โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช และ ชนิดา พัธโนทัย
รายได้รวมของ CPALL ในไตรมาส 2 ปี 2557 เพิ่มขึ้นถึง 71.8% กลายเป็น 92,134 ล้านบาท หลังเข้าเทคโอเวอร์ MAKRO คิดเป็นรายได้จาก “ห้างแม็คโคร” 34,749 ล้านบาท ที่เหลือมาจาก “ร้าน 7-eleven” ซึ่งขยายเพิ่มจาก 7,210 สาขา ในไตรมาส 2 ปีที่แล้ว เป็น 7,816 สาขา ในไตรมาส 2 ปีนี้
หากดูเฉพาะรายได้จากธุรกิจเดิมของ CPALL คือร้าน 7-eleven และธุรกิจข้างเคียง จะพบว่าเพิ่มขึ้น 8.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปกติเมื่อเทียบกับอดีตที่เคยทำได้
ในขณะที่ Gross Margin ของ CPALL ลดลงค่อนข้างมาก จาก 26.3% กลายเป็น 21.3% อันเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการ MAKRO ซึ่งเป็นธุรกิจ “กึ่งค้าส่ง” ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าเยอะ จึงมาฉุด GM ของ CPALL ให้ลดต่ำลงด้วย
อย่างไรก็ตาม หากหยิบเอา MAKRO ออกไป จะพบว่า Gross Margin ของธุรกิจร้าน 7-eleven เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 25.6% เป็น 26.2% อันเป็นผลมาจากการเพิ่มสินค้า House Brand ซึ่งมีอัตรากำไรสูงกว่าเข้ามาค่อนข้างหนาตา โดยใช้แบรนด์ 7-eleven ที่ผมเคยเห็นก็อย่างเช่น กาแฟเซเว่น ขนมปังเซเว่น เครื่องดื่มเซเว่น หรือแม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเซเว่น ก็มีวางขายแล้ว
จะเห็นได้ว่าตัวธุรกิจเดิมของ CPALL ยังดำเนินต่อไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้
บรรทัดถัดลงมา คือ “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร” (SG&A) ปรากฏว่า SG&A ของ CPALL เพิ่มขึ้นจาก Q2 ปีที่แล้วถึง 33.4% หลังควบรวมกิจการกับ MAKRO
แต่หากเอา “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร” ไปเทียบกับ “รายได้รวม” จะพบว่าอัตราส่วนตรงนี้ลดลง ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเดิม คือธรรมชาติของ “ห้างแม็คโคร” ซึ่งเป็นธุรกิจ(กึ่ง)ค้าส่ง มีสัดส่วน SG&A ต่อรายได้ต่ำกว่า “ร้านเซเว่น” เยอะ จึงช่วยลดอัตราส่วนเดียวกันนี้ของ CPALL จากเดิม 23.6% ให้เหลือเพียง 18.3%
ในขณะที่ “กำไรจากการดำเนินงาน” ของ CPALL เพิ่มขึ้น 57.2% กลายเป็น 5,218 ล้านบาท ซึ่งก็อีกเช่นเคย คือส่วนหนึ่งเป็นกำไรจาก MAKRO ส่วน EBIT margin ลดลงเล็กน้อยจาก 6.2% เป็น 5.7% (ด้วยเหตุผลเดียวกับ GM ที่ลดลง คือ MAKRO จะมี EBIT margin ต่ำกว่าโดยธรรมชาติ จึงมาฉุดตัวเลขนี้ของ CPALL ลงด้วย)
จุดที่น่าสนใจและอยากให้จับตามองเป็นพิเศษ คือ ….
