GRAMMY

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทบันเทิงชั้นนำของประเทศไทย สร้างผลงานเพลงระดับตำนานและปลุกปั้นศิลปินชื่อดังประดับฟ้าเมืองไทยมาตลอดหลายทศวรรษ มีธุรกิจหลักคือธุรกิจเพลงและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเพลง รวมทั้งธุรกิจสื่อ ธุรกิจบรอดคาสติ้งและภาพยนตร์ด้วย

V-Strength

GRAMMY เป็นบริษัทที่ใช้การบริหารคอนเทนต์ในมือเพื่อสร้างรายได้ โดยในส่วนของธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจหลัก บริษัทฯได้ปรับโมเดลธุรกิจจนสอดคล้องกับเทคโนโลยีดิจิตอล ล่าสุด GRAMMY ได้หันมาบุกตลาดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ผ่าน Platform ใหม่ที่สร้างขึ้นคือ GMM-Z แม้ธุรกิจบันเทิงจะแข่งขันสูงและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ GRAMMY ได้เปรียบตรงที่ไม่ได้พึ่งพาตัวบุคคล ทั้งยังมีคอนเทนต์จำนวนมหาศาลที่จะช่วยสร้างรายได้ไปอีกนาน แต่ข้อเสียคือ บริษัทฯมีสภาพคล่องไม่มาก อัตราส่วนทุนหมุนเวียนอยู่ต่ำกว่า 1 เท่า

ค่าทดสอบ 70 เต็ม 100

V-Growth

การหันมารุกตลาดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยสร้าง Platform ใหม่คือ GMM-Z แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเติบโต การทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอล Euro 2012 ทำให้บริษัทฯ ทำรายได้จากกล่อง GMM-Z ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และมีแนวโน้มจะขยายฐานลูกค้าต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนหลังไปห้าปี การเติบโตของบริษัทฯ มีการสะดุดหยุดลงในปี 2552 ก่อนจะปรับตัวครั้งใหญ่และฟื้นกลับมาได้ ดังนั้น ด้วยความเป็นธุรกิจบันเทิง ผู้ลงทุนจึงควรเผื่อใจไว้สำหรับความไม่แน่นอนของรายได้และกำไรเสมอ

ค่าทดสอบ 77 เต็ม 100

V-Management

ผู้บริหารของ GRAMMY เป็นคนบันเทิงชั้นนำที่คนทั่วประเทศต่างยอมรับในความสามารถ ไล่ตั้งแต่ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัทฯ ลงมา อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิตอลเคยเป็นประเด็นที่ทำให้หัวเรือใหญ่ของ GRAMMY ต้องหนักใจมาแล้ว จึงคาดเดาได้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงอันเป็นพลวัตของธุรกิจบันเทิง จะยังคงท้าทายความสามารถและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารต่อไป

ค่าทดสอบ 86 เต็ม 100

V-Potential

ณ วันที่ 6 มิ.ย. 2555 ราคา 28.25 บาทต่อหุ้น, PE 24.8 เท่า

ค่าทดสอบ 33.9 เต็ม 100

[Disclaimer: บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้จัดทำ ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อหรือไม่ซื้อหลักทรัพย์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ผู้จัดทำไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลหรือความเห็นนี้ไปใช้ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม]

DRT

บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน)

เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลังคา แผ่นผนังและฝ้า ไม้สังเคราะห์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราเพชร” ตราหลังคา ตราอดามัส (Adamas) และตราเจียระไน รายได้หลัก 70% ยังคงมาจากผลิตภัณฑ์กระเบื้องหลังคา และอีก 25% มาจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการถอดแบบและติดตั้งหลังคาอีกด้วย

V-Strength

DRT อยู่ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างซึ่งมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมหลังคา 13% เป็นอันดับ 3 ตามหลัง “กระเบื้องตราช้าง” ของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย (ส่วนแบ่งตลาด 46%) และ “กระเบื้องห้าห่วง” ของกลุ่มมหพันธ์ (ส่วนแบ่งตลาด 25%) บริษัทมีความเชี่ยวชาญและอยู่ในธุรกิจมาอย่างยาวนาน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนจำหน่ายซึ่งถือเป็นช่องทางการขายหลัก และมีการบริหารต้นทุนและกำลังการผลิตเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมเรื่องการใช้แร่ใยหิน ข้อจำกัดของกำลังการผลิต รวมทั้งการกำหนดราคาขาย เนื่องจากกระเบื้องหลังคาถือเป็นสินค้าควบคุม

