PE Band ของโรงพยาบาล

peband-hc

ชนิดา พัธโนทัย

[ต่อจากตอนที่แล้ว]

ในตอนที่แล้ว เราได้อธิบายเรื่องของ PE Band ไว้โดยละเอียด โดยยกตัวอย่างช่วง P/E ของเซกเตอร์ ICT ให้เห็นกันไปแล้ว (ท่านที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว คลิกที่นี่ )

วันนี้ขอเลือกเป็นเซกเตอร์ที่ได้รับความนิยมสูงมากในหมู่นักลงทุนไทย นั่นก็คือเซกเตอร์ “โรงพยาบาล” กันนะคะ

peband-hospital

 [PE Band ของหุ้นโรงพยาบาล แนะนำให้คลิกที่ภาพแล้วซูมเข้ามาดูใกล้ๆ ค่ะ]

ระหว่างปี 2554  จนถึงกลางปี 2557 P/E ของกลุ่มโรงพยาบาล อยู่ในช่วง 20-30 เท่า (สังเกตจากเส้นสีฟ้า แสดงกรอบบนและล่าง) โดยค่าเฉลี่ย P/E จะอยู่ที่ประมาณ 25 เท่า (สังเกตจากเส้นประสีส้ม)

แต่หลังจากกลางปี 2557 เป็นต้นมา P/E ของกลุ่มโรงพยาบาลก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุกรอบบนของ P/E Band (วงกลมสีเหลือง) ประกอบกับการเติบโตของกำไรของกลุ่มที่ก้าวกระโดด ก็ยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้น โดยจะเห็นได้จากความชันของเส้นดัชนีของกลุ่ม (เส้นเขียวๆ แดงๆ ข้างบนสุด) ที่มากขึ้นนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า เซกเตอร์โรงพยาบาล เป็นตัวอย่างของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาไม่ค่อยจะลงมาให้ซื้อมากนัก ค่า P/E ไม่เคยต่ำ แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จนถึง ณ ขณะนี้  P/E ของกลุ่มอยู่ที่ “37 เท่า” ซึ่งถือว่าสูงมาก!!

อย่างไรก็ตาม การจะด่วนตัดสินว่าหุ้นในเซกเตอร์โรงพยาบาลนั้นแพงจนซื้อไม่ได้แล้วก็อาจเร็วเกินไปหน่อย เพราะแม้หุ้นจะแพง แต่บริษัทในอุตสาหกรรมนี้ก็โตเร็วมาก

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำ คือต้องเอาเรื่องของ “การเติบโต” มาพิจารณาด้วย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ หาค่า “PEG” ออกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจนั่นเอง (เรื่อง PEG เคยอธิบายเอาไว้โดยละเอียดแล้วก่อนหน้านี้ สนใจตามไปอ่านได้ คลิกที่นี่ ค่ะ )

และนี่ก็คือ P/E Band ของกลุ่มโรงพยาบาล อุตสาหกรรมที่หุ้นไม่มีวัน “ถูก” เดี๋ยวตอนหน้าจะมาว่ากันต่อในเซกเตอร์ที่น่าสนใจอื่นๆ ค่ะ 

 —————————

หลักสูตร VI101 “พื้นฐานการลงทุนเน้นมูลค่า” รุ่นที่ 4 โดย Club VI  วันเสาร์ที่ 7 ก.พ. นี้ สำหรับผู้ที่อยากลงทุนแนววีไอ แต่ยังไม่มีพื้นฐานหรือพื้นฐานยังน้อย สมัครได้เลย คลิกที่นี่ 

หลักสูตรระดับกลาง ยอดนิยม VI201 “อ่านงบการเงิน” วันที่ 7 มี.ค. และ VI202 “ประเมินมูลค่าหุ้น” วันที่ 28-29 มี.ค. สมัครได้เลย คลิกที่นี่  

 

P/E Band เครื่องมือชั้นดี ที่หลายคนไม่เคยใช้

peband

ชนิดา พัธโนทัย

การพิจารณาว่าหุ้นตัวหนึ่งราคาถูกหรือแพง และจะเข้าซื้อได้หรือยัง วิธีหนึ่งที่นิยมใช้คือ ดูว่าราคา ณ ตอนนี้ P/E อยู่ที่เท่าไร เมื่อเทียบกับ P/E ของตัวมันเอง จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

เช่น ณ ปัจจุบัน หุ้น XYZ มีค่า P/E อยู่ที่ 10 เท่า โดยที่ถ้าดูย้อนหลังไป (อาจจะ 3-4 ปี) หุ้นตัวนี้เทรดกันอยู่ที่ P/E ต่ำสุดประมาณ 9 เท่า และสูงสุดไม่เกิน 18 เท่า

