
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เคนเน็ธ ฟิชเชอร์ ผู้จัดการกองทุนระดับมหาเศรษฐี ลูกชายแท้ๆ ของฟิลลิป ฟิชเชอร์ ซึ่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยกให้เป็นหนึ่งในสองแม่แบบในการลงทุนของเขา นอกเหนือจากเบนจามิน แกรแฮม ออกมาเตือนนักลงทุนว่า ระวัง “การมองโลกในแง่ร้าย” จะทำให้พลาดตกรถด่วนขบวนสำคัญ
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว ในวันที่ 22 พ.ค. ฟิชเชอร์เขียนบทความระบุว่า เขาคิดว่าเป็นไปได้ที่ “ตลาดกระทิงครั้งใหม่” จะเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่หุ้นดิ่งลงไปแตะจุดต่ำสุด ก่อนจะหักหัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดสองเดือนนับถึงเวลานั้น
นักลงทุนผู้เป็น “ลูกอาจารย์” ของบัฟเฟตต์บอกว่า นักลงทุนจำนวนมากรอคอย “ความชัดเจน” ทว่าตลาดหุ้นไม่เคยรอคอยความชัดเจน แต่มักจะโกยอ้าวไปล่วงหน้าเสมอ
“‘ความชัดเจน’ คือหนึ่งในคำที่ต้นทุนสูงที่สุด หุ้นไม่เคยรอคำๆ นั้นเลย แต่นักลงทุนกลับเฝ้ารอมัน ผลกำไรมหาศาลในช่วงเริ่มต้นจึงผ่านหน้านักลงทุนส่วนใหญ่ไป เพราะนัยน์ตาของพวกเขามืดบอดจาก ‘การคิดลบเพราะความไม่เชื่อ’ จงอย่าเป็นหนึ่งในนั้น”
ผ่านมาอีกสามสัปดาห์ ในวันที่ 18 มิ.ย. นักลงทุนปากตะไกรออกมาฟันธงอย่างชัดเจนไว้ในบทความของตัวเองว่า “23 มีนาคม” ที่ตนเองเคยตั้งข้อสงสัยไว้นั้น เป็น “ตลาดกระทิงครั้งใหม่” อย่างแน่นอน
“ตลาดกระทิงรอบใหม่นี้ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เมื่อตลาดกระทิงเริ่มต้น ก็เป็นไปได้สูงที่มันจะวิ่งไปยาวๆ เพราะถูกขับเคลื่อนโดย ‘การคิดลบเพราะความไม่เชื่อ'”
โดยฟิชเชอร์ได้อธิบายถึงหลักคิดที่เขาเรียกว่า “การคิดลบเพราะความไม่เชื่อ” (Pessimism of Disbelief) ว่า ในเวลาที่ทุกอย่างดูเลวร้าย ใครต่อใครต่างพากันมองโลกในแง่ลบ แม้จะมีข่าวบวกออกมา ก็ยังถูกปั่นให้กลายเป็นข่าวลบไปได้
แต่ภาวะนี้เอง คือช่วงเวลาที่ “ตลาดหมี” จะหลีกออก และเปิดทางให้ “ตลาดกระทิง” เข้ามาแทนที่
ครั้นตลาดกระทิงก่อตัวขึ้น มันกำลังบอกคนที่คิดลบว่า “แกผิด แกผิด แกผิด” ส่วนคนที่คิดลบก็เถียงกลับไปว่า “ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด” และหาเหตุมายืนยันความเชื่อของตัวเอง เช่น ถ้าเขาขายหุ้นตัวหนึ่งทิ้งไป แล้วหุ้นตัวนั้นตก เขาก็จะบอกว่า “เห็นหรือยังว่าฉันคิดถูก!” ทั้งที่จริงมันคือความบังเอิญ
