โดย ชนิดา พัธโนทัย
ผลการดำเนินงานปี 2557 ของบริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศกันออกมาเยอะแล้ว ในตอนนี้ขอหยิบยกเอาธุรกิจสื่อสารมาพูดคุยกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และมีความน่าสนใจค่อนข้างมากค่ะ
เรามาเปรียบเทียบงบปี 57 ของ ADVANC กับ DTAC กันก่อนนะคะว่าเป็นอย่างไร (ส่วน TRUE ณ เวลาที่เขียนบทความนี้งบยังไม่ออก จึงต้องขอยกยอดไปตอนหน้า)
เริ่มกันที่ “รายได้หลัก” ของทั้งสองบริษัท ประกอบไปด้วย
(1) รายได้จากการให้บริการ แบ่งเป็น Voice (รายได้จากบริการเสียง) กับ Non-voice (รายได้จากการให้บริการข้อมูล) และ (2) รายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์
ถ้าพิจารณาจาก “รายได้หลัก” ADVANC มีรายได้หลักเพิ่มขึ้น 1.3% (ปี 2557 = 148,729 ล้านบาท, ปี 2556 = 146,811 ล้านบาท) ในขณะที่ DTAC มีรายได้หลักลดลง 4.6% (ปี 2557 = 90,136 ล้านบาท, ปี 2556 = 94,457 ล้านบาท)
เห็นได้ชัดเจนจากจำนวนผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการของ ADVANC เพิ่มขึ้นจาก 40.86 ล้าน ในปี 2556 เป็น 44.3 ล้าน ในปี 2557 หรือเพิ่ม 8.2% ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการของ DTAC เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 27.94 ล้าน ในปี 2556 เป็น 28ล้าน ในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 0.24%
ยิ่งถ้าเข้าไปดูละเอียดมากขึ้นจะเห็นว่า ในปี 2557 ADVANC มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น “ทุกไตรมาส” ในขณะที่ DTAC กลับออกอาการ “สะดุด” คือยอดผู้ใช้บริการลดลงในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2557ตามตารางที่แสดงด้านล่างนี้
จำนวนผู้ใช้บริการของ ADVANC และ DTAC
ADVANC | Q4/2556 | Q1/2557 | Q2/2557 | Q3/2557 | Q4/2557 |
จน.ผู้ใช้ (ล้านเลขหมาย) | 40.86 | 42.36 | 42.88 | 43.80 | 44.30 |
% เพิ่มขึ้น | 3.7% | 1.2% | 2.1% | 1.2% |
DTAC | Q4/2556 | Q1/2557 | Q2/2557 | Q3/2557 | Q4/2557 |
จน.ผู้ใช้ (ล้านเลขหมาย) | 27.94 | 28.23 | 28.04 | 27.78 | 28.01 |
% เพิ่มขึ้น(ลดลง) | 1.0% | (0.7%) | (0.9%) | 0.8% |
ในขณะที่ DTAC มีการเติบโตของ Non-voice เพิ่มขึ้น 23% แต่ Voice ก็ลดลง 16% เช่นกัน ทว่าเนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการของ DTAC ลดลง จึงทำให้รายได้หลักของ DTAC ลดลงด้วย ดังจะเห็นได้ในตารางด้านบนค่ะรายได้จากการให้บริการของ ADVANC เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากธุรกิจ Non-voice ที่เติบโตขึ้น 34% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจ Voice ลดลงอีก 14% โดยในปี 2557 บริษัทได้มีการขยายโครงข่าย 3G-2.1GHz ให้ครอบคลุม 97% ของประชากร และมีจำนวนสถานีฐาน 3G มากที่สุดในประเทศ ทำให้จำนวนลูกค้าบนใบอนุญาตนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากใบอนุญาต 2.1GHz เติบโตขึ้นเป็น 78% ของรายได้รวม
ต่อไป มาดู “กำไรขั้นต้น” กันบ้าง
กำไรขั้นต้นของ ADVANC และ DTAC
ADVANC | ปี 2556 | ปี 2557 |
กำไรขั้นต้น (ลบ.) | 61,641.66 | 65,780.78 |
อัตรากำไรขั้นต้น (% Gross Profit Margin) | 40.9% | 44% |
DTAC | ปี 2556 | ปี 2557 |
กำไรขั้นต้น (ลบ.) | 30,023.14 | 29,027.82 |
อัตรากำไรขั้นต้น (% Gross Profit Margin) | 31.7% | 32.1% |
จากตารางจะเห็นได้ว่า ADVANC มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 2556 และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 44% ในปี 2557 สูงขึ้นจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 40.9% อันเป็นผลมาจากต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลง จากการที่สามารถ Upgrade ลูกค้าให้มาใช้บริการ 3G มากขึ้นนั่นเอง (ระบบ 3G อยู่บนใบอนุญาตที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียมลดลงกว่าแต่ก่อนมาก)
