เสี่ยงอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน

Richard_Branson_March_2015_(cropped)

(ต่อไปนี้เป็นข้อเขียนจากนิตยสาร Forbes ฉบับครบรอบ 100 ปี เป็นการรวบรวมเอาข้อคิดดีๆ จากสุดยอดนักธุรกิจโลก 100 คน ซึ่งผมได้ทยอยแปลเป็นไทยให้ได้อ่านกัน วันนี้เป็นคิวของ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้ง “เวอร์จิ้น กรุ๊ป” ในหัวข้อ “ความเสี่ยง” ซึ่งน่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว ลองอ่านดูนะครับ )

ริชาร์ด แบรนสัน เขียน

ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล

ผมเดาว่าในบรรดานักธุรกิจทุกคนที่ถูกรวบรวมไว้ในฉบับนี้ ผมคือคนที่ทำเรื่องบ้าๆ โง่ๆ ไว้มากกว่าใคร เพื่อให้บริษัทของผมเป็นที่รู้จัก

ตอนที่ เวอร์จิ้น อเมริกา เริ่มเส้นทางบินไป ลาส เวกัส สต๊าฟของผม พาผมขึ้นไปยังชั้นสูงสุดของโรงแรมพาล์มส์ และบอกว่า ผมต้องกระโดดจากชั้นสูงสุดลงไปยังงานปาร์ตี้ที่ชั้นล่างสุดแบบบั้นจี้ ซึ่งผมลังเลมากๆ เพราะตอนนั้นลมแรง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ผมก็กระโดด และตัวไปฟาดกับด้านนอกตึกระหว่างที่กำลังพุ่งลง ซึ่งทำให้กางเกงขาดยับเยินหมด พอลงมาถึงงานปาร์ตี้ เลือดก็ไหลท่วมขา

แบรนด์ เวอร์จิ้นถูกผูกเอาไว้กับตัวตนของผมอย่างแท้จริง ผมจึงต้องระวัง ไม่ทำอะไรที่จะไปทำลายแบรนด์ของตัวเอง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่ยอมเสี่ยง ในขณะที่กลุ่มเวอร์จิ้นใหญ่ขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น เราก็สามารถเสี่ยงมากขึ้นและฉลาดขึ้นในหลายๆ เซคเตอร์

การลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของเราคือ “บริษัทอวกาศ” ซึ่งเราลงทุนไปแล้ว 1,000 ล้านเหรียญเพื่อเริ่มต้น ผมเสี่ยงอะไรมามากต่อมากในชีวิตนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องธุรกิจ บางครั้งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

แต่คนเรามักไม่รังเกียจคนที่พยายามทำสิ่งต่างๆ แล้วล้มเหลวหรอก


แหล่งที่มาข้อมูล: http://www.forbes.com/100-greatest-business-minds/person/richard-branson

ภาพโดย : Chatham House

Mr. Moneyball

[ต่อไปนี้เป็นข้อเขียนจากสุดยอดนักธุรกิจโลก 100 คน ที่ Forbes magazine รวบรวมไว้ ซึ่งผมทยอยแปลเป็นไทยให้ได้อ่านกัน วันนี้เป็นคิวของ บิลลี่ บีน สุดยอดโค้ชเบสบอลจากหนังเรื่อง Moneyball (ที่รับบทโดย แบรด พิตต์) ผู้บุกเบิกเอาหลักสถิติ ซึ่งคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับ value investment ของ เบนจามิน แกรแฮม มาใช้กับเบสบอลและได้ผลอย่างดงาม มาอ่านข้อคิดจากเขากันนะครับ]

Moneyball_Poster

บิลลี่ บีน เขียน

ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล

ในเรื่องของกีฬา คุณต้องเอาตัวรอดให้ได้สถานเดียว ผู้คนจะเชียร์แต่ทีมที่ชนะ ความพ่ายแพ้จะไม่ให้เครดิตกับคุณทั้งสิ้น

ผมไม่เคยเคลือบแคลงสงสัยในวิธีแบบ Moneyball เลย เมื่อก่อนเรามีเพียงสองทางเลือก คือจะใช้สัญชาติญาณ หรือ ข้อมูล แต่ดูเหมือนเรากำลังตัดสินใจบนวงล้อรูเล็ตต์ไปวันๆ ถ้าบังเอิญเลือกถูก เราก็เฉลิมฉลองการเดาที่ถูกต้องนั้น แล้วคิดเอาเองว่าตัวเรามีญาณวิเศษอะไรสักอย่าง แทนที่จะยอมรับว่ามันเป็นเพียงโชคและผลลัพธ์ที่เป็นการสุ่มล้วนๆ

