(ต่อไปนี้เป็นบทความที่ แจ็ค โบเกิล ผู้ก่อตั้ง แวนการ์ด กรุ๊ป และเป็นผู้ริเริ่มกองทุนอิงดัชนี เขียนลงใน Forbes Magazine เป็นหนึ่งในข้อคิดจากสุดยอดนักธุรกิจโลก 100 คน ที่ Forbes รวบรวมไว้ โดยโบเกิลเคยถูก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยกย่อง เป็นผู้ที่ “อาจจะสร้างคุณูปการแก่นักลงทุนอเมริกันมากกว่าใครทั้งหมด” ด้วย)
แจ็ค โบเกิล เขียน
ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล
ในปี 1965 วอลเตอร์ แอล มอร์แกน ผู้ชี้ทางของผม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เวลลิงตัน แมเนจเมนท์ เรียกผมเข้าไปในออฟฟิศ สมัยนั้นเป็นยุคโก-โก (ยุคที่นิยมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง – ชัชวนันท์) เรามีแต่กองทุนรวมแบบดั้งเดิมที่กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์เดิมๆ เท่านั้น เขาบอกผมว่า “ฉันอยากให้เธอทำอะไรก็ได้เพื่อแก้ไขบริษัทนี้ เป็นหน้าที่ของเธอแล้วล่ะ”
ตอนนั้นผมอายุแค่ 35 ผมเอาบริษัทไปควบรวมกับกองทุนหุ้นหลายกองที่ลงทุนเชิงรุกนอกบอสตัน ซึ่งพวกผู้จัดการกองทุนอายุน้อยกว่าผมเสียอีก ดูเหมือนเป็นการกระทำที่ฉลาดนะ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ฉลาดเลย เพราะยุคโก-โก พังครืนลง และคนพวกนั้นก็ปรากฏชัดว่าเป็นเพียงผู้บริหารสินทรัพย์ที่ไม่ได้เรื่อง พอถึงปี 1974 คณะกรรมการบริษัท เวลลิงตัน แมนเนจเมนท์ ซึ่งควบคุมโดย บอสตัน กรุ๊ป ก็ไล่ผมออก
แต่ทว่า กองทุนรวมเหล่านั้นมีคณะกรรมการของตัวเองซึ่งถูกควบคุมโดยกรรมการจากข้างนอก ผมจึงโน้มน้าวไม่ให้คณะกรรมการชุดนี้ไล่ผมออก จนกลายเป็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือด แล้วปัญหาก็จบลงด้วยวิธีแก้ไขแบบแย่ๆ คือผมจะนั่งเป็นประธานและซีอีโอของกองทุนต่อไป ซึ่งจะรับผิดชอบในด้านกฏหมาย การรับงานต่อ งานธุรการ และการเก็บข้อมูลสถิติ (โดยผมต้องตั้งชื่อใหม่ด้วย นี่เป็นที่มาของชื่อ แวนการ์ด กรุ๊ป) ส่วนคู่อริของผม ซึ่งก็คือพวกที่ไล่ผมออก จะดูแลการขาย การตลาด และการบริหารการลงทุน นี่เป็นวิธีที่ไร้เหตุผลสิ้นดี
ผมจึงต้องหาวิธีแย่งเอาอำนาจในการบริหารการลงทุนและการขายกลับมาให้ได้ ผมเคยศึกษาเรื่องกองทุนอิงดัชนีมาก่อน สมัยทำวิทยานิพนธ์ตอนปี 4 ที่พรินซ์ตันเมื่อปี 1951 อีกทั้งผมเองก็มีประสบการณ์ตรงมาแล้วว่ากองทุนเชิงรุกมันล้มเหลวยังไง
นอกจากนี้ ผมเพิ่งได้อ่านบทความของ โนเบิล ลอเรียท พอล ซามูเอลซัน ที่เรียกร้องจากใจจริงว่า “ใครก็ได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ช่วยเริ่มทำกองทุนอิงดัชนีเสียทีเถอะ” ครั้นผมเอาไอเดียนี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการ พวกเขาทักว่า “แต่คุณไม่มีสิทธิ์บริหารมันนะ” ผมจึงบอกว่า “กองทุนประเภทนี้ไม่ต้องบริหารหรอก” พวกเขาจึงซื้อไอเดีย
และแล้ว “การปฏิวัติดัชนี” ก็เกิดขึ้น
ถึงตอนนี้ ผมตัดสินใจว่าเราจะปล่อยให้เวลลิงตันและเซลส์ของพวกเขาขายกองทุนต่อไปไม่ได้แล้ว เราจึงตัดค่าคอมมิชชั่นออกทั้งหมด และตัวเบาในชั่วข้ามคืน พวกกรรมการเตือนผมว่า “แต่คุณไม่มีสิทธิ์ไปยุ่งเรื่องการขายนะ” ผมจึงตอบกลับไปว่า “เราไม่ได้ไปยุ่งสักหน่อย เราจะเลิกมันเลยต่างหาก” และพวกเขาก็ซื้อไอเดียนี้อีกครั้ง
เมื่อประตูปิดตายลง หากคุณมองหาให้นานและตั้งใจพอ และหากคุณเข้มแข็งพอ คุณจะเจอหน้าต่างสักบานเปิดอยู่เสมอ
แหล่งที่มาข้อมูล : https://www.forbes.com/100-greatest-business-minds/person/jack-bogle
ภาพประกอบ : ปกหนังสือ The House That Bogle Built