ตำนานนักลงทุนเปิดใจ “ไม่เคยเห็นตลาดผันผวนขนาดนี้”

housebogle

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เมื่อวันที่ 6  เม.ย. ขณะที่คนไทยจำนวนมากกำลังเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนหรือสนุกสนานในวันหยุดยาว ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐฯ หาได้หยุดด้วยไม่ ยังคงทำการต่อไปตามปกติ ทว่าตัวเลขดัชนีที่ออกมามิใช่เรื่องดี กลับกลายเป็นเรื่องร้ายอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวคือ หุ้นอเมริกา “ลงหนักมาก” สามดัชนีหลักร่วงพร้อมกันกว่าสองเปอร์เซ็นต์ โดย S&P 500 ลบ 2.19% ดาวโจนส์ ลบถึง 2.34% และแนสแด็ค ลบ 2.28% เรียกได้ว่าลงวินาศสันตะโรเลยทีเดียว

นี่อาจถือเป็นโชคดีเล็กๆ ของตลาดหุ้นไทยหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ที่ตลาดปิดทำการ มิเช่นนั้น หากเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปได้เหมือนกันว่าหุ้นอาจลงไปอีก 40-50 จุด จนหลุด 1,700

ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ได้มีหนึ่ง “ความคิดเห็นสำคัญ” จาก แจ็ค โบเกิล ผู้ริเริ่ม index fund หรือ “กองทุนอิงดัชนี” ซึ่งเป็นผู้ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า อาจจะสร้างคุณูปการแก่นักลงทุนอเมริกันมากกว่าใครทั้งหมดในประวัติศาสตร์

โดยปู่แจ็คในวัย “ขึ้นเลข 9” ผู้อยู่ในแวดวงการลงทุนมาเกือบ 70 ปีบอกว่า “ผมไม่เคยเห็นตลาดผันผวนขนาดนี้ ตลอดอาชีพของผม”

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในหอเกียรติยศผู้นี้เน้นย้ำว่า ไม่ว่าความผันผวนจะมากมายขนาดไหน มันก็เป็นเพียง “เสียงรบกวน” (noise) เท่านั้น

“เมื่อทุกคนมองการพยากรณ์อนาคตต่างๆ เช่น เรื่องอัตราดอกเบี้ยหรือเงินเฟ้อแล้วก็ขาย ก็แปลว่าต้องมีคนซื้ออยู่เช่นกัน”

โบเกิลยังแนะด้วยว่า “หุ้นมันเปลี่ยนมือจากนาย A ไปสู่นาย B จากคนซื้อไปยังคนขาย จากคนขายไปยังคนซื้อ และผมคิดว่าบางครั้งมันอาจจะทำให้นักลงทุนระยะยาวหวั่นไหว”

แต่ปู่แจ็คก็กล่าวเช่นกันว่า “มันทำให้นักลงทุนเสียสมาธิ เพราะพวกเขาเห็นมัน แล้วพวกเขาก็คิดว่านี่เรื่องใหญ่นะ แล้วพอตลาดลงหนักๆ ก็เริ่มตื่นตระหนกแล้วก็ขายซะ สุดท้ายจึงเจ๊ง”

พูดง่ายๆ ก็คือ ให้มองยาวเข้าไว้ อย่าบ้าไปตามตลาด แล้วจะอยู่รอดปลอดภัยนั่นเอง

ช่วงหลังๆ ที่ตลาดร่วงเอาๆ คนหลายรุ่นหลายวัยอาจตกอยู่ในอาการใจฝ่อ ผมจึงเอาคำแนะนำจากนักลงทุนชั้นเซียน-ชั้นครู มาให้ได้อ่านกันบ่อยๆ เผื่อจะช่วยให้นิ่งและมีกำลังใจมากขึ้น จนกว่าจะผ่านมันไปได้นะครับ

———————–

ข้อมูลประกอบ : CNBC

ภาพประกอบ : ปกหนังสือ The House That Bogle Built

แม้ประตูจะปิดลง …

housebogle

(ต่อไปนี้เป็นบทความที่ แจ็ค โบเกิล ผู้ก่อตั้ง แวนการ์ด กรุ๊ป และเป็นผู้ริเริ่มกองทุนอิงดัชนี เขียนลงใน Forbes Magazine เป็นหนึ่งในข้อคิดจากสุดยอดนักธุรกิจโลก 100 คน ที่ Forbes รวบรวมไว้ โดย​โบเกิลเคยถูก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยกย่อง เป็นผู้ที่ “อาจจะสร้างคุณูปการแก่นักลงทุนอเมริกันมากกว่าใครทั้งหมด” ด้วย)

