ประธานเฟดพูดเอง ศก.สหรัฐฯ เสี่ยงสูงมาก ชี้ “ยิ่งจน-ยิ่งเจ็บ”

Jerome_H._Powell

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เจโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกปากเองว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ถือว่า “มีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง” และกลุ่มที่ต้องรับความเสี่ยงสูงสุด คือธุรกิจขนาดเล็ก และคนอเมริกันผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย

ทั้งนี้ พาวเวลล์ได้เข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมธิการกิจการธนาคารของสภาคองเกรสส์เป็นวันแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า แม้จะมีตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังผงกหัวขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะตั้งหลักได้ หลังถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโคโรน่าไวรัส

“ระดับผลผลิตและการจ้างงานยังต่ำกว่าก่อนเกิดโรคระบาดเยอะมาก ยังมีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง เกี่ยวกับจังหวะเวลาและความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” ประธานเฟดผู้ได้รับคำชมอย่างยิ่งหลังออกมาตรการทางการเงินการคลังเพื่ออุ้มเศรษฐกิจอย่างทันท่วงทีกล่าว

“ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ เกิดจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความเป็นไปของโรค และผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค จนกว่าสาธารณชนจะเชื่อว่ามีการคุมโรคได้แล้ว เศรษฐกิจก็ยากที่จะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังบอกอีกว่า ต้องระวังธุรกิจขนาดเล็กให้ดี “มหันตภัยโรคระบาดครั้งนี้นำมาซึ่งความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อธุรกิจขนาดเล็ก”

“หากธุรกิจขนาดเล็กหรือกลางพากันล้มละลายเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เราจะสูญเสียมากกว่าธุรกิจเหล่านั้น เพราะธุรกิจเหล่านั้นคือหัวใจของเศรษฐกิจ และผูกโยงกับตำแหน่งงานของคนหลายต่อหลายรุ่น”

“ที่ผ่านมา ครอบครัวที่มีรายได้น้อย ได้ประสบกับการจ้างงานที่ลดต่ำลงอย่างรุนแรงที่สุด ขณะที่การตกงานของคนแอฟริกันอเมริกัน ฮิสแพนิค และผู้หญิง ก็มากกว่ากลุ่มอื่นๆ” เจ กล่าวต่อ

“ถ้าไม่คุม และไม่พลิกสถานการณ์ให้ได้ ขาลงครั้งนี้จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำของความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นไปอีก”

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นจากบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าได้ยินแล้วยิ่งประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

 

เราควรลงทุนอย่างไร ในวันที่ตลาด “disconnect” กับความเป็นจริง?

man-4957154_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมอ่านบทความหนึ่งจาก CNBC น่าสนใจมากๆ เขาชี้ชัดว่าตลาดหุ้นขณะนี้ “ไม่เชื่อมโยง” กับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ โดยยกข้อเท็จจริงมาอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ

แม้จะเป็นเรื่องของตลาดสหรัฐฯ แต่ตลาดหุ้นเมืองไทยก็เป็นไปตามตลาดสหรัฐฯ เสียเป็นส่วนมาก ดังนั้น จึงสมควรที่เราจะรู้เอาไว้ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนี้ครับ

