“ง่าย..ใช่ว่าไม่จริง” เมื่อผมเกือบโยนหนังสือของวีไอมหัศจรรย์ทิ้งถังขยะ

หนังสือ “สูตรลับรวยหุ้น ชวนคุณให้รวย” แปลจาก The Big Secret for the Small Investor ที่โจเอลบ่นว่าขายไม่ดี แต่คนส่วนใหญ่ที่ได้อ่านต่างชมแทบทุกคน

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เมื่อประมาณ 13 ปีก่อน ผมได้หนังสือเล่มหนึ่งจากแฟนของผมในเวลานั้น ชื่อ The Little Book That Still Beats The Market โดย โจเอล กรีนแบล็ตต์ ฉบับแปลเป็นไทย ลิขสิทธิ์ของซีเอ็ด

ผมเปิดอ่านมันคร่าวๆ ตั้งแต่คำนำ และจำได้ว่าผู้เขียนพยายามโน้มน้าวให้ทำตามวิธีลงทุนที่เขาเรียกว่า “สูตรมหัศจรรย์” โดยย้ำว่าต้อง “เชื่อ” สูตรของเขา จึงจะประสบความสำเร็จได้

ผมเปิดอ่านเนื้อหาคร่าวๆ และพบว่า สิ่งที่เขาเรียกว่า “สูตรมหัศจรรย์” หรือ magic formula นั้น น่าจะง่ายเกินไป และไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยนิสัยเชื่อคนยากของผม เปิดอ่านไปได้ไม่กี่หน้า ผมจึงเอาหนังสือเล่มนั้นเก็บเข้าตู้ และไม่คิดจะหยิบมาอ่านอีก (ที่จริงแทบจะโยนทิ้งด้วยซ้ำไป ติดแต่ว่ามันเป็นของแฟน ไม่ใช่ของผม)

ในใจก็นึกว่า “ไร้สาระว่ะ ไปหลอกเม่าเถอะ”

โจเอล กรีนแบล็ตต์ เมื่อครั้งไปพูดที่ Google, งาน Talks at Google (Voicetube , The Little Book That Beats The Market , Joel Greenblatt , Talks at Google)

หลายปีต่อมา เมื่อสั่งสมประสบการณ์ในการลงทุนมากขึ้น ผมจึงทราบว่า magic formula ของโจเอลนั้นใช้ได้ผลจริง และช่วยให้กองทุนของเขาทำผลตอบแทนได้ปีละ 40% เป็นช่วงระยะเวลา 20 ปี (1985-2005) ซึ่งสูงกว่าสถิติของผู้จัดการกองทุนทุกคนในโลกนับจากอดีตถึงปัจจุบัน

แม้แต่ ปีเตอร์ ลินช์ ผู้จัดการกองทุนที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดแล้ว ก็ยังทำได้แค่ 29% ในเวลา 14 ปี เทียบไม่ได้เลยกับ magic formula ของโจเอล กรีนแบล็ตต์

(ผมเคยเขียนถึง magic formula ไว้ อ่านได้ที่นี่และอีกบทความอ่านได้ที่นี่ครับ)

จากนั้น ผมมีโอกาสได้แปลหนังสืออีกเรื่องของโจเอล ชื่อ The Big Secret for the Small Investor ซึ่งครั้งนี้ ผมตกลงรับแปลด้วยความยินดี เพราะรู้แล้วว่าหมอนี่ “มีของ”

แม้เนื้อหาในหนังสือจะไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” เหมือน The Little Book That Beats The Market ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วทั้งโลกการลงทุน แต่โจเอลยังคงนำเสนอวิธีลงทุนที่ “ง่าย” และสามารถประยุกต์ไปใช้ได้จริง (อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดสักหน่อยสำหรับตลาดหุ้นไทย แต่ก็อยู่ในวิสัยที่สามารถทำตามได้)

เมื่อไม่กี่ปีก่อน โจเอลยังพูดติดตลกอยู่เลยว่า ถึงทุกวันนี้ หนังสือเรื่องนี้ก็ยังเป็น “Big Secret” อยู่ เพราะ “ไม่มีใครอ่านมัน”

(ที่จริงผมแอบคิดเหมือนกันว่าเพราะเหตุใด หนังสือของโจเอล หลายเรื่องจึงขายได้ไม่ดีนักทั้งที่มันมีค่ามาก และพอจะได้คำตอบในใจ แต่ขอยังไม่เล่าในที่นี้)

