วอร์เรน บัฟเฟตต์ สอนธุรกิจ

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขียน

ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล

ตอนที่อายุสัก 7 หรือ 8 ขวบ ผมโชคดีมากที่ได้พบเรื่องที่ตัวเองสนใจ นั่นคือ การลงทุน

ผมอ่านหนังสือทุกเล่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีอยู่ในห้องสมุดสาธารณะเมืองโอมาฮ่าจนครบหมดภายในอายุ 11 บางเล่มอ่านหลายรอบด้วย

พ่อของผมบังเอิญอยู่ในธุรกิจการลงทุนพอดี ดังนั้น เวลาผมเดินทางไปทานอาหารเช้ากับพ่อในวันเสาร์ หรือเมื่อไรก็ตาม ผมจะเลือกหยิบเอาหนังสือในออฟฟิศของเขาแล้วนั่งลงอ่านมัน (นี่ถ้าพ่อเป็นคนขายรองเท้า ผมคงกลายเป็นคนขายรองเท้าเหมือนพ่อ)

ผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลที่สุดต่อชีวิตการลงทุนของผมด้วยความบังเอิญ ขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเนบราสก้า คือ The Intelligent Investor โดย เบนจามิน แกรแฮม ผมอ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะประมาณหกรอบได้ มันเป็นปรัชญาที่ฟังดูมีเหตุผล เขียนดี และเข้าใจง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ และมันได้ให้ปรัชญาในการลงทุนซึ่งผมใช้ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

กลยุทธ์ที่หนังสือบอกก็คือ ให้หาธุรกิจที่ดี เป็นธุรกิจที่เราเข้าใจว่าทำไมมันถึงดี โดยมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน บริหารโดยคนที่ซื่อสัตย์ และขายในราคาที่สมเหตุสมผล

เนื่องจากเราไม่ได้ตั้งใจจะขายธุรกิจ เราจึงไม่ต้องหาธุรกิจที่กำไรจะสูงขึ้นในเดือนหน้าหรือไตรมาสหน้า แต่เราต้องหาธุรกิจที่จะทำเงินได้ในอีก 10, 20 หรือ 30 ปี นับจากวันนี้ และเราก็ต้องอยากได้คณะผู้บริหารที่เราชื่นชมและไว้วางใจ

การลงทุนที่ผมชอบที่สุด ซึ่งประกอบสร้างขึ้นด้วยปรัชญานี้ คือ ไกโค ซึ่งผมได้รู้จักตอนอายุ 20 ปี หลังจากจับรถไฟมุ่งหน้าลงไปยังวอชิงตันในเช้าวันเสาร์ และเคาะประตูจน ลอริเมอร์ เดวิดสัน ซึ่งต่อมากลายเป็นซีอีโอ เปิดให้ผมเข้าไป เขาตอบคำถามของผม สอนผมเกี่ยวกับธุรกิจประกัน และอธิบายให้ผมเห็นถึงความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจประกันที่ไกโคมี บ่ายวันนั้นเปลี่ยนชีวิตของผมจริงๆ

มันคือสินค้าที่วันนี้ขายในราคา 1,800 เหรียญ เป็นของที่คนไม่อยากซื้อเลย แต่พวกเขาอยากขับรถ และพวกเขาก็หวังด้วยว่าคงไม่มีวันต้องใช้มัน เพราะไม่มีใครอยากประสบอุบัติเหตุ และไกโคก็สามารถขายสินค้านี้ในราคาที่ถูกกว่าที่คนจะซื้อได้จากที่อื่น

ตอนที่เบิร์คเชียร์เข้าไปมีอำนาจควบคุมบริษัทเมื่อปี 1995 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 2% แต่ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดนั้นกลายเป็น 12% และเราก็ได้ช่วยสังคมอเมริกันประหยัดเงินได้ถึง 4,000 ล้านเหรียญต่อปี เมื่อเทียบกับเงินที่พวกเขาจะต้องจ่ายหากยังซื้อประกันในรูปแบบเดิม นี่เป็นไอเดียง่ายๆ ที่ลีโอ กู๊ดวิน คิดขึ้นตอนที่ตั้งบริษัทเมื่อปี 1936 และยังเป็นไอเดียง่ายๆ เดิมๆ ที่ใช้มาจนถึงวันนี้

เบน แฟรงคลิน เคยพูดไว้นานแล้วว่า “รักษาร้านไว้ แล้วร้านจะรักษาคุณเอง” หากมองข้ามเรื่องของการเล่นคำ ความหมายของเขาก็คือ อย่าเพียงทำให้ลูกค้าของคุณพอใจ จงทำให้พวกเขาชอบใจสุดๆ แล้วพวกเขาจะเอาไปบอกต่อกับคนอื่น พวกเขาจะกลับมา

ใครก็ตามที่มีลูกค้าที่แฮปปี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะมีอนาคตที่สดใส

แต่สุดท้ายแล้ว มีการลงทุนอย่างเดียวที่เอาชนะทุกอย่างได้ คือการลงทุนในตัวของคุณเอง จงชี้ชัดออกมาให้ได้ว่าคุณรู้สึกว่าจุดอ่อนของคุณอยู่ที่ไหน และลงทุนกับมันเลยเดี๋ยวนี้ สมัยเด็กผมเคยกลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชน ผมทำไม่ได้ ผมจึงยอมเสียเงิน 100 เหรียญไปเข้าคอร์สของ เดล คาร์เนกี้ และมันก็เปลี่ยนชีวิตของผมไปตลอดกาล ผมมั่นใจในความสามารถใหม่ของตนเองยิ่งขึ้น ผมจึงขอภรรยาแต่งงานระหว่างที่ยังเรียนคอร์สนี้อยู่ และมันยังช่วยให้ผมขายหุ้นในโอมาฮ่าได้ด้วยแม้จะอายุแค่ 21 และดูอ่อนกว่านั้นเสียอีก

ไม่มีใครพรากเอาสิ่งที่อยู่ในตัวคุณไปได้ เราทุกคนต่างมีศักยภาพที่ไม่เคยนำออกมาใช้ หากคุณสามารถเพิ่มศักยภาพของตัวเองขึ้นมาสัก 10% 20% หรือ 30% ด้วยการพัฒนาทักษะของตน ก็จะไม่มีใครแย่งมันไปจากคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือแม้แต่เงินเฟ้อก็ตาม

มันจะอยู่ติดตัวคุณตลอดไป

————————–

แหล่งที่มา : Forbes. com Lessons from the 100 Greatest Living Business Minds

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s