บัฟเฟตต์เป่าแตร “ถูก” หรือ “ผิด” อยู่ที่เรา

200px-Warren_Buffett_KU_Visit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

คุณสมบัติประการหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน คือการ “คิดอย่างเป็นตัวเอง”

พูดง่ายนะครับ แต่ทำยากมากเลย การจะคิดอะไรให้เป็นตัวเอง ไม่ตามกระแส โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมันทะลักล้นถาโถมเข้าใส่ชีวิตเราอย่างทุกวันนี้

ข้อมูลที่หลั่งไหลพรั่งพรูกันเข้ามา มันก็เหมือนพายุน่ะครับ เราต้องสร้าง “แรงต้าน” ให้มากขึ้น เพื่อที่จะไม่ถูกพัดพาไปกับมัน

บางคนไม่ยอมทำตามกระแสสังคม เลยถูกมองว่าเป็น Contrarian หรือที่คนในวงการลงทุนไทยเรียกกันขำๆ ว่า “ชาวสวน”

แต่น่าแปลกนะครับ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกหลายคน ล้วนเป็น “ชาวสวน” กันทั้งนั้น คือกล้าคิดต่างทำต่างจากคนหมู่มากในตลาดหุ้น

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยได้รับบทเรียนบางอย่างตั้งแต่เล็ก ซึ่งทำให้เขากลายเป็น “ชาวสวนตัวพ่อ” และเลือกแนวทางการลงทุนที่ “สวนทาง” กับวอลล์สตรีทมาตลอดชีวิต

มีเรื่องหนึ่ง ผมชอบมากๆ อ่านเจอใน “Snowball” หนังสือชีวประวัติของบัฟเฟตต์ เรื่องมีอยู่ว่า…

สมัยยังเป็นเด็ก มีอยู่ช่วงหนึ่ง บัฟเฟตต์ชอบเป่าแตร “ทรัมเป็ต” มาก หลังจากฝึกฝนอยู่หลายเดือน เขาก็ได้รับคัดเลือกให้ไปเป่าทรัมเป็ตในงานวันทหารผ่านศึกของโรงเรียน ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำกันมาทุกปี

การเป่าแตรในงานนี้แทบไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรมาก แค่ให้นักทรัมเป็ตทุกคนยืนเรียงแถวกัน คนแรกเป่า “ดัม ดา ดัม” แล้วคนต่อไปก็เป่าไล่เสียงกันขึ้นไปเรื่อยๆ ตามคีย์

ครั้นถึงวันงาน วอร์เรนยืนอยู่เป็นคนที่สองของแถว แต่แล้ว เจ้าเด็กคนแรกกลับเป่า “ผิดคีย์” ขึ้นมา จาก “ดัม ดา ดัม” กลายเป็น “ดัม ดา ดั๊ม”

วินาทีนั้น เจ้าหนูวอร์เรนถึงกับเหงื่อแตกพลั่ก ยืนนิ่งอึ้ง ทำอะไรไม่ถูก เขาลังเลว่าเขาควรจะเป่าไล่เสียงต่อจากคนแรก พูดง่ายๆ คือ “เล่นตามน้ำ” ซึ่งจะทำให้นักทรัมเป็ตคนต่อๆ ไปเล่นเพี้ยนกันไปเรื่อยๆ หรือควรจะเป่าให้ถูกต้องตามคีย์ ซึ่งจะทำให้เจ้านักทรัมเป็ตคนแรกต้องเสียหน้า เพราะผู้ชมทุกคนจะรู้ทันทีว่าหมอนั่นเล่นผิด!

น่าเสียดายที่บัฟเฟตต์เองก็จำไม่ได้ว่าตอนนั้นเขาตัดสินใจอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตของเขา มันทำให้บัฟเฟตต์ได้เรียนรู้ว่า การเอาแต่ทำตามคนอื่นอาจเป็นเรื่องง่าย หากคนเหล่านั้นทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าพวกเขาทำผิดขึ้นมาเมื่อไร ชีวิตเราจะยุ่งยากขึ้นมาทันที

ครั้นเติบใหญ่ขึ้น บัฟเฟตต์ได้เอาบทเรียนจากการเป่าแตรมาใช้ในการลงทุน เขาบอกว่า เขาเลือกที่จะเล่น “ทุกๆ คีย์ในชีวิต” ให้ถูกต้อง แม้บางครั้งจะไม่สอดคล้อง ไม่เป็นไปในทำนองเพลงเดียวกับคนหมู่มาก แต่นั่นก็ทำให้เขาเอาตัวรอดจากวิกฤตได้ทุกครั้ง และกลายเป็นนักลงทุนที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

ในบรรดา “วรรคทอง” ของบัฟเฟตต์ ไม่มีวรรคไหนที่ผมจะชอบมากไปกว่าวรรคต่อไปนี้

“คุณไม่ได้ถูกหรือผิด เพราะคนอื่นเห็นด้วยกับคุณ ถ้าคุณจะถูกก็เพราะข้อเท็จจริงของคุณนั้นถูกต้อง และเหตุผลของคุณนั้นถูกต้อง สิ่งเดียวนี้เท่านั้นที่จะทำให้คุณเป็นฝ่ายถูก หากข้อเท็จจริงและเหตุผลของคุณถูกต้องแล้ว คุณก็ไม่ต้องไปสนใจเลยว่าใครจะคิดอย่างไร”

บัฟเฟตต์ยึดหลักว่า คนเราต้องมี “ใบคะแนนในใจ” (Inner Scorecard) ไว้เสมอ เราต้องให้คะแนนตัวเอง อย่ารอให้คนอื่นมาให้คะแนนเรา มิเช่นนั้น ตัวเราคงได้แต่ทำตามกระแสสังคมไปเรื่อยๆ ไม่มีวันประสบความสำเร็จเป็นแน่แท้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “ชีวิต” หรือ “การลงทุน” เราควรยืนหยัดในสิ่งที่คิดพิจารณาแล้วว่าถูกต้อง พึงยึดมั่นในหลักการของตัว อย่าหวั่นไหวไปตามกระแส อย่าให้ความคิดของคนหมู่มากมีอิทธิพลเหนือหลักเหตุผลของเรา

จำเรื่อง “บัฟเฟตต์เป่าแตร” ไว้ให้ขึ้นใจ “ถูก” หรือ “ผิด” ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่ตัวเราเท่านั้นครับ!!

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s