ปุจฉา : ถ้าคุณเอาเงิน 2 หมื่นบาท ใส่ไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน แล้วอยู่ๆ มีคนมาขโมยไป คุณจะเสียดายมั้ยครับ?
ผมเชื่อว่าเป็นใครก็ต้องเสียดายแน่นอน
แต่คนจำนวนมาก กลับเอาเงินที่ทำมาหาได้ด้วยความยากลำบาก ทิ้งไว้ในบัญชีธนาคารเฉยๆ ไม่คิดเอาออกมาลงทุนอะไร ปล่อยมันไว้อย่างนั้น วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า
โดยไม่รู้เลยว่า ตัวเองกำลัง “จ่ายแพง” ขนาดไหน
สมมุติคุณมีเงินที่เก็บหอมรอมริบได้จากการทำงานประจำ 2 แสนบาท เอาไปลงทุนให้ได้ปีละแค่ 10% ก็ได้ปีละ 2 หมื่นบาทแล้ว ยิ่งถ้าทบต้นต่อๆ ไปโดยไม่เอาออกมาใช้ เงินนั้นก็จะยิ่งเพิ่มพูนทบทวีมากขึ้นเรื่อยๆ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณไม่ทำอะไร นั่นแปลว่าคุณกำลังจ่าย “เงินสดๆ” ปีละ 2 หมื่นบาท และจ่ายมากขึ้นๆ ในปีต่อไป และต่อๆ ไป
เงินสดหายไป 2 หมื่น บางคนเสียดายแทบเป็นแทบตาย แต่เวลา “เผาเงินทิ้ง” ปีละหลายๆ หมื่น กลับไม่เคยคิดเสียดาย
ราคาของการ “ไม่ทำอะไร” นั้น แพงจนไม่น่าเชื่อนะครับ เพียงแต่เรามองไม่เห็นมันเท่านั้นเอง
เชื่อไหมครับว่า “เงินที่เสียไปมากที่สุด คือเงินที่เราไม่ได้มันมา”
เหมือนที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยบอกว่า ความผิดพลาดใหญ่หลวงที่สุดของเขา ไม่ได้มาจาก “ทำ” แต่มาจากการ “ไม่ได้ทำ” คือมัวชักช้า เห็นโอกาสในการลงทุนดีๆ อยู่ตรงหน้าแล้วแต่กลับไม่คว้าไว้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ แค่ “ค่าเสียโอกาส” เท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของ “เงินเฟ้อ” เลย หากเอาเงินเฟ้อมาคิดด้วย จะพบว่าผลเสียของการเก็บเงินไว้เฉยๆ นั้น อันตรายกว่าที่ว่ามาข้างต้นเสียอีก
เงินเฟ้อเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความมั่งคั่งของ “คนทุกคน” เพราะมันจะบั่นทอนกำลังซื้อของเราไปเรื่อยๆ เงิน 15 บาท เมื่อ 20 ปีก่อน กินก๋วยเตี๋ยวได้ชามนึงสบายๆ (แบบพิเศษเพิ่มลูกชิ้น) แต่เงิน 15 บาทวันนี้ ไม่รู้จะกินก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวแกงที่ไหนได้บ้าง
สมมุติอัตราเงินเฟ้อของไทยปีละ 2.5% นั่นแปลว่า ถ้าเอาเงินที่เก็บหอมรอมริบมาได้ 1 แสนบาท เก็บไว้ในบัญชีธนาคารเฉยๆ กะว่าเป็นเงินเย็นๆ เพื่ออนาคต…
ผ่านไป 2 ปี เงิน 1 แสนนั้น จะเหลือกำลังซื้อแค่ประมาณ 9.5 หมื่น (เทียบกับวันนี้)
และผ่านไป 5 ปี จะเหลือกำลังซื้อแค่ 8.8 หมื่น หายไปสิบกว่าเปอร์เซ็นต์!!