ลูกชายของนักลงทุนระดับตำนานกล่าวต่อไปว่า ภาวะเช่นนี้ เป็นการ “สร้างกำแพง” ที่ตลาดกระทิงรอบใหม่ต้อง “ปีนข้าม” ไปให้ได้ แต่อารมณ์เชิงลบเช่นนี้กลับยิ่งเป็นผลดีต่อตลาด
เพราะเมื่อทุกคนคิดลบ พอมี “ข่าวดี” ที่เหนือความคาดหมายปรากฏออกมาแม้เพียงเล็กน้อย ตลาดจะยิ่งวิ่งห้อตะบึงเป็นทวีคูณ อาทิ ตัวเลขการว่างงานที่ออกมาดีกว่าที่คาดเมื่อปลายเดือน พ.ค. (เหมือนคนกำลังกระหายสุดๆ แล้วได้น้ำมากินสักแก้ว จะชื่นใจยิ่งกว่าคนที่กินน้ำแก้วเดียวกันขณะนั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ – ชัชวนันท์)
ฟิชเชอร์บอกว่า หลัก “การคิดลบเพราะความไม่เชื่อ” ของเขา เป็นไปตามทฤษฎี “ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน” (confirmation bias) ซึ่งเป็นทฤษฎีจิตวิทยาที่บอกว่า คนเรามักเลือกตีความข้อมูลเพื่อตอกย้ำสิ่งที่ตัวเองเชื่ออยู่ก่อนแล้ว
ฟิชเชอร์ปิดท้ายว่า ไม่มีใครรู้ว่าหรอกว่า ตลาดขณะนี้ ตั้งราคาล่วงหน้า (pre-pricing) ให้กับหุ้นทั้งตลาดไปนานแค่ไหน อาจจะ 20 หรือ 30 เดือนก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ คือ มัน “โนสน โนแคร์” ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. หรือ ต.ค. นี้อย่างแน่นอน
มุมมองของฟิชเชอร์ ถือว่าไม่สอดคล้องกับการกระทำของ “ลูกศิษย์พ่อ” อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ขายหุ้นแบงก์ทิ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเก็บเงินสดไว้บานตะไทโดยไม่ยอมซื้ออะไร โดยฟิชเชอร์บอกว่าบัฟเฟตต์ “แข็งทื่อ” เพราะ “อายุมากแล้ว”
นอกจากนี้ มุมมองของเขายังไม่สอดคล้องกับเพื่อนร่วมวงการอีกหลายคน อาทิ โฮเวิร์ด มาร์กส์ ผู้จัดการกองทุนสายวีไอพันธุ์แท้ ซึ่งความร่ำรวยถือว่าสูสีกับฟิชเชอร์ ที่บอกว่า เขาห่วงว่าธนาคารกลางอาจจะอุ้มตลาดต่อไปไม่ไหว และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เข้าทำนอง “น้ำลด-ตอผุด” ได้
หากเทียบความมั่งคั่งกัน จะพบว่าฟิชเชอร์เหนือกว่ามาร์กส์อยู่เล็กน้อย โดยข้อมูลจาก Forbes ระบุว่า ในปี 2020 ฟิชเชอร์มีความมั่งคั่ง 3,900 ล้านเหรียญ อยู่ในอันดับ 468 ของโลก ส่วนมาร์กส์มีความมั่งคั่ง 2,200 ล้านเหรียญ อยู่ในอันดับ 945 ของโลก
ข้อมูลประกอบ : บทความใน Linkedin ของ เคน ฟิชเชอร์ คลิกที่นี่, ข่าวจาก caixingglobal คลิกที่นี่
อ่านบทความเดิมเกี่ยวกับฟิชเชอร์ “ลูกอาจารย์ฟันธง บัฟเฟตต์พลาดเพราะแก่” ที่นี่
อ่านบทความเกี่ยวกับโฮเวิร์ด มาร์กส์ “โฮเวิร์ด มาร์กส์ เตือนแรง ระวังเฟดอุ้มตลาดไม่ไหว” ที่นี่