เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับ “ดีลยักษ์” ครั้งล่าสุดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

 

IMG_0009โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

มาช้ายังดีกว่าไม่มา หลังจากนิ่งเฉยมาตลอดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 จนคนทั่วโลกคิดกันไปต่างๆ นานา ในที่สุด วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการครั้งสำคัญด้วยเงินก้อนโต และต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับดีลดังกล่าวครับ

  1. บริษัทที่ปู่ซื้อ ชื่อ “โดมิเนียน เอเนอร์จี” (Dominion Energy) เป็นธุรกิจขนส่งและจัดเก็บก๊าซธรรมชาติ
  2. มูลค่าของดีลครั้งนี้อยู่ที่เกือบ 10,000 ล้านเหรียญ โดยเบิร์คเชียร์จะจ่ายเงินสดเป็นค่าหุ้น 4,000 ล้านเหรียญ และใช้หนี้ให้บริษัทอีก 5,700 ล้านเหรียญ
  3. โดมิเนียน เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซความยาว 7,700 ไมล์ กับก๊าซปริมาณ 9 แสนล้านคิวบิคฟุต และสินทรัพย์อื่นๆ บริษัททำธุรกิจจัดหาไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติให้แก่หลายพื้นที่ในแปดรัฐของสหรัฐฯ
  4. บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 1983 สำนักงานใหญ่อยู่ที่เวอร์จิเนีย จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กโดยใช้ตัวย่อ “D” (ตัวเดียวโดดๆ)
  5. มูลค่าตลาดของโดมิเนียน ณ วันนี้อยู่ที่ประมาณ 62,000 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยเกือบ 2 ล้านล้านบาท สูงกว่า ปตท. เกือบ 70%
  6. ปู่ระบุใน press release เมื่อวันอาทิตย์ (ตรงกับวันจันทร์เวลาไทย) ที่ผ่านมาว่า “เราภูมิใจมากที่ได้เพิ่มสินทรัพย์ด้านก๊าซธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจพลังงานที่แข็งแกร่งอยู่แล้วของเรา”
  7. ดีลนี้เป็นดีล “ใหญ่ที่สุด” นับตั้งแต่ปู่เข้าซื้อ พรีซิชั่น แคสต์พาร์ทส์ บริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเมื่อปี 2016
  8. การซื้อกิจการครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ปู่ใช้เงินสดของเบิร์คเชียร์ที่นอนจมอยู่ถึง 137,000 ล้านเหรียญอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน นับตั้งแต่เกิดโควิดเป็นต้นมา โดยเงินที่ถูกใช้ไป คิดเป็น 7% ของเงินสดที่มีอยู่ทั้งหมด
  9. การเข้าซื้อครั้งนี้ยังเป็นการยืนยันว่า ปู่ “อยากใช้เงิน” และยังคงมองหาโอกาสลงทุนอยู่เสมอ ไม่ใช่การ “อยู่นิ่งๆ” เพราะต้องการเก็บเงินสดไว้ “รอตลาดตก” แต่อย่างใด
  10. เดวิด คาสส์ ศาสตราจารย์ด้านไฟแนนซ์ของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการของบัฟเฟตต์ครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่เป็นบวกมากๆ ต่อตลาด

ข้อมูลประกอบจาก BusinessInsider, Bloomberg, CNBC

สรุปไฮไลท์จาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ณ การประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway 2020

Warren_Buffett_at_the_2015_SelectUSA_Investment_Summit

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมได้สรุปไฮไลท์คำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จากการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ปี 2020 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากแปลสดๆ ลงเพจ Club VI ไปก่อนหน้านี้ เอาแบบสั้นๆ กระชับ คัดเฉพาะเนื้อๆ มาให้อ่านกันนะครับ

เนื้อหาแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกมาจาก speech ที่ปู่บรรยายเพื่อเปิดการประชุม (ซึ่งแกจะทำอย่างนี้ทุกปี) และช่วงที่สองจะเป็นการตอบคำถามที่ส่งกันเข้ามาจากทางบ้าน เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรก (และอาจจะเป็นปีเดียว) ที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วม