  1. อัตราการว่างงานขณะนี้อยู่ที่ 14.7% สูงสุดนับตั้งแต่ Great Depression เป็นต้นมา แต่ที่ต่างกันคือมีคนตายกว่า 100,000 คนจากโคโรน่าไวรัส
  2. GDP ไตรมาส 1 ลบ 5% และคาดว่า Q2 อาจลบได้ถึง 50% แต่ดัชนี S&P 500 กลับลดลงเพียง 4.6% จากต้นปี
  3. ดัชนี S&P 500 ร่วงลงไป 34% จากจุดไฮเดิมช่วงกลาง ก.พ. สู่จุด low ณ วันที่ 23 มี.ค. เป็นการร่วงลงเร็วสุดในประวัติศาสตร์
  4. ทว่า ณ วันที่  3 มิ.ย. S&P 500 เด้งกลับขึ้นมา 38% นั่นแปลว่าได้ชดเชยส่วนที่ร่วงลงไปจนครบแล้ว ราวกับไม่รับรู้ถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจใดๆ
  5. ส่วนหนึ่งที่หุ้นขึ้น มาจากกลุ่ม FAANG (Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google) ซึ่งได้รับประโยชน์จากวิกฤต และไปชดเชยการร่วงลงของหุ้นพลังงาน
  6. หลายฝ่ายมองว่า ตลาดขณะนี้ “disconnect” กับความเป็นจริง คือเป็นการมองอนาคตบวกมากๆ แม้ว่าจะรับรู้ถึงวิกฤต แต่ก็เข้าไประดมซื้อราวกับมันจะผ่านไปง่ายๆ นักวิเคราะห์คนหนึ่งใช้คำว่า “ทำเหมือนกับพรุ่งนี้จะก้าวเข้าสู่ปี 2021 แล้ว”
  7. จุดที่ต้องระวังที่สุด คือแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านเหรียญ ที่รัฐบาลแจกเช็ค 1,200 เหรียญให้ประชาชน ซึ่งเป็นการ “ให้ครั้งเดียว” และแถมอีกสัปดาห์ละ 600 เหรียญให้กับคนว่างงาน โดย 600 เหรียญนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ก.ค. ขณะที่ 1,200 เหรียญ ก็อาจจะไม่มีการให้ซ้ำอีก หากไวรัสแพร่ระลอกสอง

ข้างต้นนั้นคือข้อมูลที่ผมเรียบเรียงจากเว็บ CNBC และด้วยข้อมูลดังกล่าว ผมจึงสรุปเอาเองว่า หากวิกฤตโคโรน่าไวรัสที่ดูเหมือนจะเริ่มบรรเทาเบาบางลงในหลายๆ รัฐ กลับมาระบาดหนักอีกรอบ เศรษฐกิจก็อาจจะหดตัวรุนแรงได้เพราะได้ใช้ “เงินกระตุ้น” ไปจนหมดแล้ว

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ความเป็นจริงดังกล่าวก็จะสะท้อนเข้ามาในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในท้ายที่สุด


อ่านข้อมูลประกอบจากเว็บ CNBC : ที่นี่

บทเรียนจากการลงทุนในวิกฤตโคโรนาไวรัส (จบ)

IMG_8816

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว ผมได้เขียนทบทวนประสบการณ์การลงทุนฝ่าวิกฤตโคโรนาไวรัสตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้เป็นตอนที่สอง มาต่อกันเลยครับ (ใครยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว คลิกที่นี่)

5. ซื้อบุหรี่ด้วยราคาครึ่งมวน

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้มองหุ้นไทยสดใสนักแม้หลังวิกฤตโคโรนาไวรัสผ่านพ้นไป ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่ก่อนหน้านี้แล้ว พอมาเจอวิกฤตนี้อีกก็ยิ่งจะทรุดหนัก และคงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่หุ้นไทยปรับตัวลดลงมามาก ทั้งที่หุ้นบางตัว ตัวธุรกิจถูกกระทบจากวิกฤตค่อนข้างน้อย เพียงเข้าซื้อก็ทำให้ได้ “ส่วนต่าง” พอสมควรแล้ว หรือที่ ดร.นิเวศน์ ใช้คำประมาณว่า .. เล่น gap ซึ่งผมอยากเปรียบเทียบว่า เหมือนการ “ซื้อบุหรี่ทั้งมวนโดยจ่ายราคาแค่ครึ่งมวน” คือได้กำไรตั้งแต่เข้าซื้อ

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาผมได้กำไรจากการซื้อบุหรี่โดยจ่ายราคาค่อนมวน (ไม่ถูกถึงขนาดครึ่งมวน) มาพอสมควร และนี่คืออีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมและหลายๆ คนที่กล้าเข้าซื้อทำได้ถูกต้อง แต่อย่างที่บอกไปในข้อที่ 3 (ตอนที่แล้ว) คือด้วยความที่เงินสดเหลือน้อย จึงเสียโอกาสไปพอสมควร

