โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เรื่องของ “ความรับผิดชอบ” เป็นสิ่งที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทุกคนควรจะมีอยู่แล้ว แต่ใครจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
และผมบอกได้เลยว่า ของแบบนี้ต้องดูกันนานๆ ในภาวะปกติที่ผลประกอบไปได้ดี ธุรกิจไม่มีปัญหา เรื่องแบบนี้มักจะมองไม่เห็น ต้องรอให้เกิดวิกฤตขึ้น เราจึงจะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร
มาดูความรับผิดชอบของชายที่ชื่อ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กันครับ
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน บัฟเฟตต์เคยไปซื้อหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งชื่อ ซาโลมอน บราเธอร์ส โดยหุ้นที่เขาซื้อไม่ใช่หุ้นสามัญ แต่เป็นหุ้นบุริมสิทธิ์จำนวน 12 เปอร์เซ็นต์ และเข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทไปพร้อมๆ กันด้วย
ปรากฏว่า ปู่โชคร้ายมากๆ เนื่องจากตอนนั้น กรรมการผู้จัดการของซาโลมอนดันแอบไปก่อเรื่องเอาไว้ คือไปประมูลซื้อพันธบัตรของกระทรวงการคลังในสัดส่วนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ ส่วนหนึ่งเป็นการเอา “ชื่อลูกค้า”ไปซื้อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมฉ้อฉลอย่างรุนแรง
(กระทรวงการคลังส หรัฐฯ มีกฏไม่ให้บริษัทใดประมูลซื้อพันธบัตรเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันความผันผวนของราคา โดยซาโลมอนประมูลซื้อในชื่อบริษัทไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่แอบใช้ชื่อลูกค้าประมูล ซึ่งรวมๆ แล้วเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าทั้งผิดกฏและยังเป็นการแจ้งข้อมูลเท็จด้วย)
หลังจากนั้นไม่นาน ปู่ก็ได้ทราบเรื่องนี้ แต่แทนที่จะขายหุ้นทิ้ง หรือลาออกจากตำแหน่งกรรมการเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องมัวหมองไปด้วย แกกลับไม่ทำ ทั้งยังยอมรับตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริษัท” เพื่อโดดเข้ามาช่วยบริษัทอย่างเต็มตัว
ณ เวลานั้น ซาโลมอนกำลังเผชิญกับโทษทัณฑ์จากกระทรวงการคลัง คือโดนตัดสิทธิ์ “ห้ามเข้าประมูลซื้อพันธบัตร” ซึ่งถือเป็นเรื่องรุนแรงอย่างยิ่ง สำหรับบริษัทวาณิชธนกิจ ที่ทำธุรกิจอยู่บน “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ของผู้คน เพราะหากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป คนทั่วโลกก็จะหมดความเชื่อถือในซาโลมอน ซึ่งแทบจะทำให้กิจการพังพาบลงได้ทันที
หลายคนอาจเคยได้เห็นหรือได้ฟังวาทะอมตะของปู่ที่กล่าวไว้ว่า “ชื่อเสียงต้องใช้เวลาสั่งสมกว่า 20 ปี แต่ใช้เวลาทำลายแค่ 5 นาที”
ตอนนั้น ปู่พูดกับคนใกล้ชิดว่า “5 นาทีมรณะ” ที่ว่า กำลังคืบคลานมาถึงตัวแกแล้ว ซึ่งแปลว่า หากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ชื่อเสียงที่เพียรสร้างมาตลอดชีวิต จักต้องถูกทำลายลงไปตลอดกาล
ท่านคิดว่า ปู่แก้ไขวิกฤตนี้อย่างไรครับ ?
สิ่งที่ปู่ทำก็คือ แกได้ต่อสายไปยังหน่วยงานสำคัญๆ ทั้ง กลต. และ อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางในเวลานั้น แต่คนที่มาช่วยปู่เอาไว้ได้ก็คือ นิโคลัส แบรดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ปู่ใช้วิธี “เล่าความจริงทั้งหมด” กับแบรดี้อย่างตรงไปตรงมา โดยบอกแบรดี้ หรือ “นิค” ว่า หากซาโลมอนเจ๊ง มันจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังแวดวงการเงินของสหรัฐฯ และอาจลุกลามเป็นวิกฤตการเงินทั่วโลกได้ ซึ่งทำให้แบรดี้จำต้องเอาเรื่องนี้กลับไปพิจารณา (ตอนนั้นหลายคนมองว่าปู่เว่อร์ แต่วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2008 ก็พิสูจน์ชัดแล้วว่าปู่ไม่ได้พูดเกินความจริงเลยแม้แต่น้อย)
ไม่กี่วันต่อมา ก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงฯ โทรหาบัฟเฟตต์ โดยแจ้งข่าวดีว่า กระทรวงการคลังยอมยกเลิกคำสั่งห้ามประมูลดังกล่าว นั่นทำให้ซาโลมอนซึ่งลงหลุมไปเรียบร้อย เหลือเพียงแค่รอดินกลบหน้า สามารถฟื้นคืนและลุกขึ้นจากหลุมได้อีกครั้ง
อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยอมเอา “ชื่อเสียงทั้งชีวิต” ของตนเองเป็นเดิมพัน จึงช่วยชีวิตซาโลมอนไว้ได้อย่างหวุดหวิดที่สุด ทั้งๆ ที่เขาไม่จำเป็นต้องเสี่ยงขนาดนั้นเลย (โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการมีหุ้นบุริมสิทธิ์อยู่เพียง 12 เปอร์เซ็นต์ของเขา)
และนี่คือ “ความรับผิดชอบ” ของลูกผู้ชายที่ชื่อ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ไม่น่าจะหาได้ง่ายๆ อีกแล้วจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ
พวกเราในฐานะนักลงทุนตัวเล็กๆ เวลาจะลงทุนในบริษัทไหน จึงควรพิจารณาตัว “ผู้บริหาร” ให้ดีๆ ว่าเขามีความรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำหรือไม่ ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ หากเขาทำผิดแล้วไม่เคยรับผิดชอบอะไร ก็อย่าไปซื้อหุ้นบริษัทเขา หรือหากแม้นมีหุ้นอยู่แล้วก็จงรีบขาย สละเรือทิ้งเสียดีกว่า
จงจำไว้ว่า บริษัทดีๆ ที่บริหารโดยคนดีๆ ยังมีให้เลือกอีกมากมาย ไม่มีความจำเป็นต้องไปเสี่ยงแต่อย่างใดทั้งสิ้นครับ