รีวิว CPN : การจัดหาเงินทุน

cpn-logo

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช และ ชนิดา พัธโนทัย

ตอนที่แล้วได้พูดถึงผลประกอบการของ CPN ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 กันไปแล้ว (อ่านรีวิว CPN ตอนที่แล้ว คลิกที่นี่ตอนนี้จะมาว่ากันต่อ ถึงสิ่งที่เป็น “จุดแข็ง” ของ CPN และทำให้บริษัทเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือเรื่องของ “การจัดหาเงินทุน” นะครับ

ก่อนอื่น มาดูกันว่า ที่ CPN ต้องใช้เงินลงทุนก้อนโตนั้น จะเอาไปทำอะไรบ้าง (เงินลงทุนตรงนี้ ศัพท์ทางการเงินเรียกว่า  “Capital Expenditure”)

ผู้บริหารของ CPN บอกว่า บริษัทมีแผนจะเปิดศูนย์การค้าใหม่ทุกปี ปีละ 3-4 แห่ง โดยในปี 2556 เปิดไปแล้วสามศูนย์ฯ คือ เซ็นทรัลอุบลราชธานี เชียงใหม่ และ หาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนไป 11,745 ล้านบาท และเมื่อต้นปี 57 เดือน มี.ค. ก็เพิ่งเปิด เซ็นทรัล สมุย ในรูปแบบของ Resort Mall ไปเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ CPN ยังเตรียมจะไปเปิดโครงการในประเทศ AEC เริ่มต้นจากมาเลเซีย โดยผู้บริหารบอกว่าตลาดมาเลย์โตเร็วกว่าไทยถึง 2 เท่า อีกทั้งยังไม่มี “ผู้นำ” ในธุรกิจห้างสรรพสินค้า จึงถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

cpn-meeting

ต่อมา มาดูกันว่า บริษัทจะเอาเงินลงทุนมาจากไหน

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา ผู้บริหารบอกว่า บริษัทต้องใช้งบลงทุนอีกประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีนับจากนี้ คือปี 2014-2016 โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจาก “เงินสดจากการดำเนินงาน” ของบริษัทเอง

ด้วยความที่สินทรัพย์หลักของ CPN คือ “อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน” และ “สิทธิการเช่า” (ในส่วนของสิทธิการเช่า หมายถึง สาขาที่บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของตัวอาคาร เพราะไปสร้างอาคารบนที่ดินที่เช่ามา ได้แก่ สองสาขาหลัก คือ เซ็นทรัลลาดพร้าว และ เซ็นทรัลเวิลด์)

ด้วยเหตุนี้ ต้นทุนหลักของบริษัทจึงเป็น “ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย” (ซึ่งส่วนใหญ่ CPN จะตัดค่าเสื่อมฯ ประมาณ 20-40 ปี) และยังมีต้นทุนอย่างอื่นอีก อาทิ ค่าเช่าที่ดิน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าซ่อมแซมต่างๆ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม อยากเน้นให้เห็นว่า ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ถือเป็น “ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด” ดังนั้น ถ้าอยากรู้ตัวเลข “กำไรจากการดำเนินงาน” ที่อยู่ในรูป “เงินสด” จริงๆ ก็ต้องเอาค่าเสื่อมราคาบวกกลับเข้าไป จึงจะได้ตัวเลขที่เรียกว่า “EBITDA” ซึ่งจะทำให้เห็นถึง “สภาพคล่อง” ที่แท้จริง

ซึ่งเมื่อดูจากงบการเงินปีล่าสุด ปรากฏว่า CPN มีกำไรในรูปเงินสดถึงประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท!!

จะเห็นได้ว่า ด้วยเงินสดจากการดำเนินงานปีละ 10,000 ล้านบาท CPN คงไม่มีปัญหาเงินทุนขาดมือ เพราะลำพังเงินสดที่ไหลเข้ามาแต่ละปีก็มากกว่าครึ่งหนึ่งของงบลงทุนรายปีไปเยอะแล้ว

แต่สำหรับเงินลงทุน “ในส่วนที่เกินกว่า” เงินสดจากการดำเนินงาน บริษัทก็จะระดมทุนเพิ่ม โดยการ “ออกหุ้นกู้” รวมทั้งใช้การ “กู้เงิน” (ที่อยู่ในรูป Project Finance) ร่วมด้วย

the groove

ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ต้นทุนทางการเงินของ CPN (ซึ่งก็คือ ดอกเบี้ยจ่าย) อยู่ที่ประมาณ 4.3-4.4% ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก อาจจะด้วยเครดิตของบริษัท

อีกทั้งเมื่อพิจารณาความสามารถในการกู้ยืมเงิน จะพบว่ายังมี room ในการกู้เพิ่มเติมอีกเหลือเฟือ เพราะ Net D/E หรือ “หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” อยู่ที่ “0.49 เท่า” เท่านั้น (ลดจาก 0.82 เท่า เพราะได้รับเงินสดเข้ามาเยอะ หลังเพิ่งขายสินทรัพย์เข้ากองทุน)

และล่าสุด ในปี 2556 ที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) โดยได้รับเงินสดเข้ามาประมาณ 6,500 ล้านบาท เพื่อมาช่วยรองรับแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ CPN ยังมีอีกหนึ่งวิธีสุดท้ายในการระดมทุน นั่นคือการ “ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งถือว่า “เวิร์ค” มากๆ

ที่ได้ทำไปแล้ว คือกองทุน CPNRF และ CPNCG อันเป็น “ทางลัด” ช่วยให้บริษัทได้เงินสดก้อนโตเข้ามาทันที และในทางบัญชี ยังจะมีกำไรก้อนโตปรากฏเข้ามาในงบการเงินปีนั้นๆ อีกด้วย

โดยหลังจากขายสินทรัพย์เข้ากองทุนไปเรียบร้อย บริษัทสามารถเอาเงินนั้นไปลงทุนต่อเพื่อสร้างผลตอบแทน เปรียบเสมือนการรับรู้รายได้ล่วงหน้า แทนที่จะต้องบริหารสินทรัพย์เองและทยอยรับรู้รายได้ไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือภาพรวมของ CPN ในเรื่องของความสามารถในการ “จัดหาเงินทุน” อันถือเป็นรากฐานสำคัญแห่งการเติบโต ที่ทำให้บริษัท “มาไกล” ถึงขนาดนี้

เมื่อบวกกับ “ความเชี่ยวชาญ” ในการทำห้างสรรพสินค้า และ “ชื่อเสียง” ของกลุ่ม “เซ็นทรัล” เชื่อแน่ว่า CPN คงเติบโตไปได้อีกไกล และโตไปอีกนาน

———————————–

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s