ผ่านมาไม่ต่ำกว่าห้าปี ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ผมได้มาแปลหนังสืออีกเรื่องหนึ่งของโจเอล คือ You Can Be A Stock Market Genius และพบว่าเนื้อหาก็ยังคง “ง่าย” เน้นการประยุกต์ใช้จริงเหมือนเช่นเคย

โดยครั้งนี้ โจเอลนำเสนอวิธีลงทุนใน “สถานการณ์พิเศษ” ต่างๆ ของตลาดหุ้นหลากหลายวิธี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เพียงแค่วิธีเดียวก็คุ้มกับเงินที่จ่ายเป็นค่าหนังสือไปมากแล้ว เพราะสามารถนำไปทำเงินได้ง่ายๆ

หนังสือ You Can Be A Stock Genius ที่ผมแปล และรอออกจำหน่ายอยู่

น่าเสียดายที่ทางซีเอ็ดถูกกระทบจากวิกฤตโควิดไม่ต่างจากบริษัทน้อยใหญ่อื่นๆ ทำให้ไม่รู้ว่าหนังสือเรื่องนี้จะได้ออกมาโลดแล่นบนแผงเมื่อไร

ผมยังเสียดายแทนนักลงทุนไทย เพราะหลายๆ วิธีที่โจเอล บอกไว้แบบโต้งๆ ในหนังสือ สามารถเอามาใช้กับตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาได้ดีมาก (แต่อย่างน้อยก็คุ้มแล้วสำหรับผม เพราะผมอ่านก่อนและลองใช้ก่อนแล้ว)

สิ่งหนึ่งซึ่งผมชอบเกี่ยวกับโจเอล คือแม้เขาจะนำเสนอสูตรการลงทุนที่ง่ายจนเหลือเชื่อ แต่ตัวเขากลับเชื่อมั่นในแนวทางการลงทุนเน้นมูลค่า หรือ “วีไอ” อย่างมั่นคง และมักจะโคว้ตคำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในการบรรยายและงานเขียนของตัวเองอยู่เสมอ

นอกจากนี้ เขายังเขียนคอมเม้นท์ให้กับหนังสือของ โฮเวิร์ด มาร์กส์ สุดยอดผู้จัดการกองทุนอีกคนหนึ่ง ซึ่งยึดมั่นในแนวทางวีไอเช่นเดียวกัน โดยทั้งคู่สนิทสนมกันเป็นอย่างดี และต่างก็นับถือบัฟเฟตต์

ที่เล่าเรื่องนี้ ก็เพราะต้องการถ่ายทอดประสบการณ์อันล้ำค่าแก่เพื่อนๆ นักลงทุนว่า แม้เราจะเคยเรียนรู้ว่า การเป็นนักลงทุนนั้น ไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ สิ่งใดที่ฟังดูง่ายเกินจริงนั้น ก็ขอให้คิดไว้ก่อนเลยว่ามันไม่จริง

ทว่าบางครั้ง ตัวเราเองอาจจะโดนลวงอีกชั้นหนึ่ง คือสิ่งที่ฟังดู “ง่ายมากๆ” แท้จริงแล้วอาจจะ “ง่ายจริงๆ” ก็ได้ แต่เป็นตัวเราเองที่ไม่เชื่อ ด้วยความระแวงสงสัย อันเกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

(เหมือนสุมาอี้ที่ไม่กล้าบุกเข้าเมืองเสเสียไปจับตัวขงเบ้ง ทั้งที่ฝ่ายหลังเปิดประตูเมืองนั่งดีดพิณอยู่บนนั้น)

กรณี magic formula ของโจเอล กรีนแบล็ตต์ ก็เป็นเช่นนั้น เคราะห์ดีที่ผมไหวตัวทัน และหยิบหนังสือเล่มนั้นออกจากตู้มาอ่านซ้ำอีกหลายรอบ แทนที่จะโยนทิ้งถังขยะไป

นี่คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “วีไอมหัศจรรย์” ผู้เก่งแบบ “ไร้กระบวนท่า” และอยากเอามาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้ครับ

3 thoughts on ““ง่าย..ใช่ว่าไม่จริง” เมื่อผมเกือบโยนหนังสือของวีไอมหัศจรรย์ทิ้งถังขยะ

  1. พี่อาร์ท ครับสรุป หนังสือ You Can Be A Stock Market Genius จะได้ตีพิมพ์ไหมครับ อยากรู้จังติดตาม ^^

Leave a reply to BeeNey Been Cancel reply