6. Balance โอกาสในการลงทุน

สืบเนื่องจากข้อ 5 ถ้าเล่น gap อย่างเดียว ผมมองว่าเป็นการเสียโอกาสอยู่เหมือนกัน เพราะหุ้นบางตัวยังน่าจะโตได้อยู่ แต่ถูกเล่นงานจากวิกฤตครั้งนี้จนราคาลดลงมาเยอะมาก ทั้งที่มองมุมไหนธุรกิจก็ไม่น่าจะกระทบขนาดนั้น เราจึงควรเข้าซื้อหุ้นที่ราคาลงมาเยอะ และมี potential growth ในอนาคตหลังวิกฤตผ่านไปด้วย

โดยส่วนตัว ผมจึง bet กับหุ้นประเภทนี้ ควบคู่ไปกับหุ้นบุหรี่ครึ่งมวนตามที่บอกไปในข้อ 5 ซึ่งถ้าใครมาปรึกษา ผมก็จะแนะนำอย่างนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นลักษณะนี้ คุณต้องเข้าใจตัวธุรกิจดีพอสมควร จึงจะมั่นใจว่ามันจะกลับมาได้ เพราะถ้ามองผิดไปก็อาจเจ็บตัว หากมันถูกวิกฤตกระทบจนพื้นฐานเปลี่ยนแล้วไม่กลับมาเหมือนเดิม

7.เลือกลงทุนหุ้นไทย

ก่อนหน้านี้ผมก็เหมือนกับวีไออีกจำนวนมาก คือมองว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ตลาดหุ้นไทยเป็น sideways และคงไปไหนไม่ได้ไกล จึงเลือกที่จะไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ (ผมไม่ได้ไปเวียดนามเหมือนคนอื่นๆ) อย่างไรก็ตาม พอเกิดวิกฤต และหุ้นไทยตกลงมาพร้อมๆ กับหุ้นนอก ผมก็กลับมาลงทุนในหุ้นไทยซึ่งเป็นเขตแดนที่ผมมีข้อมูลมากที่สุด เนื่องจากผมมองว่าเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว หุ้นไทยดีๆ บางตัวราคาปรับลดลงมา 40-50% ผมไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาอะไรไกลนัก ในเมื่อโอกาสหล่นตุ้บมาอยู่ตรงหน้าแล้ว

8.ย้ายเงินไปต่างประเทศหลังวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ผมวางแผนว่า เมื่อหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาสู่ราคา ณ ระดับก่อนวิกฤตแล้ว ผมอาจจะพิจารณาโยกเงินส่วนหนึ่ง (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมากน้อยเท่าไร) กลับไปต่างประเทศเหมือนเช่นเคย เนื่องจากผมยังมอง growth ของหุ้นไทยว่ามีค่อนข้างจำกัด อันเนื่องมาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่เหมือนเดิม เมื่อฝุ่นหายตลบ ผมจึงอาจจะกลับไปแสวงหา growth ที่อื่นต่อไป

9.ทุ่มเทมากขึ้น

ตั้งแต่เกิดวิกฤตเป็นต้นมา ผมเข้านอนประมาณตี 5 ทุกวันหลังตลาดสหรัฐฯ ปิด และตื่นอีกครั้งก่อน 10 โมง พร้อมตลาดหุ้นไทย แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผมนอนน้อย-อยู่ดึกเพื่อ “เฝ้าหน้าจอ” ทว่าทำไปเพื่อติดตามข่าวสารและรับข้อมูล จะได้รู้ทิศทางของสถานการณ์ที่ครั้งนี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ปกติแล้ว คนเป็นวีไอไม่จำเป็นต้องตามติดสถานการณ์ในระยะสั้น แต่พึงมองเทรนด์ระยะยาว ทว่าโรคระบาดครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเรา จึงอ่านเทรนด์ได้ยากมาก การตามข่าวจึงทำให้มีความได้เปรียบ โดยคำว่า “ข่าว” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงข่าวสารความเป็นไปของสถานการณ์การระบาดหรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หมายถึงการวิเคราะห์ ความคิดเห็น และความรู้จากนักลงทุนระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้มุมมอง (insight) กับเราได้ดีมากๆ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งได้เปรียบ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมได้ทำและเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมาสองเดือนกว่าๆ แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้ยังอีกยาวไกล คงต้องหาเวลามาทบทวนใหม่อยู่เรื่อยๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