หากดูเฉพาะธุรกิจร้าน 7-eleven ปรากฏว่าตัวเลข EBIT เพิ่มขึ้นจาก 3,423 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2556 มาอยู่ที่ 4,970 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 45.2% และหากพิจารณา EBIT marginจะพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 6.4% เป็น 8.6% เลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมา ธุรกิจร้าน 7-eleven มี EBIT margin อยู่ในระดับเฉลี่ย 6.5% มาตลอด
นั่นแปลว่า ตัวธุรกิจเดิมของ CPALL คือร้าน 7-eleven “ดีขึ้น” อย่างเห็นได้ชัด มีพัฒนาการในการทำกำไรที่โดดเด่นมากๆ
และแม้การมีโมเดล “ธุรกิจ(กึ่ง)ค้าส่ง” เข้ามาซ้อนทับกับ “ธุรกิจค้าปลีก” จะส่งผลให้อัตราส่วนกำไรและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทั้งสองธุรกิจเข้ามา Weight กัน
แต่สุดท้ายแล้ว เชื่อแน่ว่าตัวเลขอัตราส่วนกำไรและค่าใช้จ่ายในแต่ละบรรทัดของ CPALL จะเริ่ม “นิ่ง” และทำให้นักลงทุนที่ตามอ่านงบอย่างเราๆ มองออกว่ามันควรจะอยู่ที่เท่าไรอย่างไร เรื่องนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นตกใจ ทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมดา
สิ่งที่ควรจะตกใจ อยู่ที่บรรทัดต่อไปต่างหากครับ….
บรรทัดสุดท้าย คือ “กำไรสุทธิ” ของ CPALL ลดลงถึง “15.0%” ซึ่งก็อย่างที่รู้กัน คือเป็นผลมาจาก “ดอกเบี้ยจ่าย” ในการเข้าซื้อ MAKRO ทำให้บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยมโหฬารถึง 2,398 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ (ย้ำว่าแค่ไตรมาสนี้ไตรมาสเดียวนะครับ) เมื่อเทียบกับ Q2 ปีที่แล้ว ซึ่งจ่ายเพียง 127 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทีมงานเราจึงไปค้นต่อ ว่าการที่บริษัทจ่ายดอกเบี้ยบักโกรกขนาดนี้ ยอดหนี้ที่เป็น “เงินต้น” ของบริษัทลดลงหรือยัง (นับตั้งแต่เข้าซื้อ MAKRO เมื่อ Q3 ปีที่แล้ว) เพราะหากเงินต้นลดลง ต่อไปภาระดอกเบี้ยก็อาจจะเบาลงได้บ้าง
ข้อมูลที่พบนั้น “น่าประหลาดใจ” ยิ่ง จะเป็นอย่างไร เอาไว้มาต่อกันตอนหน้าครับ
———————————
** สนใจหลักสูตรสัมมนา “พื้นแน่น แม่นงบ” สอนวิธีอ่านงบการเงินเพื่อใช้ลงทุน และหลักสูตรยอดนิยม “ประเมินมูลค่าหุ้น” โดยทีมงาน Club VI คลิกที่นี่ **
เครดิตภาพ: ภาพโลโก้ CPALL โลโก้ 7-eleven จากเว็บไซต์บริษัทซีพีออลล์, ภาพโลโก้ MAKRO จากเว็บไซต์บริษัท MAKRO, ภาพบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ของ Club VI
Reblogged this on Noo2555's Blog and commented:
รีวิว CPALL Q2 ปี 57
รายได้รวมของ CPALL ในไตรมาส 2 ปี 2557 เพิ่มขึ้นถึง 71.8% กลายเป็น 92,134 ล้านบาท หลังเข้าเทคโอเวอร์ MAKRO คิดเป็นรายได้จาก “ห้างแม็คโคร” 34,749 ล้านบาท ที่เหลือมาจาก “ร้าน 7-eleven” ซึ่งขยายเพิ่มจาก 7,210 สาขา ในไตรมาส 2 ปีที่แล้ว เป็น 7,816 สาขา ในไตรมาส 2 ปีนี้ เครดิต: Club VI
ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับเม่าอย่างผม ตามอ่านตลอดครับ