ช่วงที่ 1  : speech เปิดงาน

1. ขอบคุณหมอ – ปู่บอกว่าอเมริกาโชคดีมากๆ ที่มี ดร.แอนโธนี ฟอซี ผอ.สถาบันควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ คอยอธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส ปู่บอกด้วยว่าตัวเองเก่งเลข แต่ห่วยมากเรื่องสุขภาพ ดีที่มี ดร.ฟอซี คอยอธิบายให้ฟัง แกรู้สึกขอบคุณและติดหนี้บุญคุณคุณหมอฟอซีเป็นอย่างยิ่ง

2. มองอเมริกาเป็นบวก – ปู่ยังมองอเมริกาเป็นบวกมาก (พูดซ้ำหลายครั้ง) โดยเปรียบสหรัฐฯ เป็นรถไฟขบวนหนึ่ง สมัยปี 2008-9 รถไฟขบวนนี้ตกราง ถนนหนทางก็ไม่ค่อยจะดี อันเนื่องมาจากปัญหาธนาคาร แต่ครั้งนี้รถไฟกลับมาวิ่งบนรางปกติแล้ว เราแค่หยุดมันชั่วไว้ครู่เท่านั้น

3. การสร้างมูลค่าของอเมริกา ปู่บอกว่าตั้งแต่แกจบมหาวิทยาลัย สหรัฐอเมริกาสามารถทำให้เงินทุกๆ 1 เหรียญกลายเป็น 100 เหรียญ เท่ากับว่าสหรัฐฯ เดินหน้าเต็มตัวเรื่อยมา

สหรัฐอเมริกาในปี 2020 มี wealth 100 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 แสนเท่าจากเงินทุกๆ 1 เหรียญตอนที่ก่อตั้งประเทศ หากเทียบเป็นค่าเงินระดับเดียวกัน คือได้กำไร 5,000 เท่า

ดังนั้น ถ้าลองมองวิกฤต 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นเรื่องชั่วคราว และอเมริกาจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งอย่างแน่นอน สิ่งที่คุณต้องทำก็เพียงเชื่อมั่นในอเมริกาเท่านั้น คุณต้องเชื่อว่ามหัศจรรย์แห่งอเมริกาจะไม่มีวันจางหาย

ปู่ย้ำว่า “อย่าเดิมพันตรงข้ามกับอเมริกา”

4. ย้อนถึง The Great Depressionปู่บอกว่าช่วง Great Depression มันแย่มาก รู้สึกยาวนานมากๆ และไม่มีใครคิดว่ามันจะจบ แต่แล้ววันหนึ่งเศรษฐกิจก็กลับมา

ปู่เล่าว่าช่วง Great Depression เงินในตลาดหุ้น 1,000 เหรียญ ลดเหลือ 170 เหรียญในเวลาแค่สองปี

Great Depression คงอยู่เป็นเวลานานหลายปี แต่ในความรู้สึกของผู้คนกลับนานยิ่งกว่านั้น แม้ว่าต่อมาเศรษฐกิจจะกลับมาได้ แต่ความกลัวในจิตใจของผู้คนยังไม่จางหายไป มันกลายเป็นเรื่องเล่าขาน พ่อแม่เล่าให้ลูกฟังถึงความน่ากลัวของวิกฤติครั้งนั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญในตอนนี้คือต้อง “อย่าเสียศรัทธากับประเทศ”

5. อย่าคาดเดาตลาด – ไม่มีใครรู้ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า รู้แต่ว่าอเมริกาจะก้าวหน้าไป ไม่มีใครรู้แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 .. 2001 (หลัง 9/11) เหมือนที่ไม่มีใครรู้ว่าไวรัสครั้งนี้จะเกิดขึ้น

ปู่บอกว่า คุณเดิมพันฝั่งเดียวกับอเมริกาได้เสมอ แต่ก็ต้องระวัง เพราะคุณเชื่อใจอเมริกาได้ก็จริง แต่เชื่อใจตลาดหุ้นไม่ได้ เนื่องจากตลาดสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง

6. อย่ากู้เงินมาลงทุนปู่บอกว่า อย่ากู้เงิน อย่าใช้มาร์จิ้นมาลงทุนในวิกฤตโคโรนาไวรัสครั้งนี้ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงมาก มีปัจจัยต่างๆ ที่คาดเดาไม่ได้มากมาย ปู่บอกว่า มีเหตุผลทุกประการที่ควรลงทุนกับการก้าวหน้าไปของอเมริกา ยกเว้นการกู้เงินมาลงทุน

7. ซื้อ S&P 500 ดีที่สุด – ปู่ยังคงแนะนำเหมือนเดิมว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ การถือกองทุนอิงดัชนี S&P 500 เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ดีกว่าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล และดีกว่าทำตามพรายกระซิบ

8. เชื่อมั่นประธานเฟด – ปู่เชื่อมั่นในตัวประธานเฟด เจโรม พาวเวลล์ โดยยกไว้ในระดับเดียวกับ พอล โวลค์เกอร์ ซึ่งเป็นอดีต ปธ. อีกคนที่แกชื่นชม เนื่องจากพาวเวลล์เทคแอ็คชั่นตั้งแต่กลาง มี.ค. ซึ่งน่าจะเป็นการปรับเอาบทเรียนจาก 2008-9 มาใช้ ถ้าวันนั้นเฟดไม่ลงมือรวดเร็วและเด็ดขาด วันนี้คงแย่กว่านั้นเยอะ

9. ยอมรับความผิดพลาดที่ลงทุนในสายการบิน – อันนี้สำคัญมาก ปู่บอกว่าแกทำ “ความผิดพลาดที่เข้าใจได้” ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสายการบินทั้งสี่ “ตอนที่เราซื้อ (หุ้นสายการบิน) เรากำลังจะได้เงินก้อนโตจากการลงทุนในหลายๆ สายการบิน” แต่แล้ว “กลับกลายเป็นว่าผมคิดผิดเกี่ยวกับตัวธุรกิจ” โดยปู่ไม่ได้โทษ CEO ของทั้งสี่สายการบินแต่อย่างใด เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา แต่เป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน

10. ไม่รู้อนาคตธุรกิจการบิน – ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ ปู่มองอนาคตสายการบิน “เป็นลบ” โดยบอกว่า แม้ 3-4 ปีต่อจากนี้ ก็ไม่รู้ว่าคนจะกลับมาบินมากเหมือนเดิมหรือไม่ และเครื่องบินก็มีอยู่เยอะแยะ (สืบเนื่องจากปู่ ตามหลักวีไอ ต้องบอกว่า “พื้นฐานเปลี่ยน” แล้ว สำหรับธุรกิจสายการบิน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินด้วย)

P071811PS-0254_(5951720542)

ช่วงที่ 2 : ตอบคำถาม

11. ขายหุ้นสายการบินทั้งหมดแล้ว – อันนี้ฮือฮาที่สุด คือ ปู่ยอมรับว่าขายหุ้นสายการบินทั้งหมดแล้ว โดยขายไปเป็นเงิน 6,509 ล้านเหรียญ “โลกเปลี่ยนไปแล้วสำหรับสายการบิน และผมก็ไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ผมหวังว่ามันจะแก้ไขตัวเองได้ด้วยวิธีที่รวดเร็ว” และ “ผมไม่รู้ว่าคนอเมริกันเปลี่ยนนิสัยหรือจะเปลี่ยนนิสัย (เกี่ยวกับการบิน) หรือไม่” ปู่บอกว่า มีหลายอุตสาหกรรมที่กระทบจากวิกฤตโคโรนาไวรัส และสายการบินก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เจ็บหนักมากจนควบคุมไม่ได้

12. ทำไมไม่ซื้ออะไรสักที – ต่อข้อสงสัยว่าทำไมหุ้นลงมาขนาดนี้แล้ว เงินสดก็เหลือเยอะแยะ แต่ไม่ยอมทำอะไรสักที ปู่บอกว่า “เรายังไม่ทำอะไร เพราะเราไม่เห็นอะไรน่าสนใจ” แต่ก็บอกด้วยว่า แกพร้อมจะลงทุนครั้งใหญ่ อาจจะ 30,000 40,000 หรือ 50,000 ล้านเหรียญ ทันทีที่เห็นโอกาสที่น่าลงทุน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเลย โดยล่าสุด BRK มีเงินสดถึง 137,000 ล้านเหรียญ

13. อนาคตของ Berkshire – เกร็ก อาเบล รองประธานฝ่ายธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับประกัน ซึ่งปีนี้ขึ้นมานั่งคู่บัฟเฟตต์แทน ชาร์ลี มังเกอร์ บอกว่า ไม่ว่าบัฟเฟตต์และมังเกอร์จะอยู่หรือไม่ วัฒนธรรมองค์กรของ Berkshire ก็จะไม่เปลี่ยน “เราไม่มีใครดีกว่าวอร์เรนและชาร์ลี แต่เรามีทีมที่เก่งเทียบเท่ากันที่เบิร์คเชียร์” (เรื่องมุมมองต่ออนาคตของ BRK แนะนำอ่านหนังสือ Berkshire Beyond Buffett ของ ศ.ลอว์เรนซ์ คันนิงแฮม ที่ผมเป็นผู้แปล ดีมากๆ และลึกที่สุดแล้ว – ชัชวนันท์)

14. ทายาทของปู่ – เกี่ยวกับเรื่องทายาทที่จะมารับไม้ต่อจากบัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามหลักที่คนอยากรู้ โดยเฉพาะเมื่อ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานวัย 96 ไม่ได้มานั่งตอบคำถามในปีนี้ และเป็นครั้งแรกที่มังเกอร์ไม่มา ปู่ยืนยันว่า ตัวแกและ “ปู่มัง” ยังแข็งแรง แถมบอกด้วยว่า ตอนนี้มังเกอร์ใช้ Zoom ประชุมเป็นแล้วด้วย

สำหรับคนที่จะมาแทนแกนั้น ปู่บอกรายชื่อออกมาสามคน คือ เกร็ก อาเบล (รองประธานฯ ที่มานั่งข้างแกแทนมังเกอร์วันนี้) และสองขุนพล ท็อดด์ คอมบ์ส กับ เท็ด เวลช์เลอร์ อย่างไรก็ตาม ปู่บอกว่า “เราจะไม่สมัครใจยอมจากไปไหน แต่เราอาจจะต้องไปโดยไม่สมัครใจในเวลาไม่นานนัก”

ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในมุมมองของผม เพราะ เป็นครั้งแรกที่บัฟเฟตต์แย้มชื่อออกมาชัดเจนที่สุดแล้ว โดยตัดเหลือสามคน และเป็นครั้งแรกที่แกพูดทีเล่นทีจริงทำนองว่า ตัวแกกับมังเกอร์อาจจะต้องจากไปในเวลาไม่นาน หลังจากก่อนหน้านี้เคยบอกมาตลอดว่าจะทำงานจน “จำหน้ากันและกันไม่ได้”

15. การแตกบริษัท – ปู่บอกว่า จะไม่ “แตก” Berkshire ออกเป็นบริษัทย่อยๆ เพราะแม้บางคนมองว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น แต่มันจะโดนภาษีและค่าธรรมเนียมมากมาย ปู่บอกว่า แกคิดทุกอย่างมาดีแล้ว การเก็บ Berkshire ไว้เป็นกลุ่มบริษัท (conglomerate) อย่างนี้ นอกจากจะทำให้เงินทั้งหมดที่ Berkshire ทำได้กลายเป็นของการกุศลแล้ว ยังทำให้พวก “สุนัขจิ้งจอก” เข้ามายุ่มย่ามไม่ได้

16. การซื้อหุ้นคืน – ต่อข้อถามว่า จะซื้อหุ้น BRK คืนหรือไม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามที่คนสงสัยกันมาก เพราะปู่ชอบการซื้อหุ้นคืนเมื่อมันต่ำกว่ามูลค่า แต่ที่ผ่านมากลับซื้อคืนน้อยมาก ทั้งที่ตลาดลงมาเยอะ

ปู่บอกว่า ตอนนี้มีกระแสไม่ชอบการซื้อหุ้นคืนเยอะมาก “มีคนพูดอะไรบ้าๆ เกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนกันมากมาย” ทั้งที่จริงแล้ว การซื้อหุ้นคืนเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย มันคือการส่งมอบเงินสดคืนให้ผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้า BRK จะซื้อหุ้น ก็ต้องทำโดยคำนึงถึงราคาและความจำเป็นให้มากที่สุด และเมื่อสถานการณ์มันใช่จึงจะทำ โดยต้องไม่ให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์เหมือนการจ่ายปันผล (ที่ต้องถูกหักภาษี)

นอกจากนี้ แกยังเสริมอีกว่า ที่ซื้อหุ้นคืนน้อยมากในช่วง Q1 (ซื้อคืนแค่ 1,700 ล้าน เมื่อเทียบกับเงินสด 137,000 ล้านที่มี) ตอนที่ตลาดหุ้นถล่มลงมานั้น เป็นเพราะราคายังไม่ถูกพอ “ราคาตอนนั้นยังไม่ได้อยู่ในระดับที่รู้สึกว่า มันดีกว่าเยอะเมื่อเทียบกับสิ่งอื่นๆ รวมทั้งเมื่อคำนึงถึงมูลค่าของเงิน พอที่จะให้เราลงมือครั้งใหญ่ได้”

สรุปก็คือ ปู่ยังนิยมการซื้อหุ้นคืนเหมือนเคย แต่พูดเป็นนัยว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา

17. ประเทศที่ดี ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง – มีคำถามว่า วิกฤตครั้งนี้มีผู้เสียสละมากมาย ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข บุคลากรด้านสายอุปทานอาหาร เดลิเวอรี่ การบริการชุมชน ประเทศของเราจะดูแลพวกเขาอย่างไร?

ปู่บอกว่า พวกเขาเหมือนทหารที่นอร์มังดี พวกเขาเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ทรมาน ทำงาน 24 ชม. แต่เราไม่รู้แม้กระทั่งชื่อของพวกเขา

ปู่บอกว่า ประเทศนี้ต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยพวกเขา เราเป็นประเทศที่ร่ำรวย พวกเขาเสียสละกว่าคนบางคน ซึ่งเพียงแค่เกิดมาในมดลูกที่ถูกต้อง เราต้องสร้างสังคมที่ภายใต้สถานการณ์ปกติ คนที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงต้องมีชีวิตที่ดี มีลูกสองสามคนได้โดยไม่ต้องมี second job

“พวกเขาใช้ชีวิตเหมือนพระราชาไม่ได้ก็จริง แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของผม ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”


Credit : ข้อมูลประกอบจากเว็บ Yahoo! Finance, CNBC และลิงค์การถ่ายทอดสดของ Yahoo! Finance ภาพประกอบจาก Yahoo! Finance

