BGH หาเงินลงทุนมาจากไหน

[ อยาก “อ่านงบการเงิน” และ “ประเมินมูลค่าหุ้น” แบบมืออาชีพ แนะนำคอร์สสัมมนา พื้นแน่น-แม่นงบ (VI 201) และ ประเมินมูลค่าหุ้น (VI 202) รุ่นที่ 3 โดย Club VI คลิกที่นี่ ]

bgh13-club

โดย ชนิดา พัธโนทัย และ ชัชวนันท์สันธิเดช

หลังจากได้เล่าถึง “กลยุทธ์ในการเติบโต” ของ BGH ไปเมื่อตอนที่แล้ว ในตอนนี้มาดูกันนะคะว่า BGH หาเงินจากไหนมาลงทุนได้ตั้งมากตั้งมาย

ก่อนอื่น ต้องทราบก่อนว่า บริษัทโดยทั่วไปสามารถหาเงินทุนได้จากสองแหล่งใหญ่ คือ 1) การกู้ยืมเงิน (ซึ่งมีทั้งกู้จากธนาคารกับการออกหุ้นกู้) และ 2) การเพิ่มทุน (โดยระดมทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท)

พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่ไปเอาเงินของคนอื่นมา (กู้มา) ก็ต้องใช้เงินของตัวเอง (เงินจากผู้ถือหุ้น)

ในส่วนของ BGH การจัดหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ขยายเครือข่ายโรงพยาบาล มาจาก “การกู้ยืม” เป็นหลัก ซึ่งบริษัทได้ทำทั้งการออก “หุ้นกู้” (Debenture) และการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน (Bank Loan) รวมถึงมีการกู้ยืมเงินระยะสั้นในรูปของ “เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร” (O/D หรือ Bank Overdraft) มาเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนชั่วคราวอีกด้วย

ทีมงาน Club VI ได้ทำตารางสรุปแหล่งเงินกู้ของ BGH ให้เข้าใจกันง่ายๆ โดยแบ่งตาม “เครื่องมือสามชนิด” ดังนี้ค่ะ

แหล่งเงินทุนจาก “การกู้ยืม”                                  หน่วย: ล้านบาท
ปี 2554 ปี 2555 ปี 2556 Q2 ปี 2557
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน (Bank overdraft & Short-term loan) 231 1,225 19 1,016
เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน (Long-term Loan) 7,764 9,448 8,564 11,191
หุ้นกู้ (Debenture) 8,461 9,064 14,059 11,091
รวม 16,457 19,737 22,642 23,298

จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่า BGH จัดหาเงินทุนจากการออกหุ้นกู้และกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในสัดส่วนที่พอๆ กันมาโดยตลอด ยกเว้นในปี 2556 ที่หันมาเน้นออกหุ้นกู้เป็นหลัก โดยมีการออกหุ้นกู้เพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท (เดี๋ยวจะอธิบายว่าเป็นเพราะเหตุใด) และหากต้องการเงินเร่งด่วนก็จะเบิกใช้จากวงเงิน O/D หรือเงินกู้ระยะสั้นนั่นเอง

bgh10-club

แน่นอนว่าแหล่งเงินกู้แต่ละแหล่งต่างก็มีต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างกันออกไป (ต้นทุนทางการเงินในที่นี้ ก็คือ “ดอกเบี้ยจ่าย” นั่นเอง) แหล่งที่กู้ยากสุด และใช้ระยะเวลานานที่สุดกว่าจะได้เงินกู้มา อัตราดอกเบี้ยจ่ายก็ย่อมจะต้อง “ต่ำกว่า” แหล่งที่กู้มาได้ง่ายที่สุด ได้เงินมาเร็วสุด

ซึ่งถ้าบริษัทไหนมีการวางแผนทางการเงินที่ดี มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน ก็จะรู้ว่าจำเป็นต้องใช้เงินในช่วงเวลาไหน เพื่อลงทุนอะไร !!