ค่าทดสอบ 66 เต็ม 100

V-Growth

ยอดขายและรายได้ของ DRT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 24% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิก็อยู่ในระดับสูงและค่อนข้างสม่ำเสมอ แม้ส่วนแบ่งตลาดจะเป็นรองบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่มาก แต่ DRT ก็ยังรักษาก้อนเค้กของตัวเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด ทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้เติบโตต่อไป สังเกตได้จากโครงการขยายกำลังการผลิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จุดเด่นอีกประการหนึ่งซึ่งทำให้นักลงทุนจำนวนมากชอบ DRT ก็คือ มีการจ่ายปันผลค่อนข้างดี (6.23% เมื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน) และมีความสม่ำเสมอ

ค่าทดสอบ 86 เต็ม 100

V-Management

โดยภาพรวมแล้ว DRT เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการดีเยี่ยม ทั้งในแง่การดำเนินธุรกิจและในแง่สังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารของ DRT มีความรู้ ความชำนาญ ไม่มีประวัติด่างพร้อย ใช้เงินทุนและหนี้สินด้วยความระมัดระวัง และรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเสมอมา ส่วนบริษัทก็ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 14001 ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่น ตลอดจนรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

ค่าทดสอบ 100 เต็ม 100

V-Potential

ณ วันที่ 6 มิ.ย. 2555 ราคา 6.05 บาทต่อหุ้น

ค่าทดสอบ 55.8 เต็ม 100

[Disclaimer: บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้จัดทำ ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อหรือไม่ซื้อหลักทรัพย์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ผู้จัดทำไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลหรือความเห็นนี้ไปใช้ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม]

WORK

Image

WORK

บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

เป็นบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาด้านบันเทิงชั้นนำของประเทศไทย ธุรกิจหลักคือผลิตรายการโทรทัศน์ มีความเชี่ยวชาญด้านวาไรตี้โชว์และเกมโชว์เป็นพิเศษ นอกจากนี้ เวิร์คพอยท์ยังผลิตภาพยนตร์ จัดคอนเสิร์ต ผลิตเอนิเมชั่น รับจัดอีเว้นท์ ฯลฯ โดยมีสำนักงานและสตูดิโอขนาดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเปิดให้บริษัทอื่นมาเช่าใช้ได้ด้วย

V-Strength

WORK เป็นบริษัทบันเทิงชั้นนำของประเทศไทยที่มีประสบการณ์มายาวนาน อุดมไปด้วยบุคลากรคุณภาพ แต่โดยธรรมชาติแล้ว ธุรกิจบันเทิงมีความผันผวนค่อนข้างมาก และได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจรุนแรงกว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องแย่ง “แอร์ไทม์” กับผู้ผลิตคอนเท้นท์อื่นๆ ทุกครั้งที่มีการปรับผังรายการประจำปี อีกทั้ง การพึ่งพาคุณปัญญา นิรันดร์กุล CEO ของบริษัทฯ ให้เป็นพิธีกรหลัก และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีใครขึ้นมาทดแทนได้ ก็อาจมองได้ว่าเป็นความเสี่ยงในระยะยาว

ค่าทดสอบ 63 เต็ม 100

V-Growth

อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศยังเติบโตได้อีกมากตามการขยายตัวของเทคโนโลยีสื่อ เวิร์คพอยท์เองได้ขยับขยายไปทำช่องโทรทัศน์ดาวเทียมของตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งเรตติ้งก็ออกมาดีเป็นที่น่าพอใจยิ่ง และน่าจะส่งผลบวกต่อการเติบโตของบริษัทฯ ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม รายได้และกำไรของ WORK มีความผันผวนอยู่ตลอดตามสภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งเวลาออกอากาศที่ไม่แน่ไม่นอน การคาดการณ์อนาคตของบริษัทฯ จึงทำได้ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แม้ว่าหุ้น WORK จะจ่ายปันผลสูงมาโดยตลอด

ค่าทดสอบ 66 เต็ม 100 

V-Management

ผู้บริหารสูงสุดของเวิร์คพอยท์ คือคุณปัญญา นิรันดร์กุล CEO และคุณประภาส ชลศรานนท์ Vice CEO เป็นคนบันเทิงชั้นนำของประเทศไทย ได้รับการยอมรับทั้งในด้านของความสามารถและความซื่อสัตย์ ทั้งยังมีความรักและผูกพันอย่างยิ่งกับธุรกิจที่ตัวเองสร้างมากับมือ ปัจจัยเรื่องผู้บริหารจึง “เป็นบวก” ค่อนข้างมาก สำหรับ WORK

ค่าทดสอบ 86 เต็ม 100

V-Potential

ณ วันที่ 3 เม.ย. 2555

ราคา 20.90 บาท PE 16 เท่า

ค่าทดสอบ 56.2 เต็ม 100

 

 [Disclaimer: บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้จัดทำ ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อหรือไม่ซื้อหลักทรัพย์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ผู้จัดทำไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูลหรือความเห็นนี้ไปใช้ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม]