เรขาคณิตของการเจ๊งหุ้น

โดย สุภศักดิ์ จุลละศร

นักเล่นหุ้นส่วนมากคุ้นเคยกับหลักการ “buy low, sell high” หรือ “ซื้อถูก ขายแพง” ด้วยเหตุนี้พอหุ้นที่หมายตามีราคาลดลง พวกเขาก็จะเข้าซื้อและหวังว่าจะไปขายทำกำไรในอนาคต

กลยุทธ์การเข้าซื้อเมื่อหุ้น “ย่อตัว” และขายออกไปเมื่อมัน “เด้ง” สามารถใช้ได้ดีในยามที่ราคาหุ้นเป็นไซด์เวย์ (sideway) คือ แกว่งตัวอยู่ในกรอบ หรือถ้าเป็นขาขึ้นก็ยิ่งดี เพราะเวลาเด้ง มันจะได้เด้งยาวๆ ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ หากจะกล่าวว่า นี่คือกลยุทธ์พื้นฐานของนักเล่นหุ้นส่วนมากในตลาดก็คงจะไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้อาจทำให้เกิดหายนะได้ หากว่าเรา “อ่านเกมไม่ขาด” แถมยังใช้กลยุทธ์ “เฉลี่ยต้นทุน” เสียอีกด้วย 

ผมจะยกตัวอย่างพร้อมแสดงให้เห็นด้วยเรขาคณิต ว่าหายนะเกิดขึ้นได้อย่างไร…และบางทีคุณอาจตกใจที่ผลลัพธ์มัน “โหดร้าย” กว่าที่คิด

ตัวอย่าง บมจ.ภูผาถ่านหิน

บมจ.ภูผาถ่านหิน เป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงพลังงาน ชนิดที่ทุกโบรกเกอร์ต้องออกบทวิเคราะห์ และมีมุมมองเป็นบวกทั้งในแง่ความแข็งแกร่งและผลกำไร หากเราย้อนดูราคาหุ้นของภูผาถ่านหินจะพบว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น

1

เมื่อมองย้อนไปในอดีต นักลงทุนต่างคิดว่า บมจ.ภูผาถ่านหิน เป็นกิจการชั้นยอด เพราะยอดขายและกำไรของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะวัดกันด้วยอัตราส่วนทางการเงิน ค่า ROE (Return on Equity) ก็สูงกว่า 30% ค่าพีอี (Price-to-Earning) ก็ค่อนข้างต่ำเพียง 10 เท่า เรียกว่าเข้าตำราน่าซื้อทุกอย่าง พวกเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในราคาหุ้นอย่างที่เห็น และยิ่งเห็นก็ยิ่งมั่นใจ

ฉะนั้น พอราคาหุ้นย่อตัวลงมาที่ 700 บาท พี่อ้น นักลงทุนมือใหม่เลยเข้าซื้อไว้ก่อน 100 หุ้น และครั้นราคาหุ้นตกลงมาที่ 650 บาท เขาก็จัดไปอีก 100 หุ้น เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ได้ซื้อหุ้นดีราคาถูก

สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครเตือนพี่อ้น คือ โดยธรรมชาติของธุรกิจแล้ว กำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับ “ถ่านหิน” ซึ่งจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ และถูกกำหนดราคาโดยตลาดโลก กล่าวได้ว่าถ่านหินมี “วัฏจักร” ของมัน และนั่นก็หมายความว่า บริษัทเองก็มีวัฏจักรของมันด้วยเช่นกัน และแม้บริษัทจะเก่งกาจเพียงใดก็ไม่อาจหลีกพ้นความจริงในข้อนี้

นี่คือสิ่งที่ “ตัวเลข” ไม่ได้บอกไว้!

การที่เขาโผล่เข้ามาแล้วเห็นขาขึ้นพอดี ทำให้คิดไปว่า ราคาหุ้นที่ลดลงเป็นแค่การย่อตัวของหุ้น … ทั้งที่จริงมันกำลังเข้าสู่ขาลง!

ถัวเฉลี่ยขาลง

นักลงทุนรายนี้คิดอยู่เสมอว่า หากเขาดึงต้นทุนให้ต่ำลงได้ โอกาสที่จะได้กำไรก็ย่อมจะสูงขึ้น ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาพยายามซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง

ฟังดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายใช่ไหมครับ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้ เพราะหุ้นตัวนี้กำลังอยู่ในขาลง และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

2

การซื้อหุ้นขาลง แม้เราจะได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำลง แต่ต้นทุนเฉลี่ยของเราก็ไม่ได้ลดลงเร็วเท่ากับราคาหุ้น เหตุเพราะว่ามีหุ้นล็อตแรกๆ ที่ซื้อไว้เมื่อตอนราคาสูงคอยเป็นตัวถ่วงอยู่

มิหนำซ้ำพอราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งผมเรียกว่าเป็น “surrender price” หรือ จุดยอมแพ้ อาจจะด้วยเงินหมดหรือถอดใจก็ตามที

การซื้อหุ้นเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนก็สิ้นสุดลง นักลงทุนส่วนมากจะไม่ยอมขายหุ้นทิ้งเพื่อคัทลอส แต่กลับยอมถือหุ้น “ติดดอย” และรอคอยจนกว่าราคาหุ้นจะดีดกลับขึ้นมาเท่าทุน พวกเขาถึงจะยอมขายหุ้นเหล่านั้นไป

เรขาคณิตของการซื้อหุ้นถัวเฉลี่ย

อธิบายผลขาดทุนจากการซื้อหุ้นถัวเฉลี่ยในกรณีข้างต้นได้ดังนี้

3

เราอาจคิดว่า อู้หู! แทนที่จะขาดทุนสองหมื่น ไปๆ มาๆ พี่อ้นขาดทุนถึงห้าหมื่นบาท แต่… มันยังไม่จบครับ กล่องสี่เหลี่ยมที่ผมเรียงให้ดูมีลักษณะคล้าย สามเหลี่ยมขั้นบันได สังเกตว่าผมเรียงกล่องให้ดูถึงแค่ surrender price เท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของหายนะเลยด้วยซ้ำ

4

หากเราไล่นับกล่องสี่เหลี่ยมก็จะพบว่า เมื่อถึงวันที่ราคาหุ้นภูผาถ่านหินลงมาอยู่ที่ 350 บาท ผลขาดทุนทั้งหมดจะเท่ากับ 50000 + 60000 = 110,000 บาท ทั้งที่แรกเริ่มเดิมทีเขาลงทุนด้วยเงินแค่ 70,000 บาทเท่านั้น! และเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการซื้อหุ้นเพิ่มของเขานั่นเอง

เพื่อความชัดเจนผมจะชี้ให้เห็นเป็นกรณีไปนะครับ

กรณีแรก ซื้อล็อตแรกครั้งเดียว (100 หุ้น) แล้วทนถือเรื่อยมา ไม่มีการซื้อถัว

ต้นทุนของพี่อ้นจะอยู่ที่ 700 บาท และเมื่อราคาหุ้นตกลงเรื่อยมาจนอยู่ที่ 350 บาท เขาก็จะขาดทุน 50% คิดเป็นตัวเงิน (700 – 350) x 100 = 35,000 บาท

กรณีที่สอง เข้าซื้อรวม 4 ครั้ง ครั้งละ 100 หุ้น แล้วทนถือต่อมา

ต้นทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 625 บาท ซึ่งเมื่อราคาหุ้นตกลงมาที่ 350 บาท เขาก็จะขาดทุน 44% คิดเป็นตัวเงิน (625 – 350) x 400 = 110,000 บาท

สิ่งที่ผมอยากให้สังเกต คือ แม้พี่อ้นจะลดเปอร์เซ็นต์การขาดทุนจาก 50% เหลือ 44% ได้ด้วยการซื้อหุ้นถัวเฉลี่ย แต่ในแง่จำนวนเงินที่ขาดทุนกลับเพิ่มทะลักล้นจาก 35,000 ไปเป็น 110,000 บาท

ยิ่งอัดเพิ่ม ยิ่งตายอนาถ

วิธีหนึ่งที่นักลงทุนหลายท่านชอบปฏิบัติกัน คือ ยิ่งหุ้นตกยิ่งซื้อมาก นัยว่าต้องการ “เกทับ” และเอาคืนให้เร็วที่สุด เป็นต้นว่าเริ่มซื้อครั้งแรก 100 หุ้น พอหุ้นตกลงมาก็เลยซื้อเพิ่ม 200 หุ้น และพอหุ้นตกมาอีก คราวนี้อัดเต็มๆ 400 หุ้น เป็นต้น

การ “อัดเพิ่ม” ในลักษณะนี้ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเราลดลงมาเร็วกว่าปกติ ซึ่งก็หมายความว่า หากราคาหุ้นมีการเด้งขึ้น โอกาสที่เราจะกลับไปเท่าทุนก็มีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่หุ้นเป็นขาลง การ “เด้งขึ้น” ของราคาหุ้นย่อมจะสั้นกว่าการ “ทรุดลง” …

ไอเดียเด็ดๆ ที่ว่าจะรอขายตอนหุ้นเด้งขึ้นนั้น บางครั้งมันก็เด้งเพียงแค่นิดเดียว ก่อนที่จะทรุดยาวต่อไป โดยมากไอเดียจึงเป็นได้แค่ไอเดียเท่านั้น

การซื้อหุ้นอัดเพิ่มโดยไม่คำนึงถึงแนวโน้มผลประกอบการในระยะยาว จัดได้ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะแทนที่เราจะเสียหายเพียงแค่ 100 หุ้น เราอาจต้องเสียหายเป็นพันๆ หุ้นเลยก็ได้ ถ้าอัดเพิ่มครั้งแล้วครั้งเล่า ราคาหุ้นก็ยังคงดิ่งลงนอกจากนี้ เนื่องจากคนเราย่อมมี resource ที่จำกัด (ซึ่งในที่นี้ก็คือเงิน)

การพยายามซื้อถัวเฉลี่ยด้วยวิธี “อัดเพิ่ม” ยังจะทำให้เราไปถึง surrender price เร็วขึ้น และนั่นก็ทำให้ “พื้นที่สี่เหลี่ยม” ใหญ่ขึ้น ผลขาดทุนโดยรวมก็จะยิ่งมากขึ้น

5

จากตัวอย่างการอัดเพิ่มนี้ ถ้าเรานับกล่องสี่เหลี่ยมใต้ surrender price เราจะนับได้ถึง 28 กล่อง และหากนับรวมทั้งหมดจะได้ 39 กล่อง! แต่อันที่จริงแค่เทียบรูปนี้กับรูปก่อนหน้าก็พอกะด้วยสายตาได้ว่า การอัดเพิ่มทำให้จำนวนกล่องของเรามากขึ้น และยิ่งจำนวนกล่องเยอะก็แปลว่ายิ่งขาดทุนมาก

การอัดหุ้นเพิ่มยิ่ง “มาก” และ “เร็ว” เท่าไหร่ก็ยิ่งตายอนาถเท่านั้น… จริงอยู่เราอาจขายหุ้นล็อตหลัง (ที่มีจำนวนมาก) ในจังหวะที่ราคาหุ้นเด้งขึ้น เพื่อทำกำไรสั้นๆ เอามาหักลบกับผลขาดทุนรวม แต่หากภาพรวมของหุ้นเป็น “ขาลง” เบ็ดเสร็จแล้วโอกาสเจ๊งมีมากกว่าเจ๊า

โดยส่วนตัวผมขอแนะนำว่า “ซื้อได้ถ้าเห็นว่าดี แต่อย่าซื้อเพื่อเฉลี่ยต้นทุน”

1 thought on “เรขาคณิตของการเจ๊งหุ้น

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s