หากจะเรียงลำดับแหล่งเงินกู้ จากแหล่งที่ “ต้นทุนต่ำสุด” แต่ “กู้ยากที่สุด” ไปจนถึงแหล่งเงินกู้ที่ “ต้นทุนสูงสุด” แต่ “กู้ง่ายที่สุด” จะได้ออกมาดังนี้

1) หุ้นกู้ 2) เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 3) เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน (ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน) และ 4) เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร

bgh8

ทั้งนี้ เครื่องมือแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป เรามาดูกันทีละตัวนะคะ

เริ่มกันที่ “หุ้นกู้” โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะออกและเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนเหล่านั้นก็เปรียบเสมือนเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัทนั่นเอง

โดยอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้จะมีลักษณะเป็นอัตราคงที่ (Fixed rate) คือกำหนดไปเลยว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าไรต่อปี ทำให้บริษัทสามารถคาดการณ์ต้นทุนทางการเงินได้ง่าย อายุของหุ้นกู้ก็จะมีตั้งแต่ 3 ปี ไปจนถึง 10 ปี

มาดูกันว่า BGH มี “ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย” จาก “หุ้นกู้” ในระดับใดบ้าง

  อายุของหุ้นกู้
3 ปี 4ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี
อัตราดอกเบี้ยจ่าย 3.78%, 4.11% 3.99% 4.80 – 4.84% 5.35% 4.39 – 4.63%
ปีที่ออกหุ้นกู้ ปี 2554, 2551 ปี 2554 ปี 2551-2552 ปี 2552 ปี 2555 -2556

จากตารางจะเห็นได้ว่า หุ้นกู้ยิ่งอายุยาว อัตราดอกเบี้ยจ่ายก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย เปรียบเสมือนการที่เราไปกู้เงินใคร หากมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงกำหนดชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ต้องคิดดอกเบี้ยสูงเอาไว้ก่อนเพื่อเป็นการประกันความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไหนเครดิตดี ก็จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่มากนัก

สำหรับ BGH ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) อยู่ในระดับ A+ ซึ่งถือว่าดีทีเดียว บริษัทจึงจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้อยู่ที่ประมาณ 4-4.8% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงเลย

จะเห็นได้ว่านี่คือข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของบริษัท

bgh9

ที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ หุ้นกู้อายุ 10 ปีที่ออกในปี 2555-2556 มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้อายุ 5 ปี และ 7 ปี เสียอีก ทั้งนี้เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาดขณะนั้นอยู่ในระดับที่ไม่สูง BGH จึงถือโอกาสออกหุ้นกู้เพื่อ Fix อัตราดอกเบี้ยเอาไว้

นอกจากหุ้นกู้แล้ว BGH ยังมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ “เงินกู้ยืมระยะยาว” หรือ “เงินกู้ยืมระยะสั้น” โดยในส่วนของ “เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน” นั้น ส่วนใหญ่จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ 6 เดือน บวกด้วยอัตราคงที่ที่ระบุในสัญญา

หมายความว่า เงินกู้นี้มีลักษณะเป็น Float rate คือแปรเปลี่ยนไปตามอัตราเงินฝากประจำ 6 เดือน ซึ่งเมื่อลองคำนวณดูคร่าวๆ แล้ว อัตราดอกเบี้ยจ่ายก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ ถือว่าไม่แตกต่างกันมากนัก นี่คือเหตุผลที่ BGH ใช้การระดมทุนผ่านทางเลือกนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วน “เงินกู้ยืมระยะสั้น” ผ่านทางตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตั๋วแลกเงิน รวมทั้ง “เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร” นั้น จะมีระยะเวลาการจ่ายชำระค่อนข้างเร็ว คือ ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจ่ายก็จะอยู่ในระดับสูง ประมาณ 6-7% บริษัทจึงใช้เงินส่วนนี้เฉพาะกรณีชั่วคราวเท่านั้น

และล่าสุด บริษัทกำลังจะออก “หุ้นกู้แปลงสภาพ” อีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นเงินกู้ก้อนโตไม่ใช่เล่น แต่จะมีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้างนั้น เดี๋ยวตอนหน้าเรามาว่ากันต่อนะคะ

———————————

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s