ดังนั้น เราจึงเปลี่ยนมาใช้เหตุผล ใช้ตรรกะ และอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง สิ่งที่น่าสนใจก็คือการต่อต้าน เมื่อคุณเอาข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ และใช้เหตุผลแบบภววิสัย คุณจะถูกตรึงไว้กับมาตรฐานอันสมบูรณ์แบบ ถ้ามีบางครั้งที่มันไม่ถูกต้อง 100% ก็จะมีคนสวนว่า “ฉันบอกนายแล้วว่าใช้ตัวเลขแม่งไม่เวิร์คหรอก” แต่ที่จริงแล้วมันเวิร์ค และเราก็จะเติบโตต่อไป

ยิ่งคุณคิดว่าตัวเองได้คำตอบครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คุณอาจกำลังมีปัญหาอยู่ก็ได้ ทุกๆ ธุรกิจมีข้อมูล และมีอัลกอริธึ่มที่ต้องปรับปรุงด้วยกันทั้งนั้น

(อ่านบทความเรื่อง VI กับ Moneyball ได้ที่นี่)


แหล่งที่มาข้อมูล : https://www.forbes.com/100-greatest-business-minds

แจ็ค เวลช์ สอนน้อง : อย่าซ้ำเติมใครในวันที่เขาล้ม

[ต่อไปนี้เป็น การแปลข้อเขียนจากสุดยอดนักธุรกิจโลก 100 คน ที่ Forbes magazine รวบรวมไว้ วันนี้เป็นคิวของ แจ็ค เวลช์ อดีตซีอีโอ GE หนึ่งในนักบริหารที่ได้รับการยอมรับว่าเก่งที่สุดในโลก มาดูกันนนะครับว่าเขาสอนอะไร]

800px-JackWelchApril2012

แจ็ค เวลช์ เขียน

ชัชวนันท์ สันธิเดช แปล

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของผมนั้น ระเบิดมาก .. หมายถึง “ระเบิด” จริงๆ

ในปี 1963 หลังจากทำงานที่ GE ได้สามปี ผมเป็นวิศวกรเคมีที่กระตือรือร้นและทะเยอทะยาน และกำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างธุรกิจพลาสติกขึ้นในบริษัทไฟฟ้า ในระหว่างกระบวนการ โรงงานทดลองของผมเกิดระเบิดขึ้นมา ใช่แล้วล่ะ ระเบิดเละเลย หลังคาพังลงมา กระจกแตก ควันโขมง งานทุกอย่างพังฉิบหายหมด

จนถึงวันนี้ ผมยังนึกขอบคุณพระเจ้าที่ไม่มีใครเป็นอะไร แต่ผมแน่ใจว่าหน้าที่การงานของตัวเองจบเห่ลงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่หัวหน้าของผมในพิตต์สเบิร์ก อยู่ๆ ก็ทำเป็นไม่รู้จักผม อีกทั้งผมยังถูกเรียกตัวไปพบเจ้านายใหญ่ในนิวยอร์ก เขาชื่อ ชาร์ลี รีด

ตอนนั้นผมไม่รู้จักเขาเลย รู้แต่ว่าผมกลัวมาก ผมแน่ใจว่าจะถูกตะโกนด่า ประจาน แล้วก็ไล่ออกแบบอัปยศแน่นอน เพราะถึงอย่างไร มันก็คือโรงงานของผม เป็นความผิดของผมเต็มๆ

แต่แล้ว ชาร์ลี รีด กลับสอนบทเรียนความเป็นผู้นำและบทเรียนชีวิตอันยิ่งใหญ่แก่ผมในวันนั้น เขาสุขุม มีเมตตา และเอาใจใส่ เขาคุยกับผมอยู่หลายชั่วโมง โดยใช้วิธีตั้งคำถามแบบโซเครติส เพื่อช่วยให้ผมเข้าใจว่าระเบิดเกิดขึ้นได้อย่างไร และผมสามารถ หรือควรทำอะไรที่แตกต่างไป และหลังจากคุยจบ เขาก็ให้โอกาสครั้งที่สองแก่ผม

ผมได้เรียนรู้ในวันนั้นว่า อย่าได้ซ้ำเติมใครในวันที่เขาล้ม คนทุกคนทำผิดพลาดกันได้ ความผิดบางอย่างนั้นใหญ่โตก็จริง แต่มันก็ได้ให้โอกาสครั้งใหญ่แก่เขาเช่นกัน นั่นคือโอกาสในการเติบโต 

หลายปีหลังจากได้คุยกับชาร์ลีในวันนั้น ผมก็ทำแบบเดียวกันกับพนักงานของผม และพบว่ามันได้ช่วยให้คนจำนวนมากเป็นคนที่ดีขึ้น ผมยังได้เรียนรู้ด้วยว่า เวลาที่ควรจะซัดคนอื่น .. “ซัด” ในที่นี้ หมายถึง “ท้าทาย” คือเวลาที่เขากำลังรุ่ง เพื่อเตือนเขาว่า

เวลาที่นายกำลังขึ้น อย่าให้คอของนายชูขึ้นตามชีวิตไปด้วยก็แล้วกัน

———————————-

แหล่งที่มาข้อมูล : https://www.forbes.com/100-greatest-business-minds