วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับอนุพันธ์

12249651_1057991477586212_3387239749019485759_n

 

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ มองอนุพันธ์อย่างไร ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากยังไม่เคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “อนุพันธ์” มาก่อน จึงขออธิบายให้เข้าใจในเบื้องต้นนะครับ

“อนุพันธ์” หรือ “ตราสารอนุพันธ์” ภาษาอังกฤษคือ “Derivatives” หมายถึง ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่ง ซึ่งมูลค่าของมันขึ้นอยู่กับ “สินทรัพย์อ้างอิง” โดยที่ตัวของมันเองไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ (ยังไม่เข้าใจใช่มั้ยล่ะครับ อ่านต่อไปนะครับ เดี๋ยวจะเก็ตเอง)

ตราสารอนุพันธ์ที่คุ้นเคยกันดีก็ได้แก่ “ฟิวเจอร์ส” (Futures หรือ Futures Contract) แปลเป็นไทยคือ “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” และ “ออปชั่น” (Option) แปลเป็นไทยคือ “ตราสารสิทธิ์”

“ฟิวเจอร์ส” หมายถึง การที่คนสองฝ่ายทำสัญญากันไว้ว่าจะทำการซื้อขายทรัพย์สินกันในอนาคต ณ ราคาใดราคาหนึ่ง และจำนวนใดจำนวนหนึ่ง ตามแต่จะตกลงกัน

เช่น ผู้ขายและผู้ซื้อทำสัญญากันไว้ว่า อีกสามเดือน ผู้ขายจะเอา “ทองคำ” มาขายให้แก่ผู้ซื้อในราคาบาทละ 15,000 บาท เป็นจำนวน 10 บาททองคำ ครั้นเวลาผ่านไปสามเดือน ราคาทองคำอยู่ที่บาทละ 13,000 บาท เมื่อทั้งสองฝ่ายทำการซื้อขายทองคำกันตามสัญญา ผู้ขายก็จะได้กำไรไปบาทละ 2,000 บาท (15,000 – 13,000) รวมๆ แล้วผู้ขายทำกำไรได้ทั้งหมด 20,000 บาท (2,000 บาทเงิน X 10 บาททองคำ)

ขณะที่ “ออปชั่น” ก็คล้ายๆ กับฟิวเจอร์ส แต่ต่างกันตรงที่ ออปชั่นจะมีผลผูกพันเฉพาะผู้ขายเท่านั้น

เช่น สมมุติว่าเราเป็นผู้ซื้อ เราทำสัญญากับผู้ขายไว้ว่า อีกสามเดือนผู้ขายจะนำเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มาขายให้เราในราคา 35 บาท ครั้นเวลาผ่านไปสามเดือน ดอลล่าร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 40 บาท เราก็สามารถเอาออปชั่นนี้ไป “ใช้สิทธิ”​ กับผู้ขาย และทำกำไรได้เหนาะๆ เหรียญละ 5 บาท

แต่หากถึงเวลานั้น ค่าเงินดอลล์พุ่งทะลุกลายเป็น 42 บาท เราก็สามารถที่จะ “ไม่ใช้สิทธิ์” และปล่อยให้มันหมดอายุไปได้ โดยที่ผู้ขายไม่มีสิทธิ์มาบังคับเรา จะเห็นได้ว่า ออปชั่นเป็นสัญญาที่บังคับเฉพาะ “ผู้ขาย” ฝ่ายเดียว

ถามว่า อนุพันธ์มีประโยชน์อะไร จะทำสัญญากันไปเพื่ออะไร คำตอบก็คือ อาจเป็นไปได้ทั้งเพื่อ “ทำกำไร” และเพื่อ “ป้องกันความเสี่ยง”

เช่น ผู้ซื้ออาจคิดว่า อีกสามเดือน ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 16,000 บาท จึงชิงทำสัญญาไว้ก่อนว่าจะซื้อทองจากผู้ขายในราคาบาทละ 15,000 โดยกะว่าหากการณ์เป็นไปดังคาด เขาก็จะได้กำไร 1,000 บาท แต่หากการณ์เป็นตรงกันข้าม เขาก็จะขาดทุน ดังตัวอย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว นี่คือการมุ่งทำกำไรจากอนุพันธ์

หรืออีกกรณีหนึ่ง คือการใช้อนุพันธ์เพื่อ “ป้องกันความเสี่ยง” เช่น ขณะนั้นราคาทองอยู่ที่ 15,000 บาท นาย ก. วางแผนว่า อีกหกเดือนจะซื้อทองคำไปหมั้นสาว แต่ตอนนี้ยังไม่มีเงิน ครั้นจะรออีกหกเดือนก็กลัวว่าทองจะแพงขึ้นจนซื้อไม่ไหว จึงทำสัญญากับผู้ขายว่า อีกหกเดือนจะซื้อทองคำในราคาบาทละ 15,000 ดังนั้น พอครบหกเดือน แม้ทองจะแพงขึ้นไปขนาดไหน นาย ก. ก็จะซื้อทองได้ในราคาบาทละ 15,000 และมีทองไปหมั้นสาวแน่นอน

ทั้งนี้ สัญญาอนุพันธ์สามารถอ้างอิงกับสินทรัพย์ใดๆ ก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ จะทำสัญญาว่าจะเอาของอะไรมาแลกเปลี่ยนกันก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพวก commodity อย่าง น้ำมัน ทองคำ ยางพารา หรือจะเป็นพวกหลักทรัพย์อย่าง “หุ้น” ก็ได้ หรือแม้แต่จะเป็นพวกตัวเลขทางการเงิน เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ได้เช่นกัน (ในเมืองไทยมีให้เล่นครบทุกประเภทที่ว่ามา)

นอกจากนี้ อนุพันธ์ยังมีทั้งประเภทที่กำหนดให้สองฝ่ายทำการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องได้กันจริงๆ เช่น หากทำสัญญากันไว้ว่าจะซื้อขายวัวหนึ่งตัว พอถึงเวลาครบอายุสัญญา ผู้ขายก็ต้องจูงวัวมามอบให้ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อก็จ่ายเงินให้ผู้ขายแล้วเอาวัวกลับบ้านไป หรืออาจ net เงินกันไปตามมูลค่าของสินทรัพย์ขณะนั้น โดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์กันจริงๆ ก็ได้ (นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วๆ ไปก็มักทำอย่างหลัง โดยไม่ต้องหาของมาแลกเปลี่ยนกันให้วุ่นวาย)

ในตอนต่อไปจะมาเล่าให้ฟังนะครับว่า ปู่บัฟเฟตต์ของเรา มองอนุพันธ์อย่างไร รับรองว่าสนุกและได้มุมมองใหม่ๆ แน่นอน

{ข้อมูลประกอบ จาก wikipedia ไทย และ investopedia. com}

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s