โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
หลังวิกฤตโคโรนาไวรัสเกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดฝันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก
จนถึงปัจจุบัน หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาประมาณ 30% จากจุดต่ำสุด เช่นเดียวกับหุ้นสหรัฐฯ ที่ขึ้นเอาๆ จาก new low ผมจึงลองเขียนทบทวนประสบการณ์ตลอดสองเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา โดยเน้นที่ความผิดพลาดของตัวเอง เพื่อวิเคราะห์หาบทเรียน และเผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ประมาณนี้ครับ
1. ปลอดภัยไว้ก่อน ช่วยได้
ผมเป็นคนที่ระมัดระวังกับบริษัทที่มีหนี้สูงค่อนข้างมาก ใครที่ตามงานของผมมาตลอดจะเห็นว่า ผมจะย้ำเสมอว่าค่า D/E ที่เหมาะสมนั้น ไม่ควรเกิน 1-1.25 เท่า ยิ่งถ้าเป็น net D/E หรือหนี้สินที่มีดอกเบี้ย (ไม่รวมเจ้าหนี้การค้า) ยิ่งไม่ควรเกิน 1 เท่า
ด้วยเกณฑ์เช่นนี้ ทำให้ผมไม่ลงทุนในหลายๆ บริษัทที่กำลังโตไว มีบริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทที่มีธุรกิจครอบคลุมไปในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งผมมีหุ้นอยู่ พอเริ่มกู้มามากขึ้นเรื่อยๆ จน net D/E สูง ผมก็ทยอยขายหุ้นทิ้งจนหมด
ก่อนหน้านี้ ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเข้มงวดเกินไปจนทำให้เสียโอกาสในการลงทุนหรือไม่ เพราะแม้หนี้จะสูง แต่เขาก็มีปัญญาชำระมาตลอด แต่แล้วหลังเกิดวิกฤต สิ่งที่ปรากฏทุกวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าผมตัดสินใจถูกต้อง มีหลายบริษัทที่สถานะเริ่มสั่นคลอน และราคาหุ้นก็ร่วงลงมโหฬารเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้
บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันจะไม่เกิด และแม้จะไม่เคยเกิดมานานมากแล้ว สักวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ การใช้เกณฑ์ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ของผมช่วยผมไว้ได้เยอะจริงๆ
2. diversify ไม่พอ
โดยปกติ ผมมักกระจายการลงทุนอยู่เสมอ แต่วิกฤตครั้งนี้ทำให้ผมตระหนักว่า ที่ผ่านมาผมยังกระจายการลงทุนไม่พอ เช่น ผมเคยกระจายการลงทุนไปในหุ้นสนามบินของหลายๆ ประเทศ ผมคิดเอาเองว่านั้นคือการกระจายการลงทุนที่เพียงพอแล้ว
แต่แล้ว เมื่อปรากฏการณ์ Black Swan อย่างโคโรนาไวรัสเกิดขึ้น มันได้กวาดเอาหุ้นท่องเที่ยวทุกประเภทพังครืนลงไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่หุ้นสนามบินของผม ซึ่งอุตส่าห์ซื้อไว้ทั่วโลก กะว่าถ้าประเทศหนึ่งแย่ เช่น สมมุติว่าท่องเที่ยวไทยแย่ ก็ยังมีสนามบินของประเทศอื่นๆ ช่วงพยุงไว้ แต่ปรากฏว่ารอบนี้มันกอดคอลงพร้อมกันไปหมด
บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ ต้อง diversify ให้ทั่ว ไม่ใช่แค่ “หลายประเทศ” แต่ต้องกระจายไปใน “หลายอุตสาหกรรม” อย่ากระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมเดียว หรือประเทศเดียวมากเกินไป
3. มีเงินสดน้อยเกินไป
ประเด็นนี้เป็นปัญหาของวีไอจำนวนมาก รวมทั้งผมเองด้วย ก่อนหน้านี้ผมเคยมีเงินสดประมาณ 20% ในพอร์ต แต่แล้วเมื่อวิกฤตไม่มาสักที ผมก็ทยอยเอาเงินกลับเข้าไปซื้อหุ้น จนเมื่อวิกฤตโคโรนาไวรัสมาถึง ผมมีเงินสดเหลือติดพอร์ตเพียง 7-8% เท่านั้น ทำให้เสียโอกาสไปค่อนข้างมาก แม้วันนี้ผมจะหาเงินมาเพิ่มได้ แต่ก็พลาดโอกาสที่จะซื้อในจุดต่ำสุดไป (แม้ไม่รู้ว่าจะมีจุดต่ำกว่าอีกหรือเปล่า)
แม้ว่าจะฟังดูธรรมดา เพื่อนผมหลายคนถือหุ้น 100% ไม่มีเงินสดเลย บางคนเหลือเงินสดอยู่ 3-5% ขณะวิกฤตมา แต่การที่คนอื่นพลาดเหมือนเรา ไม่ได้แปลว่าเราไม่พลาด เราแค่มีเพื่อนเท่านั้น นี่จึงเป็นบทเรียนหนึ่งซึ่งผมต้องจำไว้ แม้การถือเงินสดไว้เยอะๆ จะไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ แต่เมื่อถึงวงรอบของวิกฤต (10 ปี) ไม่ว่าทุกอย่างจะดูดีแค่ไหน ยังไงก็ต้องมีเงินติดพอร์ตไว้สัก 10-15% เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทอง
4. ดูเบาสถานการณ์
ผมลงทุนก้อนแรกหลังเกิดวิกฤตโคโรนาไวรัสใน “หุ้นจีน” ช่วงที่จีนปิดเมืองอู่ฮั่นมาได้ระยะหนึ่ง เพราะเชื่อในศักยภาพว่าทางการจีนน่าจะคุมโรคได้แน่ๆ แม้จะคิดไม่ผิด แต่สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงก็คือ โรคนี้ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้หุ้นทั่วโลกทรุดลงไปตามๆ กัน ขณะที่ทางฝั่งจีน แม้จะคุมโรคได้แล้ว แต่หุ้นกลับไม่โงหัวขึ้นมามากนัก (ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์นอกประเทศยังไม่ดี) และทำให้เงินส่วนนั้นของผมยังขาดทุนจนถึงวันนี้
แม้จะเชื่อว่าสุดท้ายหุ้นจีนที่ซื้อไว้จะได้กำไรค่อนข้างแน่ แต่ก็ถือว่าผม “ดูเบาสถานการณ์” จนพลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้มากกว่านี้
(มีต่อตอนหน้า)