โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก หลังจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ออกมาแถลงเองว่า เฟซบุ๊กกำลังจะมี “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” (major change)
ด้วยการ ยกเครื่อง news feed ของผู้ใช้ โดยหันมาให้ความสำคัญกับ “meaningful social ineractions” ก่อน “relevant content”
อธิบายเป็นไทยง่ายๆ ก็คือ เฟซบุ๊กจะปรับให้เราเห็นโพสต์ของ “เพื่อนฝูงและคนใกล้ชิด” มากกว่าเดิม โดยปล่อยโพสต์ของบรรดา “เพจธุรกิจ” ต่างๆ ที่เราไปกด Like หรือติดตามไว้ให้เห็นน้อยลง
ซักเคอร์เบิร์กยังฝากวาทะสุดเก๋ไว้ด้วยว่า “ผมหวังว่า เวลาที่พวกคุณใช้บนเฟซบุ๊กจะมีประโยชน์มากขึ้น” และบอกว่า “หากเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง มันจะเป็นสิ่งที่ดีต่อชุมชนของเรา และธุรกิจของเราในระยะยาวเช่นกัน”
นั่นคือสิ่งที่ “ไอ้หนุ่มมาร์ก” พูดไว้ แต่เรามาดูกันเถอะว่า มันมีอะไรลึกลงไปกว่านั้น !!
ช่วงหลังๆ เฟซบุ๊กประสบปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของผู้ใช้ที่เริ่มลดลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโซเชี่ยลในเครืออย่างอินสตาแกรม
หลายคนบอกว่า เป็นเพราะเฟซบุ๊ก “น่าเบื่อ” กดเข้าไปทีไร เจอแต่คอนเท้นต์ โน่น-นี่ ซึ่งไม่ได้อยากเห็น เหมือนถูกยัดเยียดให้อ่าน
สาเหตุหลักเกิดจากความหนาแน่นของ “ทราฟฟิก” กล่าวคือ มีเนื้อหาจาก publisher จำนวนมาก พยายามแย่งชิงการรับรู้ของผู้ใช้ อาจเรียกได้ว่า เป็น “ศึกชิงตา” (ศัพท์ของ ดร.นิเวศน์) ในเวอร์ชั่นไฮเทคก็ว่าได้
ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือมรสุมอันถาโถมใส่เฟซบุ๊กหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นการที่โซเชี่ยลสีน้ำเงินเจ้านี้ถูกใช้เป็นแหล่งในการปล่อยข่าวลวง (fake news) การล่วงละเมิด (harassment) ต่างๆ แถมยังมีข้อมูลด้วยว่า การใช้เฟซบุ๊กส่งผลให้สภาวะทางจิตใจของคนย่ำแย่ลง
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้หลายคนมองว่า เฟซบุ๊ก เริ่ม “เสื่อม”
จะเห็นได้ว่า ซักเคอร์เบิร์ก “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง จึงกลายเป็นความเคลื่อนไหวที่ประกาศออกมาล่าสุดในครั้งนี้
ถามว่า ซักเคอร์เบิร์กจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?
ข้อแรก มันจะทำให้เฟซบุ๊กกลับมา “เฟรนด์ลี่” มีความน่าใช้เหมือนยุคเริ่มแรก ด้วยโพสต์ของเพื่อนๆ และคนรู้จัก เหนือเนื้อหาต่างๆ ที่ผลิตโดยธุรกิจ หรือคนที่เราไม่รู้จัก ไม่ว่ามันจะสอดคล้อง (relevant) กับความสนใจของเรา มากหรือน้อย
ข้อสอง มันจะเป็นการ “บีบ” ให้เจ้าของแฟนเพจต่างๆ ต้อง “จ่ายเงิน” หากอยากให้เนื้อหาของตนเองเข้าถึงผู้คน
ดังนั้นต่อไปนี้ การทำให้คนเห็นโพสต์ของแอดมินน้อยใหญ่ อาจไม่ใช่ “ของฟรี” อีกต่อไป (ซึ่งมาร์กก็บอกกับเจ้าของเพจต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ว่าจะมีคนเห็นโพสต์น้อยลง)
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถือว่ามาร์กยอม “เจ็บตัว” ในระยะสั้น เพื่อ “ผลประโยชน์” ในระยะยาว มาร์กยอมรับเองว่า การแก้ไขให้ผู้ใช้กลับมาได้รับประสบการณ์ที่ดี อาจทำให้คนใช้เวลากับเฟซบุ๊กน้อยลง ทว่าเมื่อเฟซบุ๊กกลับมามีเสน่ห์ดังเดิม คนก็จะกลับมาหาเฟซบุ๊กอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวธุรกิจในท้ายที่สุด
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผมมองว่า “ร้ายกาจ” มากๆ คือถ้อยแถลงของซักเคอร์เบิร์ก อันเต็มไปด้วยคำพูด “เชิงอุดมคติ”
เช่น เขาทำเพื่อ “ความผาสุก” (well-being) ของผู้คน อยากให้เวลาที่คนใช้ไปกับเฟซบุ๊ก เป็น “เวลาอันมีค่า” (well-spent) มากขึ้น
เรียกได้ว่า ฉวยโอกาส “สร้างภาพ” ในระหว่าง “แก้วิกฤต” ทำให้การแก้ปัญหา “เชิงธุรกิจ” กลายเป็นการกระทำ “เชิงอุดมการณ์” อย่างเนียนๆ !!
โดยส่วนตัว ในฐานะคนทำเพจ แม้ผมจะไม่เคย “Promote Page” เพื่อเพิ่มยอด Like เลย แต่หากต้องการให้คนเห็นโพสต์บางโพสต์ ผมก็ยินดีที่จะจ่ายเงิน “Boost Post”
เพราะนั่นเป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
อย่างไรก็ตาม หากใครจะ “โลกสวย” บอกว่ามาร์กไม่ได้ทำเพื่อเงินเป็นอันดับแรก หรือเป็นการ เลือกที่จะรับผิดชอบต่อจิตวิญญาณของตัวเอง ผมคงทำใจให้เห็นด้วยไม่ได้ และคิดว่าเป็นมุมมองที่ “ตื้นเขิน” เกินไป
ซักเคอร์เบิร์กทำเพื่อธุรกิจของเขาเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะในระยะยาวแล้ว บรรทัดสุดท้ายที่ออกมา อาจจะเป็นผลดีแก่สังคมโดยรวมอย่างที่เขาว่า
แต่ในฐานะของ “คนลงทุน” ผมมองว่าเราควรวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างถ้วนถี่ รู้จักแยกแยะ “เหตุผล” ออกจาก “ความรู้สึก” หลีกเลี่ยงการ “ดราม่า”
จึงจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความคิด สติปัญญา ทั้งของตัวเราและคนที่อ่านข้อเขียนของเราได้อย่างดีที่สุดครับ
————————————–
ข้อมูลประกอบ : CNBC. com , Bloomberg.com , การวิเคราะห์ของ Jim Cramer, Yahoo Finance
ไม่น่าเป็นเรื่องที่ไกลเกินจริง การปรับคอนเทนต์แยกความเป็นสาผธารณะเป็น เรื่องธุรกจกับ แยกกลุ่มชุมชนออกมาก็เช่นเดียวกับ กูดกิ้ล ไม่น่าแปลกอะไร เขาจะแยกช้งการสื่อส่รออกจากกัน แต่ไม่น่าเปลี่ยนอะไรได้มาก ทั้งนี้เพื้อ facebook ต้องการยึดฐานลูกค่าเดิมเอาไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องทุนค่าใช้จ่ายมากมายนัก