มารู้จักชายผู้ทำให้ปู่ซื้อหุ้น Apple กันเถอะ

ted-brk
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เป็นประจำทุกปี ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเปิดประมูลให้คนมารับประทานอาหารกลางวันกับแกหนึ่งมื้อ เพื่อเอาเงินไปช่วยการกุศล
สำหรับปี 2018 นี้ ผู้ชนะยอมจ่ายเงินถึง 3.3 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อให้ได้กระทบไหล่ปู่ โดยเงินทั้งหมดจากการประมูลผ่าน Ebay for Charity จะมอบให้แก่มูลนิธิ Glide เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้
การประมูลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 19 และที่ผ่านมาสามารถระดมทุนได้แล้วถึง 26 ล้านเหรียญ โดยยอดเงินปีนี้ เพิ่มสูงกว่าปีที่แล้วที่อยู่ที่ 2.6 ล้านเหรียญ ราวๆ 7 แสนเหรียญ
ในรอบนี้ ผู้ชนะซึ่งขอไม่เปิดเผยนาม จะได้ทานอาหารกับปู่ที่ร้านสเต็กในนิวยอร์ก และสามารถพาเพื่อนมาได้สูงสุดเจ็ดคน
แต่ใครจะรู้ว่า มีคนอยู่คนหนึ่ง ยอมทุ่มเงินถึงสองปีติดต่อกัน เพื่อให้ได้รับโอกาสนี้
เขาคือ “เท็ด เวลช์เลอร์” ซึ่งปัจจุบันมานั่งเป็นผู้จัดการกองทุนของเบิร์คเชียร์นั่นเอง
เวลช์เลอร์ เป็นแฟนพันธุ์แท้ของบัฟเฟตต์มาเนิ่นนาน เขาจบการศึกษาจากวอร์ตัน  Business School ชั้นนำของโลก และเป็นผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงมาก โดยบริหารเฮดจ์ฟันด์ของตัวเองมาสิบกว่าปี
ด้วยความที่คลั่งไคล้บัฟเฟตต์ ทำให้เท็ดยอม bid เงินก้อนโตเพื่อไปทานอาหารกับปู่ และชนะประมูลในปี 2010 และ 2011 ด้วยเงิน 2,626,311 และ 2,626,411 เหรียญ ตามลำดับ (ปีที่สองแพงกว่าปีแรก 100 เหรียญ)
เท็ดบอกว่า เขาได้เอาปรัชญาการลงทุนของบัฟเฟตต์มาใช้กับการบริหารกองทุนของตัวเองตั้งแต่เริ่มแรก แม้แต่การตั้งออฟฟิศ เขาก็เลือกที่จะอยู่ที่เวอร์จิเนีย ไม่ย้ายไปนิวยอร์ก เพื่อหลีกเลี่ยง “สิ่งเร้า” เหมือนปู่ที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่โอมาฮา
ระหว่างที่ทานอาหารกันอยู่นั้น เท็ดกับปู่พูดคุยกันถูกคอมาก เนื่องจากแบ็คกราวด์คล้ายกัน ปู่เล่าด้วยว่า แกอยากรู้ว่าเท็ดบริหารเฮดจ์ฟันด์ประสบความสำเร็จขนาดไหน
ซึ่งแม้จะไม่ได้คำตอบในเวลานั้น แต่ข้อมูลก็ถูกเปิดเผยออกมาในภายหลังว่า จนถึงตอนนั้น (ปี 2011) ผู้ที่ลงทุนกับกองทุนของเท็ดตั้งแต่ปี 2000 ที่เขาตั้งกองทุน จะได้รับผลตอบแทนได้ถึง 1,236 เปอร์เซ็นต์!!
เรียกได้ว่า หมอนี่เป็นสุดยอดนักลงทุนอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ปู่ชวนเท็ดมาทำงานด้วยที่เบิร์คเชียร์ ว่ากันว่า ปู่ชวนเท็ดตั้งแต่ปีแรกที่กินข้าวกัน คือปี 2010 ก่อนจะชวนอีกครั้งในปี 2011 ซึ่งปู่ก็บอกว่า ตอนที่ชวนนั้น แกไม่รู้ว่าเท็ดจะสนใจหรือไม่ เพราะเท็ดก็บริหารกองทุนตัวเองจนรวยไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าเท็ดจะมา ย่อมไม่ใช่เหตุผลเรื่องเงินแน่ๆ
และสุดท้าย ก็อย่างที่รู้กัน คือเท็ดมาอยู่กับปู่จริงๆ หลังจากขอเวลากลับไปคิดหลายสัปดาห์ และไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ว่าเป็นเพราะเหตุผลอะไร .. ก็ด้วยความชื่นชมที่เขามีต่อปู่นั่นเอง
ถามว่า คนๆ นี้มีผลต่อเบิร์คเชียร์ขนาดไหน?
คำตอบก็คือ เท็ด และคู่หู่อีกคนหนึ่ง คือ ท็อดด์ คอมบ์ส เป็นผู้ “เปิดเกม” ด้วยการซื้อหุ้น Apple จนทำให้ปู่ซึ่งแต่ไหนแต่ไหนไม่เคยสนใจหุ้นเทคโนโลยี ตัดสินใจทุ่มเงินซื้อตาม ทำเอางงกันไปทั้งโลก
จนปัจจุบันหุ้น AAPL คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของพอร์ต BRK !!
นี่คืออิทธิพลที่เท็ดมีต่อปู่!
ปัจจุบัน คู่หู เท็ดและท็อดด์ กลายเป็นกำลังหลักของเบิร์คเชียร์ และว่ากันว่าจะมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่านี้ ในวันที่ปู่ไม่อยู่กับพวกเราอีกต่อไปแล้ว
—————
ภาพประกอบจาก Flickr ของ Janis Jaquith