ขณะที่ DTAC กำไรขั้นต้นปี 2557 ลดลง 3.3% จากปี 2556 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 32.1% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 31.7% การที่กำไรขั้นต้นลดลงนั้นก็มาจากรายได้หลักที่ลดลงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม DTAC ยังมีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากเหตุผลเดียวกับ ADVANC คือลูกค้าย้ายมาใช้ 3G มากขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ลดลงเช่นกัน
[ข้อควรรู้: ต้นทุนหลักของธุรกิจสื่อสารคือ “ต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้” คิดเป็นประมาณ 34-37% ของต้นทุนรวม และ “ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย” คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 33-36% ของต้นทุนรวม]
มาดูกำไรขั้นต่อไป ซึ่งมีความสำคัญและใช้ในการพิจารณาความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ICT ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือกำไรที่เรียกว่า “EBITDA” (กำไรจากการดำเนินงานที่อยู่ในรูปของเงินสด)
เนื่องจากธุรกิจของ ADVANC และ DTAC มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่มีจำนวนสูงมาก (ADVANC ประมาณ 19,000 กว่าล้านบาท และ DTAC ประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท) โดยที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้บริษัทไม่ได้จ่ายเงินสดออกไปจริง เป็นเพียงค่าใช้จ่ายทางบัญชีเท่านั้น เวลานักลงทุนต้องการดูกำไรที่เป็นเงินสดจริงๆ ของธุรกิจสื่อสาร จึงต้องดูที่ EBITDA มากกว่า EBIT (ท่านที่ยังไม่เข้าใจเรื่อง EBITDA หรืออยากทบทวน ย้อนไปอ่านบทความเก่าของเราได้ ที่นี่)
EBITDA ของ ADVANC และ DTAC
ADVANC | ปี 2556 | ปี 2557 |
EBITDA (ลบ.) | 63,691.00 | 66,428.00 |
% EBITDA Margin | 43.40% | 44.70% |
DTAC | ปี 2556 | ปี 2557 |
EBITDA (ลบ.) | 30,047 | 31,069.00 |
% EBITDA Margin | 31.76% | 34.36% |
จากตารางจะเห็นได้ว่า ADVANC มี EBITDA เพิ่มขึ้น 2,737 ล้านบาท หรือประมาณ 4.3% ในขณะที่ DTAC มี EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,022 ล้านบาท หรือประมาณ 3.4% ในขณะที่ EBITDA margin ของทั้งสองบริษัทต่างก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดย ADVANC มี margin เพิ่มขึ้น 1.3% ในขณะที่ DTAC margin เพิ่มขึ้นถึง 2.6%
ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อดูกำไรที่ไม่ได้หักค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้องถือว่า DTAC ทำ margin ได้ดี ไม่ได้เลวร้ายมากนัก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่า รายได้ของ DTAC ยังโตไม่ทันต้นทุนค่าสัมปทานและใบอนุญาตที่ไปประมูลมานั่นเอง
อ่านถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพแล้วนะคะว่า “เบอร์ 1” กับ “เบอร์ 2” แตกต่างกันแค่ไหนอย่างไร เดี๋ยวรองบของ “เบอร์ 3” ออก เราจะมา Review กันบ้าง รับรองว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และไม่แน่ว่าในอนาคต อันดับ 1, 2, 3 ที่เราคุ้นเคย อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วก็ได้
รอติดตามตอนต่อไปค่ะ
ขอบคุณครับ ….การอ่านงบฯได้ลักษณะอย่างนี้ มีสอนในคอร์ส VI 201: พื้นแน่น แม่นงบ ใช่มั๊ยครับ … พอดีผมลงเรียนคอร์สนี้ไว้ครับ^^
ใช่แล้วครับ ได้เรียนแน่นอน แล้วพบกันครับ
Reblogged this on Noo2555's Blog.