แจ็ค โบเกิล เขียน

ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล

ในปี 1965 วอลเตอร์ แอล มอร์แกน ผู้ชี้ทางของผม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เวลลิงตัน แมเนจเมนท์ เรียกผมเข้าไปในออฟฟิศ สมัยนั้นเป็นยุคโก-โก (ยุคที่นิยมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง – ชัชวนันท์) เรามีแต่กองทุนรวมแบบดั้งเดิมที่กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์เดิมๆ เท่านั้น เขาบอกผมว่า “ฉันอยากให้เธอทำอะไรก็ได้เพื่อแก้ไขบริษัทนี้ เป็นหน้าที่ของเธอแล้วล่ะ”

ตอนนั้นผมอายุแค่ 35 ผมเอาบริษัทไปควบรวมกับกองทุนหุ้นหลายกองที่ลงทุนเชิงรุกนอกบอสตัน  ซึ่งพวกผู้จัดการกองทุนอายุน้อยกว่าผมเสียอีก ดูเหมือนเป็นการกระทำที่ฉลาดนะ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ฉลาดเลย เพราะยุคโก-โก พังครืนลง และคนพวกนั้นก็ปรากฏชัดว่าเป็นเพียงผู้บริหารสินทรัพย์ที่ไม่ได้เรื่อง พอถึงปี 1974 คณะกรรมการบริษัท เวลลิงตัน แมนเนจเมนท์ ซึ่งควบคุมโดย บอสตัน กรุ๊ป ก็ไล่ผมออก

แต่ทว่า กองทุนรวมเหล่านั้นมีคณะกรรมการของตัวเองซึ่งถูกควบคุมโดยกรรมการจากข้างนอก ผมจึงโน้มน้าวไม่ให้คณะกรรมการชุดนี้ไล่ผมออก จนกลายเป็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือด แล้วปัญหาก็จบลงด้วยวิธีแก้ไขแบบแย่ๆ คือผมจะนั่งเป็นประธานและซีอีโอของกองทุนต่อไป ซึ่งจะรับผิดชอบในด้านกฏหมาย การรับงานต่อ งานธุรการ และการเก็บข้อมูลสถิติ (โดยผมต้องตั้งชื่อใหม่ด้วย นี่เป็นที่มาของชื่อ แวนการ์ด กรุ๊ป) ส่วนคู่อริของผม ซึ่งก็คือพวกที่ไล่ผมออก จะดูแลการขาย การตลาด และการบริหารการลงทุน นี่เป็นวิธีที่ไร้เหตุผลสิ้นดี

ผมจึงต้องหาวิธีแย่งเอาอำนาจในการบริหารการลงทุนและการขายกลับมาให้ได้ ผมเคยศึกษาเรื่องกองทุนอิงดัชนีมาก่อน สมัยทำวิทยานิพนธ์ตอนปี 4 ที่พรินซ์ตันเมื่อปี 1951 อีกทั้งผมเองก็มีประสบการณ์ตรงมาแล้วว่ากองทุนเชิงรุกมันล้มเหลวยังไง

นอกจากนี้ ผมเพิ่งได้อ่านบทความของ โนเบิล ลอเรียท พอล ซามูเอลซัน ที่เรียกร้องจากใจจริงว่า “ใครก็ได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ช่วยเริ่มทำกองทุนอิงดัชนีเสียทีเถอะ” ครั้นผมเอาไอเดียนี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการ พวกเขาทักว่า “แต่คุณไม่มีสิทธิ์บริหารมันนะ” ผมจึงบอกว่า “กองทุนประเภทนี้ไม่ต้องบริหารหรอก” พวกเขาจึงซื้อไอเดีย

และแล้ว “การปฏิวัติดัชนี” ก็เกิดขึ้น

ถึงตอนนี้ ผมตัดสินใจว่าเราจะปล่อยให้เวลลิงตันและเซลส์ของพวกเขาขายกองทุนต่อไปไม่ได้แล้ว เราจึงตัดค่าคอมมิชชั่นออกทั้งหมด และตัวเบาในชั่วข้ามคืน พวกกรรมการเตือนผมว่า “แต่คุณไม่มีสิทธิ์ไปยุ่งเรื่องการขายนะ” ผมจึงตอบกลับไปว่า “เราไม่ได้ไปยุ่งสักหน่อย เราจะเลิกมันเลยต่างหาก” และพวกเขาก็ซื้อไอเดียนี้อีกครั้ง