ในกรณีนี้ ช่วงของ P/E ที่ 9-18 เท่า จึงถือเป็น “P/E Band” ของหุ้น XYZ

และการที่ P/E ปัจจุบันอยู่ที่ 10 เท่า แสดงว่าราคาหุ้น XYZ ณ จุดนี้ อาจจะค่อนข้างถูกแล้วก็เป็นได้ เพราะค่า P/E อยู่ใกล้จุดต่ำสุดมากแล้ว (จุดต่ำสุดคือ 9 สูงสุดคือ 18) การเข้าซื้อหุ้น ณ จุดนี้จึงถือว่ามีความเสี่ยงไม่มากและอาจคุ้มที่จะเสี่ยง

ในทางตรงข้าม ถ้าเราซื้อหุ้น ณ จุดที่ P/E ใกล้ๆ 18 เท่า ก็อาจหมายความว่าหุ้นแพงมากแล้ว จึงต้องตัดสินใจให้ดีหากจะเข้าไปซื้อ

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีหลายกลุ่มอุตสาหกรรม (เซกเตอร์) ด้วยกัน บางเซกเตอร์เทรดกันอยู่ที่ P/E ค่อนข้างสูง และก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยยอมลง

แต่บางเซกเตอร์ P/E ไม่ค่อยขยับไปไหน อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น หรือบางเซกเตอร์ก็จะมีกรอบของ P/E ที่ค่อนข้างชัดเจน

ทั้งนี้ การที่หุ้นที่อยู่ต่างเซกเตอร์กัน มี “พฤติกรรมของ P/E” แตกต่างกัน ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากลักษณะของตัวธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ รวมถึงมุมมองของนักลงทุนที่มองหุ้นในแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไปนั่นเอง

ลองมาดูกันเล่นๆ ว่า P/E ของแต่ละเซกเตอร์ ณ ตอนนี้สูงไปหรือยัง หรือว่ายังต่ำอยู่ มาเริ่มกันที่กลุ่ม ICT ก่อนเลยค่ะ

peband-ict

 (ภาพบน) P/E Band ของกลุ่ม ICT (แนะนำให้คลิกที่ภาพแล้วลองซูมดูใกล้ๆ)

จาก P/E Band ของกลุ่ม ICT ระหว่างปี 2554-2557 จะเห็นได้ว่าค่า P/E อยู่ในช่วง 20-30 เท่า (สังเกตจากเส้นสีฟ้า แสดงกรอบบนและล่าง) โดยมีค่าเฉลี่ย P/E อยู่ที่ประมาณ 25 เท่า (สังเกตจากเส้นประสีส้ม) และที่วงกลมสีแดงไว้นั่นคือจุดที่ P/E สูงชนเพดาน บ่งบอกว่าราคาแพงมากแล้ว ควรระวังไว้ให้ดี!

ณ ปัจจุบัน P/E ของกลุ่ม ICT อยู่ที่ประมาณค่าเฉลี่ยพอดี จึงอาจตีความได้ว่า “หุ้น ICT เวลานี้ ไม่ถูกและก็ไม่แพงเกินไป” แต่จะเป็นจุดซื้อหรือยัง ก็คงแล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละท่าน

ในตอนหน้าเรามาว่ากันต่อถึงเซกเตอร์อื่นๆ ค่ะ

——————————

หลักสูตร VI101 “พื้นฐานการลงทุนเน้นมูลค่า” รุ่นที่ 4 โดย Club VI  วันเสาร์ที่ 7 ก.พ. นี้ สำหรับผู้ที่อยากลงทุนแนววีไอ แต่ยังไม่มีพื้นฐานหรือพื้นฐานยังน้อย สมัครได้เลย คลิกที่นี่ 

หลักสูตรระดับกลาง ยอดนิยม VI201 “อ่านงบการเงิน” วันที่ 7 มี.ค. และ VI202 “ประเมินมูลค่าหุ้น” วันที่ 28-29 มี.ค. สมัครได้เลย คลิกที่นี่  

 

เรื่องค่า P/E ที่ควรรู้

PE-fon

โดย ชนิดา พัธโนทัย

มองดูดัชนีตลาดหุ้นไทยตอนนี้ หลายคนคงรู้สึกว่าหุ้นไทยแพงเกินไปแล้วที่จะซื้อ (แม้จะตกลงมาบ้างในช่วงไม่กี่วันนี้) ซึ่งก็อาจจะจริง อย่างไรก็ตาม เราควรกลับมาพิจารณาหุ้นเป็นรายตัวเสียก่อน เพราะหุ้นแต่ละตัวมีอัตราความสามารถในการทำกำไรที่แตกต่างกัน มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน

โดยวิธีการง่ายๆ ที่ใช้พิจารณาว่าหุ้น “ถูก” หรือ “แพง” ซึ่งเป็นที่นิยมกันก็คือ “ค่า P/E”

