวิธีคิดแบบหนึ่งออกมา เรียกว่า “วิธี 4 เปอร์เซ็นต์”

สืบเนื่องจากวิธี 4 เปอร์เซ็นต์ เงินเก็บที่คนในวัยเกษียณต้องมี เพื่อให้ใช้ชีวิตบั้นปลายได้แบบสบายๆ อยู่ที่เท่าไรทราบไหมครับ?

คำตอบคือ … “15 ล้านบาท”

ตัวเลขนี้อาจดู “เยอะ” สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ดังต่อไปนี้

15 ล้านบาท เกิดขึ้นจากสมมุติฐานที่ว่า พอร์ตการลงทุนของคุณ ควรจะสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 5.5 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี แต่ยังไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้)

และด้วยความที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ การที่พอร์ตของคุณจะชนะเงินเฟ้อได้นั้น ตัวของมันเองต้องเติบโตขึ้นปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย (เพื่อไม่ให้อำนาจซื้อของการลงทุนก้อนนี้ลดลง)

นั่นหมายความว่า คุณจะสามารถถอนเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพได้ปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ โดยเหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ไว้ เพื่อให้ไปหักล้างกับเงินเฟ้อ โดยที่คุณยังมีกำลังซื้อเท่าเดิม

4 เปอร์เซ็นต์ ของ 15 ล้าน ก็เท่ากับ “6 แสนบาท” หรือเดือนละ “50,000 บาท” ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพของคนในวัยหลังเกษียณในประเทศไทยได้ไม่มีปัญหา

อันที่จริง หนังสือ A Random Walk ได้นำเสนอวิธีนี้ โดยใช้หน่วยเงินเป็น “ดอลล่าร์สหรัฐฯ” โดยเงิน “15 ล้านบาท” ที่ผมบอก แปลงมาจากตัวเลข 450,000 เหรียญในหนังสือ ส่วนผลตอบแทน 6 แสนบาท ก็แปลงมาจาก 18,000 เหรียญ ซึ่งก็คือ 4 เปอร์เซ็นต์ ของ 450,000 เหรียญ และเดือนละ 50,000 บาท ก็คือเดือนละ 1,500 เหรียญ ทั้งหมดนี้ ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 33.33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ

แม้ว่า ค่าครองชีพในไทย จะต่ำกว่าในสหรัฐฯ แต่ผมเชื่อว่าการ “เล็งเป้า” ให้มากเข้าไว้ก่อน ก็คงจะไม่เสียหายอะไร และทำให้ท่านมีชีวิตที่ดีกว่าการมีเงินน้อยๆ ไม่ใช่แค่พอยาไส้ แต่มีเหลือไปท่องเที่ยว หาความสุขได้ตามสมควร

อย่างไรก็ตาม หากท่านใกล้เกษียณ หรือเกษียณไปแล้ว แต่มีเงินไม่ถึง หรือห่างไกลจากเป้าหมาย 15 ล้านบาท ก็อย่าได้กังวลไป

ขอเพียงทำตามสูตรนี้ มีเท่าไร เอาไปลงทุนให้ได้ 5.5 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ยาก) และใช้ไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์ กินใช้ตามอัตภาพ เช่นนี้ก็จะอยู่ได้จนวันสุดท้ายของชีวิตแน่นอนครับ


[ข้อมูลประกอบจากหนังสือ A Random Walk Down Wall Street]