วอร์เรน บัฟเฟตต์ ฉวยโอกาสอย่างไร ในเวลาที่ “หุ้นแบงก์” ราคาถูก

euro-870757_960_720

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ช่วงนี้หุ้นธนาคารไทยราคาต่ำลงมามาก มาเรียนรู้บทเรียนจากการลงทุนในหุ้นธนาคารของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กันดีกว่านะครับ

ปกติแล้ว บัฟเฟตต์ไม่นิยมหุ้นธนาคารเอาเสียเลย (เช่นเดียวกับ ดร นิเวศน์ ของเมืองไทย แต่ที่เหมือนกันคือทั้งสองคนต่างก็มีหุ้นแบงก์) ปู่บอกว่า ในเวลาที่สินทรัพย์สูงกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น 20 เท่า* ซึ่งเป็นค่าปกติของเซคเตอร์แบงก์เวลานั้น หากธนาคารบริหารผิดพลาดเพียงเล็กน้อย จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอย่างรุนแรง

(*การเอาสินทรัพย์เทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า asset to equity ratio เราสามารถคิดเองได้ง่ายๆ เพียงเปิดใน settrade. com แล้วเอามาหารกัน ถ้าค่านี้สูง อาจแปลความ (อย่างหยาบๆ) ได้ว่าบริษัทนี้กู้เงินมามาก โดยปกติแล้ว ธุรกิจอื่นๆ มักดูค่า “หนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือ debt to equity เป็นหลัก แต่เซคเตอร์แบงก์ d/e จะสูงมากด้วยธรรมชาติของธุรกิจ จึงต้องดูค่า a/e ประกอบด้วย)

ทั้งนี้ ความผิดพลาดส่วนใหญ่ของธุรกิจธนาคาร มักเกิดจากการที่ผู้บริหารของแบงก์ต่างๆ ชอบปล่อยกู้ตามๆ กัน แบงก์อื่นปล่อย เราก็ต้องปล่อยบ้าง ไม่ว่ามันจะงี่เง่าและไม่สมควรขนาดไหน พฤติกรรมเหมือนกับหนูเลมมิ่งที่แห่กันไปโดดน้ำตายยังไงยังงั้น (ลองนึกถึงที่ธนาคารใหญ่ๆ ของไทยปล่อยกู้ให้ SSI จะเห็นได้ว่าเหมือนกันมากๆ)

เนื่องจากเรื่องของการบริหารมีความสำคัญยิ่ง ปู่จึงไม่เคยสนใจซื้อหุ้นธนาคารที่ “บริหารไม่ดี” แต่ “ราคาถูก” โดยจะซื้อเฉพาะธนาคารที่ “บริหารดี” ใน “ราคายุติธรรม” ​เท่านั้น

นี่คือเหตุผลของการเข้าซื้อหุ้น เวลส์ ฟาร์โก้ ธนาคารยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีผู้บริหารที่ยอดเยี่ยม โดยพวกเขายึดมั่นอยู่กับสิ่งที่รู้ และไม่ทำตามแบงก์อื่น

12249651_1057991477586212_3387239749019485759_n.jpg

เบิร์คเชียร์ซื้อหุ้น เวลส์ ฟาร์โก้ ครั้งแรกในปี 1989 แต่แล้ว พอถึงปี 1990 ราคาหุ้นกลับร่วงลงถึง 50% ในเวลาไม่กี่เดือน

ปู่เล่าว่า ตอนนั้น ธนาคารดังๆ ต่างขาดทุนกันเป็นทิวแถว จากการปล่อยกู้โง่ๆ (ปู่ใช้คำว่า foolish) โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่กลายเป็นหนี้เสียมโหฬาร ส่งผลให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่น และมองธุรกิจแบงก์ทั้งหมดเป็นลบ จึงพากันขายหุ้นทิ้งแล้วหนีไปหาเซคเตอร์อื่น

แต่สำหรับปู่ นอกจากจะไม่ “ใจเสีย” แล้ว ยังซื้อหุ้นเพิ่มเยอะมาก โดยราคาที่เบิร์คเชียร์เก็บหุ้นเวลส์ ฟาร์โก้ ในปี 1990 อยู่ที่ p/e เพียง “5 เท่า” เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ และเพียง “3 เท่า” เมื่อเทียบกับกำไรก่อนหักภาษี เรียกได้ว่า ถูกจนไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

รวมๆ แล้ว ปู่ใช้เงินไป 290 ล้านเหรียญ ได้หุ้นเวลส์ ฟาร์โก้ ประมาณ 10% โดยขณะนั้น แบงก์ชื่อดังแห่งนี้มีสินทรัพย์รวมถึง 56,000 ล้านเหรียญ และทำกำไรได้สูงกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น 20%

ปู่บอกว่า หากไปซื้อหุ้นธนาคารเล็กๆ ที่ทำผลงานได้ใกล้เคียงกัน แต่มีสินทรัพย์น้อยกว่าสิบเท่า แกอาจจะได้หุ้นทั้ง 100% แต่ต้องจ่ายแพงกว่านี้มาก และแบงก์พวกนั้นก็ไม่มีผู้บริหารเก่งๆ เหมือนของเวลส์ฟาร์โก้ด้วย

เพื่อประยุกต์กับสถานการณ์ที่หุ้นแบงก์ไทยราคาถูกอยู่เวลานี้ ผมขอสรุปบทเรียนจากปู่เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

หนึ่ง) สำหรับธุรกิจธนาคาร ผลประกอบการย่อมขึ้นอยู่กับการปล่อยกู้ของผู้บริหารเป็นสำคัญ จึงต้องเลือกแบงก์ที่ผู้บริหารเก่งมากๆ ดูประวัติการปล่อยกู้ว่าเขาเคยปล่อยกู้แบบงี่เง่าหรือเปล่า

โดยเฉพาะในเวลาที่เศรษฐกิจแย่แบบเมืองไทยเวลานี้ ความสามารถของผู้บริหารคือจุดชี้เป็นชี้ตายเลยทีเดียว

สอง) ถ้าได้ “ของถูก” ก็ดี

ปู่ซื้อเวลส์ ฟาร์โก้ ที่ p/e “5 เท่า” ลองดูสิว่าของเราที่เล็งไว้เป็นอย่างไร (ตอนนี้หลายๆ แบงก์หลักในไทย p/e แค่ 6-8 เท่า แล้ว)

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเน้นแต่ของถูกแล้วจะดี ต้องยึดข้อแรกเป็นหลักเอาไว้ก่อน

สาม) ธุรกิจธนาคารมีความเสี่ยงอยู่เสมอ เราต้องเอาอัตราส่วนทางการเงินมาดู และวิเคราะห์ความเสี่ยงให้เป็น ดูว่าธนาคารทำกำไรปกติได้เท่าไร ปล่อยกู้อยู่ประมาณไหน และหากเกิดความเสียหายขึ้นมา จะส่งผลสะเทือนแค่ไหน โดยให้มองไปถึง worst-case scenario หาก worst-case ยังรับไหว ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว  

ทั้งสามข้อนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทว่าถ้าทำได้ การลงทุนในหุ้นแบงก์ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไปครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s