โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
คำว่า “หุ้น” อันเป็นที่รับรู้กันในความหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่ คือ “หุ้นสามัญ” ภาษาอังกฤษคือ common stock แต่ยังมีหุ้นอีกประเภทหนึ่ง คือ “หุ้นบุริมสิทธิ์” ภาษาอังกฤษคือ preferred stock ซึ่งเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ ทว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จัก จึงขอเล่าให้ฟังเบื้องต้นในที่นี้ก่อนนะครับ
หุ้นบุริมสิทธิ์ มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ในทางทฤษฎีจึงถือเป็นเจ้าของกิจการเฉกเช่นเดียวกัน แต่พวกเขามีความได้เปรียบเหนือผู้ถือหุ้นสามัญอยู่สองประการ กล่าวคือ พวกเขาจะ “นำหน้า” ผู้ถือหุ้นสามัญ ในแง่ของการรับเงินปันผล และการได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สิน กรณีบริษัทมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ
ประการแรก ในแง่ของเงินปันผล โดยปกติแล้ว ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับปันผลในอัตราที่ตายตัว เช่น 10%
หากปีไหนบริษัทขาดทุน จ่ายปันผลไม่ได้ และในปีต่อมาสามารถกลับมาจ่ายได้อีกครั้งหนึ่ง บริษัทก็จะต้องจ่ายปันผลชดเชยในส่วนของปีที่แล้วให้ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์เสียก่อน จากนั้นจึงเอาเงินที่เหลือมาแบ่งให้ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์และผู้ถือหุ้นสามัญเป็นปันผลของปีปัจจุบันไปตามสัดส่วน
จะเห็นได้ว่า ความสม่ำเสมอของรายได้เงินปันผล คือจุดเด่นหลักของหุ้นบุริมสิทธิ์ ทำให้หุ้นบุริมสิทธิ์ถูกมองว่าเป็น “fixed-income security” คือเป็นหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่
(อย่างไรก็ตาม รายละเอียดอาจมีความแตกต่างกันไป ตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท ผู้ที่จะลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ์จึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีทุกครั้ง)
ประการที่สอง ในกรณีบริษัทมีอันต้องชำระบัญชีเลิกกิจการ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องปิดกิจการแล้วขายสินทรัพย์ทิ้ง ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งจากการขายสินทรัพย์นั้นก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ (แต่ถัดจากเจ้าหนี้)
นั่นแปลว่า ในบางกรณี ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์อาจได้รับเงินสดจากการขายสินทรัพย์ แต่เงินนั้นอาจไม่เหลือตกไปถึงผู้ถือหุ้นสามัญก็เป็นได้
คาวมได้เปรียบทั้งสองประการข้างต้น เป็นที่มาของชื่อ “preferred” stock คือเป็นหุ้นที่ “เป็นที่โปรดปราน” มากกว่า
อย่างไรก็ตาม หุ้นบุริมสิทธิ์ก็มีข้อเสียเปรียบบางประการที่ “เป็นรอง” หุ้นสามัญ กล่าวคือ แม้ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะมีศักดิ์เป็น “เจ้าของกิจการ” แต่สิทธิ์ในการออกเสียงกลับมีน้อยกว่า
ทั้งนี้ หุ้นสามัญ 1 หุ้น จะมีสิทธิ์ออกเสียง 1 เสียง (1:1) แต่หุ้นบุริมสิทธิ์อาจมีสิทธิ์น้อยกว่านั้น เช่น ต้องใช้ถึง 5 หุ้น เพื่อโหวต 1 เสียง (5:1) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์มีอำนาจในการควบคุมบริษัทน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญเยอะ นอกจากนี้ ในแง่ของราคาหลักทรัพย์ เมื่อบริษัทกำลังไปได้ดี ราคาของหุ้นสามัญก็มักจะเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการของบริษัท แต่ราคาของหุ้นบุริมสิทธิ์มักจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
เหตุผลที่บริษัทออกหุ้นบุริมสิทธิ์ ก็เพื่อเป็นการ “ระดมทุน” โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราคงที่เป็นการแลกเปลี่ยน แต่ไม่ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมสูญเสียอำนาจควบคุมบริษัท (เมื่อเทียบกับการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน) ซึ่งมองได้ว่าเป็นอะไรที่ “วิน-วิน” กันทั้งสองฝ่าย
โดยสรุปแล้ว นักลงทุนที่เหมาะจะถือหุ้นบุริมสิทธิ์ คือผู้ที่ต้องการผลตอบแทนที่มั่นคง โดยไม่หวังการเติบโตของเงินลงทุนมากนักนั่นเอง
ในตอนต่อไปจะมาเล่าถึงการลงทุนของปู่ในหุ้นบุริมสิทธิ์ รับรองว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