ค่า P/E คือการวัดความถูกแพงของหุ้น โดยเปรียบเทียบ ราคา (P = Price) กับ กำไรต่อหุ้น (E = Earnings per share) ของบริษัท ถ้า “P/E ต่ำ” หมายความว่า หุ้นนั้นราคาถูก และหากเข้าไปซื้อ ก็จะใช้เวลา “คืนทุน” เร็ว

เช่น P/E = 6 เท่า หมายความว่า หากบริษัทยังได้กำไรในระดับเดิมเท่ากันทุกปี ผู้ที่ซื้อหุ้นนั้นก็จะใช้เวลา 6 ปีในการคืนทุน ในทางตรงกันข้าม ถ้า “P/E สูง” แปลว่าหุ้นนั้นแพง และจะใช้เวลาคืนทุนนานกว่านั่นเอง

แต่การพิจารณาค่า P/E ไม่ใช่ว่านำตัวเลขมาหารกันง่ายๆ หรือดูเอาดื้อๆ จากเว็บไซต์หรือหนังสือพิมพ์ธุรกิจ แล้วจะสรุปได้เลยว่าหุ้นตัวนั้นถูก ตัวนี้ถูก เข้าซื้อได้แล้ว การกระทำเช่นนั้น อาจนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ผิดพลาด และอาจสร้างความเสียหายให้แก่การลงทุนของเราได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าตัวเราขาดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

ถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรลงทุนได้หรือยัง ในประเด็นนี้ สิ่งที่สำคัญมากๆ และอยากให้พิจารณาก็คือ คุณภาพของ E

คุณภาพของ E หมายถึง “คุณภาพของกำไรของบริษัท” นั่นเอง โดยเราต้องดูว่าบริษัทมีกำไรที่สม่ำเสมอและเติบโตอย่างมั่นคงหรือไม่

กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ บริษัทมี “กำไรจากรายการพิเศษ” อันหมายถึงกำไรที่เกิดขึ้นแค่งวดบัญชีเดียว ซึ่งต้องระวัง!!! เพราะมันเป็นหลุมพรางอันอาจทำให้เราเข้าใจผิดคิดไปว่า P/E ที่ออกมาต่ำนั้น บ่งบอกว่าหุ้นตัวนั้น “ราคาถูก”

ครั้นถึงปีถัดมา บริษัทไม่มีกำไรพิเศษอีกต่อไป P/E จึงดีดตัวสูงขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วหุ้นนั้น “แพง” กว่าที่เราคิด

การจะดูว่าตัวเลขกำไรสุทธิมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและสม่ำเสมอหรือไม่ จึงควรนำงบการเงินมาเปิดดู และต้องเอากำไรจากการดำเนินธุรกิจจริงๆ มาพิจารณา โดยตัดพวกกำไรจากรายการพิเศษ หรือที่เรียกกันว่า “Non-recurring items” ออก ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพการเติบโตของกำไรที่แท้จริงของบริษัท

ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งก็คือ กรณีที่บริษัทมีการเพิ่มทุนบ่อยๆ หรือแจก “วอร์แรนต์” (warrant หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น) ฟรี เพราะเมื่อวอร์แรนต์เหล่านั้นแปลงสิทธิมาเป็น “หุ้น” จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ EPS ลดลงทันที และค่า P/E ก็จะสูงขึ้นทันทีเช่นกัน

ประการสุดท้ายที่นักลงทุนมักมองข้ามคือ มีบางอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะในการใช้ค่า P/E วัดความถูกแพงของหุ้น อาทิ ธุรกิจที่กำไรไม่สม่ำเสมอ ธุรกิจที่เป็น Cycle หรือขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ (ประเด็นนี้หากจะให้ลงรายละเอียดคงต้องว่ากันยาว เพราะเป็นเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับ Business Nature หรือธรรมชาติของธุรกิจนั้นๆ)

โดยสรุปก็คือ ในการดูค่า P/E เราควรพิจารณาหลายสิ่งหลายอย่าง และคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ หลายประการ

ดังนั้น การเป็นนักลงทุนที่ดี จึงจำเป็นต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับตัวธุรกิจและเรื่องราวทางการเงินของบริษัท จึงจะสามารถนำมาวิเคราะห์และปรับใช้กับการลงทุนได้

ถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีกแค่ 3 เดือนก็จะสิ้นปี 2557 นักลงทุนอย่างเราๆ ได้รับรู้กำไรของบริษัทมา 9 เดือนเต็มแล้ว เราจึงอาจลองคาดการณ์กำไรไตรมาสสุดท้าย เพื่อที่จะหากำไรของทั้งปี 2557 ได้ หรือหากใคร Advanced ขึ้นมาหน่อย ก็อาจคาดการณ์กำไรปี 2558 ทั้งปี แล้วคำนวณหาค่า P/E ดูว่า หุ้นที่เราเล็งอยู่ “ถูกหรือแพง” ขนาดไหนอย่างไร

.. แล้วค่อยตัดสินใจ ว่าจะ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ดี