ถึงตอนนี้ “เงินเย็น” ที่ว่า จะเริ่ม “ร้อน” ขึ้นเรื่อยๆ คือนอกจากไม่ได้เงินเพิ่มแล้ว ยังเสียเงินไปทุกวันๆ โดยที่บางคนอาจไม่รู้ตัวเลย
ทุกครั้งที่ผมพูดแบบนี้ ก็มักมีคนแย้งว่า ถ้าลงทุนแล้ว “เจ๊ง” ล่ะ จะทำยังไง? บางคนบอก ถ้าไม่มีความรู้ เก็บเงินไว้เฉยๆ ยังดีกว่าเอาไปลงทุน
เด็ดที่สุดคือ มีคนแย้งว่า “ถ้าทำได้จริง ทุกคนคงรวยไปหมดแล้ว” อันนี้ได้ยินบ่อยมาก
ผมอธิบายอย่างนี้นะครับ…
ผมเชื่อว่าทุกอย่างในโลกนี้ เริ่มต้นจาก “ความคิด”
มีคนจำนวนมากยังติด “กับดัก” ความคิด โดยเชื่อว่าตัวเอง “ทำไม่ได้” เชื่อว่ามัน “เป็นไปไม่ได้” หรือรัดรึงตัวเองไว้กับ “ความกลัว”
กลัวเสีย กลัวเจ๊ง
พวกเขาจึงเลือกที่จะ “หลีกหนี” และไม่มีวันประสบความสำเร็จทางการเงิน
ดังนั้น ต้องเปลี่ยนความคิดเสียก่อน อย่างอื่นจึงจะตามมา
ประโยคที่บอกว่า “ถ้าทำได้จริง ทุกคนคงรวยไปหมดแล้ว” ที่จริงก็ไม่ผิด แต่ที่ชัวร์ยิ่งกว่าก็คือ “ที่บางคนไม่รวย ก็เพราะเขาคิดอย่างที่ท่านคิดนี่แหล่ะ”
คนบางคน อะไรที่คิดว่ายาก มองว่าน่ากลัว ก็ยกธงยอมแพ้ตั้งแต่แรก โดยยังไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำเสียด้วยซ้ำ
ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนลงทุนแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไปนะครับ แต่ผมบอกว่า ทุกคนควรหันมา “สนใจ” ลงทุน ความสนใจจะทำให้คุณขวนขวายหาความรู้ และพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้
แน่นอนว่าบางคนอาจเดินผิดทาง บางคนอาจขาดทุน บางคนอาจหลงทางเสียเวลา ผมเองก็เคยผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว
แต่เชื่อเถอะว่าหากลงมือทำ นั่นเป็นการ “เปิดประตูแห่งโอกาส” มิใช่กลัวจนปล่อยให้ประตูนั้นปิดสนิทแน่นอยู่ ชีวิตนี้จึงไม่มีทางบรรลุความมั่งคั่งได้
และถ้าท่านเลือกแนวทางที่ถูกต้อง คือลงทุนแบบเน้นพื้นฐาน มองที่มูลค่าของสินทรัพย์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ไปเล่นหุ้นปั่น ไม่คิดแต่จะเก็งกำไร ไม่แห่ตามฝูงชน โอกาสที่จะ “เจ๊ง” ชนิดหมดเนื้อหมดตัวนั้น บอกได้เลยว่า “แทบเป็นไปไม่ได้”
ดังนั้น ถ้าเห็นใครที่รู้จักและหวังดีกำลัง “เผาเงินทิ้ง” อยู่ล่ะก็ รีบบอกเขาให้เริ่มต้นสนใจลงทุนเถอะครับ อย่าให้ถึงวันหนึ่ง ซึ่งเขามองย้อนกลับมา แล้วนึกเสียดายว่า …
ทำไมเราปล่อยให้เงินหายไปได้มากมายขนาดนี้!!
Agreed. ความสนใจ บันดาลใจ ชอบ ช่วยให้ขวยขวายหาประสบการณ์ ความรู้ และพัฒนาตัวเองไม่มีที่สิ้นสุด
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ
Thanks you indeed.