โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช และ ชนิดา พัธโนทัย
ในตอนที่แล้วได้พูดถึง “รายได้” “กำไรสุทธิ” และตัวเลขที่เป็น Key Driver ของ BGH อย่าง “จำนวนผู้ป่วยใน-นอก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของ “อัตราการครองเตียง” กันไปแล้ว (ท่านใดยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 คลิกที่นี่)
จุดเน้นหลักในตอนที่ 2 นี้ คือเรื่องของ “ความสามารถในการทำกำไร” โดยขอแนะนำให้ดูตารางที่ทีมงานเราทำขึ้นมาประกอบไปด้วยนะครับ จะได้ไม่งง
ตารางสรุป “อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร” ของ BGH
ไตรมาส 1 ปี 57 | ไตรมาส 1 ปี 56 | ไตรมาส 4 ปี 56 | ทั้งปี 2556 | |
อัตรากำไรขั้นต้น | 36.8% | 36% | 31.1% | 34.8% |
EBITDA margin | 24.7% | 24.7% | 20.6% | 21.3% |
อัตรากำไรสุทธิ | 14.8% | 15.7% | 10.6% | 11.9% |
เริ่มจากบรรทัดแรก คือ “อัตรากำไรขั้นต้น” หรือ Gross Profit Margin ในไตรมาส 1 ปี 2557 GPM ของ BGH อยู่ที่ 36.8% ดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 36% เล็กน้อย
ยิ่งถ้าย้อนไปดูงบปี 56 เต็มปี ซึ่ง GPM ของบริษัทลดจากปี 55 ประมาณ 2% มาอยู่ที่ 34.8% แสดงให้เห็นว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 57 อัตรากำไรขั้นต้นของ BGH ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อันเป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุน ที่ช่วยให้ Pick up กำไรกลับมาได้ ตรงจุดนี้ ต้องคอยติดตามในไตรมาสต่อๆ ไปว่าจะทำได้ต่อเนื่องหรือไม่
บรรทัดต่อมา เรามาดู EBITDA หรือ “กำไรจากการดำเนินงานที่เป็นเงินสด” กันบ้าง
(BGH มีสินทรัพย์เยอะมาก หากดูเฉพาะ EBIT จะมีเรื่องของค่าเสื่อมราคาก้อนโตเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่เห็นภาพที่แท้จริง จึงขอข้ามมาดู EBITDA เลย)
EBITDA ของ BGH ในไตรมาส 1 ปี 57 อยู่ที่ 3,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 3,076 ล้านบาท เกือบ 400 ล้านบาท หรือประมาณ 13% และสอดคล้องกับกับอัตราการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น 12%
[ภาพ “บันไดสามขั้น” ของกำไร โดย Club VI]
แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือบริษัทสามารถดึง EBITDA Margin ให้เพิ่มกลับมาอยู่ที่ 24.7% เท่ากันพอดีกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และดีกว่าของปี 56 ทั้งปี ซึ่งอยู่ที่ 21.3% อันเป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดีอีกเช่นกัน (แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า Economies of Scale เพิ่มขึ้นขนาดไหนอย่างไร)
สำหรับ บรรทัดสุดท้าย คือ “กำไรสุทธิ” ดังได้เล่าไปในตอนที่แล้วว่า กำไรสุทธิที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น 7% YOY ซึ่งผมมองว่าออกจะน้อยไปสักนิด
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของ “อัตรากำไรสุทธิ” (Net Profit Margin) กลับลดลงจากเดิม 15.7% เมื่อไตรมาส 1 ปีก่อน เหลือ 14.8% ใน Q1 ปีนี้ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากค่าเสื่อมราคาของโรงพยาบาลเครือข่ายแห่งใหม่ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 1% ของรายได้นั่นเอง
ทว่าการลดลงตรงนี้ หลักๆ แล้วไม่ได้เกิดจาก “ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด” และไม่ได้เป็นผลกระทบจากตัวธุรกิจแต่อย่างใด จึงไม่มีอะไรต้องห่วงมากนัก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทเพิ่งทำ Interest Rate Swap ของหุ้นกู้ล็อตหนึ่ง (เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการจ่ายดอกเบี้ยใหม่ คล้ายๆ รีไฟแนนซ์) ทำให้สามารถประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ 60 ล้านบาท โดยคิดเป็นดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ในปี 57 จำนวน 45 ล้านบาท และปี 58 อีก 15 ล้านบาท ซึ่งอาจจะช่วยให้อัตรากำไรสุทธิในงวดต่อๆ ไปเขยิบขึ้นได้
โดยสรุป เมื่อดูจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บวกกับเรื่องของการเมืองภายในประเทศ ผลการดำเนินงานของ BGH ใน Q1 ถือว่า “สอบผ่าน” สบายๆ
และเมื่อดูย่างก้าวในการเติบโต ประกอบกับความสามารถในการระดมทุนของบริษัท เชื่อว่า BGH จะยังคงอยู่บนเส้นทางของการเติบโตต่อไป
…. และต่อไปอีกนาน
และนั่นก็คือทั้งหมดของ รีวิวงบ BGH ไตรมาส 1 ในโอกาสหน้า เราจะพูดถึง “กุญแจดอกสำคัญ” ที่ทำให้ BGH เติบโตก้าวกระโดดจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือเรื่องของการ “จัดหาเงินทุน” เพื่อขยายกิจการ การบริหารสภาพคล่อง ตลอดจนภาพรวมของ “โครงสร้างทางการเงิน” (Capital Structure) แห่งเครือโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่แห่งนี้
ถ้าสนใจโปรดติดตามครับ
——————————-
ภาพประกอบ:
ภาพโลโก้ รพ.กรุงเทพ และภาพหมอเบิร์ด จากเว็บไซต์ รพ.กรุงเทพ
ภาพบันไดสามขั้น ของ Club VI