เมื่อบัฟเฟตต์ลงทุนในสิ่งที่ไม่ถนัด

200px-Warren_Buffett_KU_Visit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เราทราบกันมาตลอดว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ สอนให้ลงทุนในสิ่่งที่ถนัด หรือ Circle of Competence แปลเป็นไทยคือ “ขอบข่ายแห่งความชำนาญ”

ใน จดหมายถึงผู้ถือหุ้นปีล่าสุดนี้ บัฟเฟตต์ให้คำสอนที่ออกจะยืดหยุ่นมากขึ้น กล่าวคือ คุณจะลงทุนในสิ่งที่ไม่ถนัดก็ได้ แต่ต้องเลือก “a course certain to work reasonably well”

แปลเป็นไทยคือ… “วิถีทางที่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะได้ผลดีพอควร”

ปู่ยกตัวอย่างการซื้ออสังหาริมทรัพย์สองครั้งของแก ครั้งแรกคือ “ไร่” เนื้อที่ 400 เอเคอร์ อยู่ไม่ไกลจากโอมาฮา ทั้งๆ ที่แกไม่รู้เรื่องการเกษตรเลย แต่โฮเวิร์ด ลูกชายของแกเก่งเรื่องนี้มาก

ปู่คำนวณแล้ว ผลตอบแทนจากไร่แห่งนี้น่าจะอยู่ที่ 10% ต่อปี และมีโอกาสเติบโตอีกมาก ด้วยความเสี่ยงน้อยสุดๆ

ผ่านมา 28 ปี ไร่ของปู่สร้างกำไรเพิ่มขึ้นสามเท่า และมูลค่าสูงขึ้นห้าเท่าจากตอนที่ซื้อ โดยปู่บัฟฟ์เพิ่งแวะไปที่ไร่มาเป็นครั้งที่สองเท่านั้นเองในรอบ 28 ปี

หากเทียบกับการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ผลตอบแทนอาจจะถือว่ากระจิ๊ดริด แต่บัฟเฟตต์ก็พอใจ เพราะเป็นสิ่งที่แกแทบไม่รู้อะไรเลย และไม่เคยต้องไปดูแลด้วย ต่างจากบริษัทในเครือเบิร์คเชียร์ที่ปู่เกาะติดตลอด เพราะเป็นสิ่งที่แกทั้ง “รู้” และ “รัก”

แล้วปู่ก็ยกตัวอย่างการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของแกอีกครั้งหนึ่ง

บัฟเฟตต์เล่าว่า ในปี 1993 ตอนที่แกเป็น CEO ของซาโลมอนบราเธอร์ส ตอนนั้นฟองสบู่อสังหาฯ เพิ่งแตก และมีสถาบันการเงินเอาอสังหาฯ ดีๆ มาปล่อยขายในราคาถูกเป็นจำนวนมาก

ในเวลานั้น มี landlord คนหนึ่งชื่อ ลาร์รี่ ทำงานอยู่ที่ซาโลมอน ลาร์รี่บอกบัฟเฟตต์ว่ามีอาคารแห่งหนึ่งประกาศขาย อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นอาคารที่บริหารพื้นที่ให้เช่า มีผู้เช่าเป็นร้านค้าต่างๆ (นึกถึง U Center ที่ติดกับจุฬาฯ นะครับ)

ปู่จึงใช้การวิเคราะห์ง่ายๆ ตามประสาคนไม่เก่งอสังหาฯ ว่า ผลตอบแทนจากอาคารดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี แต่มีแนวโน้มว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น เพราะยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่

นอกจากนี้ ณ เวลานั้น ผู้เช่ารายใหญ่ที่สุดซึ่งเช่าพื้นที่ถึง 20% ของทั้งอาคาร จ่ายค่าเช่าแค่ 5 เหรียญต่อตารางฟุต ขณะที่ผู้เช่ารายอื่นๆ จ่ายค่าเช่าสูงถึงเฉลี่ย 70 เหรียญต่อตารางฟุต และอีกเพียงเก้าปี สัญญาเช่าเดิมก็จะหมดลง

ดังนั้น อาคารนี้ย่อมจะทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกมากเมื่อมีการปรับค่าเช่าใหม่แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ มหาวิทยาลัยนิวยอร์กคงไม่หนีไปไหนแน่นอน!! (เหมือนจุฬาฯ ที่คงไม่ย้ายไปไหนง่ายๆ)

เมื่อคิดคำนวณดีแล้ว ปู่จึงร่วมกับเพื่อนอีกสองคนเข้าไปซื้ออาคารแห่งนี้ โดยเพื่อนคนหนึ่งคือ เฟรด โรส เป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์มือทอง ได้อาสาจะเป็นผู้บริหารอาคารแห่งนี้ให้ด้วย

ผลสุดท้าย เมื่อสัญญาเช่าเดิมหมดลง รายได้ของอาคารแห่งนี้ก็เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า โดยเงินส่วนแบ่งต่อปีที่ปู่และเพื่อนๆ เอามาแบ่งกัน สูงกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นถึง 35%

ยิ่งไปกว่านั้น ปู่และเพื่อนๆ ยังเอาเงินกู้ก้อนเดิมไปรีไฟแนนซ์ ทำให้ได้เงินมาแบ่งกันนอกรอบอีกหลายครั้ง รวมๆ แล้วเป็นจำนวนถึง 150% ของเงินลงทุนเริ่มต้น (ไม่นับส่วนแบ่งต่อปีที่ได้อยู่แล้วทุกปี)

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้เราจะไม่ค่อยมีความรู้ในการลงทุนบางอย่าง ก็ใช่ว่าจะลงทุนในสิ่งนั้นๆ ไม่ได้เลย ขอเพียงคำนวณผลตอบแทนเป็น และพอมองภาพกว้างๆ ได้

ที่สำคัญคือ ปู่เตือนว่า อย่า “Swing for the fence” (เป็นศัพท์ที่แกใช้บ่อยมาก) คือ “อย่าหวังผลเลิศ” ถ้าเป็นนักเบสบอลก็อย่าหวังจะตีได้โฮมรัน เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด ดังนั้น แค่ทำอะไรให้ง่ายๆ เข้าไว้ก็พอแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งปู่ไม่ได้เน้น แต่ผมคิดว่ามันคือองค์ประกอบสำคัญสำหรับการลงทุนใน “สิ่งที่ไม่ถนัด”

นั่นก็คือ การมี “ผู้เชี่ยวชาญ” คอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ

ตอนซื้อไร่ในโอมาฮา ปู่มี “โฮเวิร์ด” ลูกชายคอยให้คำแนะนำ ตอนซื้ออาคารติดกับ ม.นิวยอร์ก ปู่มี เฟรด ช่วยให้คำปรึกษาและรับบริหารตึกให้ หากไม่มีสองคนนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองครั้งคงไม่เกิดขึ้น

การ “รู้จักใช้คน” เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อะไรที่เราไม่ถนัด แต่มองแล้วว่าน่าลงทุน ก็ต้องหาคนเก่งๆ มาช่วยทำแทน

ย้ำอีกครั้งนะครับ หนึ่ง “อย่าหวังผลเลิศ” สอง “ทำอะไรให้ง่ายๆ” และสาม “หาคนเก่งๆ มาช่วยบริหารจัดการ”แค่นี้ก็มีโอกาสทำกำไรงามๆ ได้แล้วครับ

 

1 thought on “เมื่อบัฟเฟตต์ลงทุนในสิ่งที่ไม่ถนัด

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s