เมื่อประตูปิดตายลง หากคุณมองหาให้นานและตั้งใจพอ และหากคุณเข้มแข็งพอ คุณจะเจอหน้าต่างสักบานเปิดอยู่เสมอ


แหล่งที่มาข้อมูล : https://www.forbes.com/100-greatest-business-minds/person/jack-bogle

ภาพประกอบ :  ปกหนังสือ The House That Bogle Built

จอห์น โบเกิล “ชนะ” เพราะความ “ง่าย”

เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

จอห์น ซี. “แจ็ค” โบเกิล เป็นสุดยอดนักลงทุนโลกคนหนึ่ง เขาเกิดที่นิวเจอร์ซีในปี 1929 (เกิดก่อน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปีเดียว) ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หรือ Great Depression ทำให้ครอบครัวของเขาถูกผลกระทบอย่างหนัก แต่โบเกิลก็ได้ทุนเรียนฟรีจนจบมัธยมฯ ด้วยความที่เป็นคนเรียนเก่งและหัวดี

หลังจบปริญญาตรีจากมหาลัยชั้นนำอย่าง Princeton University และปริญญาโทจาก University of Pensylvania เขาเข้าทำงานที่ Wellington Management Company และใช้ความสามารถไต่เต้าจนได้เป็นถึงประธานบริษัท แต่ต่อมากลับถูกไล่ออก จากการตัดสินใจควบรวมกิจการที่ผิดพลาดและทำให้บริษัทเสียหายอย่างรุนแรง

โบเกิลบอกว่า ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าอับอายและแก้ตัวไม่ได้ แต่มันก็ช่วยให้เขาได้เรียนรู้มากมาย

โบเกิลก่อตั้ง กลุ่มแวนการ์ด (Vanguard group) ในปี 1974 และปั้นแวนการ์ดจนกลายเป็นบริษัทกองทุนขนาดใหญ่อันดับสองของโลก เขาเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนอิงดัชนี แวนการ์ด S&P 500 ซึ่งถือเป็นกองทุนอิงดัชนีกองแรกในประวัติศาสตร์ที่ออกขายให้กับประชาชนทั่วไป 

โบเกิลบอกเสมอว่า กองทุนอิงดัชนีนั้นให้ผลตอบแทนเหนือกว่ากองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนเก่งๆ บริหารให้ หลังหักค่าธรรมเนียมแล้ว

หลักการลงทุนของเขามีจุดเด่นคือความ “ง่าย” เขาเน้นให้ลงทุนด้วย “สามัญสำนึก” ทำอะไรที่ง่ายๆ ไม่ต้องแปลกพิสดาร ก็สามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีได้

นอกจากนี้ เขายังเขียนหนังสือ Common Sense on Mutual Funds: New Imperatives for the Intelligent Investor พูดถึงการเลือกลงทุนในกองทุนอย่างชาญฉลาดด้วย

ในเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ได้ระบุกฎ 8 ข้อของโบเกิลในการเลือกซื้อกองทุนไว้ดังนี้

1. ให้เลือกกองทุนอิงดัชนีที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำๆ
2. ระวังค่าธรรมเนียมคำปรึกษาที่ถูกบวกเพิ่มเข้ามา
3. อย่าให้ความสำคัญกับผลงานในอดีตของกองทุนมากจนเกินไป
4. จงดูผลงานในอดีตของกองทุน เพื่อให้รู้ถึงความสม่ำเสมอและความเสี่ยงของกองทุนนั้นๆ เท่านั้น
5. ระวังพวกกองทุนดังๆ (และระวังพวกผู้จัดการกองทุนดังๆ ด้วย)
6. จงพิจารณาขนาดสินทรัพย์ของกองทุน
7. อย่าถือกองทุนไว้หลายกองจนเกินไป
8. จงสร้างพอร์ตด้วยการซื้อกองทุนมาสะสม แล้วถือมันไว้

โบเกิลถือเป็นนักลงทุนที่สร้างผลกระทบให้กับแวดวงการลงทุนโลกอย่างมาก โดยเฉพาะการตั้ง Index Fund กองแรกที่ออกขายต่อสาธารณะ อันเป็นต้นแบบให้มี Index Fund อีกมากมายจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังถ่ายทอดความรู้ผ่านงานเขียนต่างๆ โดยให้คำแนะนำที่ง่ายและทุกคนสามารถทำตามได้อีกด้วย

[ ข้อมูลประกอบจาก wikipedia, Investopedia.com]